ประชาธิปไตยไทยขึ้นเขาวงกต | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ประชาธิปไตยไทยขึ้นเขาวงกต | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ระบอบ ประชาธิปไตยไทย ก็มีเส้นทางเดินที่ค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ มิหนำซ้ำยังเป็นทางขึ้น เขาวงกต เสียอีก

นอกจากจะเดินเวียนวนไปมายังเป็นการเดินขึ้นลงบนเขา ตัวอย่างเช่น ระบบที่มีสภาสองสภาและสภาสูงที่สมาชิกวุฒิสภาได้รับการแต่งตั้งที่ใช้อยู่หาทางออกไม่ได้ปัจจุบันก็เป็นรูปแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 และยังเวียนกลับอีกหลายครั้งหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
    ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 89 ปีแล้ว ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 20 ฉบับมีการปฏิวัติหนึ่งครั้ง เกิดรัฐประหารที่สำเร็จ 13 ครั้งและมีรัฐประหารที่ไม่สำเร็จ 11 ครั้ง มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว 28 ครั้ง มีรัฐบาลมาแล้ว 62 ชุดและรัฐบาลแต่ละชุดมีอายุเฉลี่ยประมาณหนึ่งปีครึ่ง (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2564)
    เสกสรรค์ ประเสริฐกุลได้ให้คำอธิบายเงื่อนไข 3 ข้อที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยได้แก่ หนึ่ง มรดกวัฒนธรรมอุปถัมภ์ซึ่งสืบทอดมาจากแต่โบราณ สอง โครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์ ซึ่งออกแบบมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้มีระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์เป็นโครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันสยามจากลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตกก็จริง แต่โครงสร้างนี้เป็น “โครงสร้างที่ตอบสนองความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบสัมบูรณ์สิทธิ์ (Absolutism) มากกว่ามุ่งรองรับอำนาจอธิปไตยของปวงชน” และ สาม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง 

ส่วนเงื่อนไขอีก 3 ข้อ ที่จะทำให้ได้กลไกใหม่ เช่น ระบอบประชาธิปไตยเข้ามาแทนที่จารีตการปกครองแบบโบราณคือ

1. การปกครองต้องอยู่บนฐานคิดหลักเรื่องความเสมอภาค ตามกฎหมาย (Equality before Laws)

2.ประชาชนต้องเข้าใจและให้ความสำคัญต่อสิทธิของตนและสิทธิของผู้อื่น

3.ผู้มีอำนาจต้องมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมว่าด้วยเงื่อนไขดังกล่าว

การเมืองจึงเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับการรับรู้ การปฏิบัติและความพร้อมของคนไทยที่ต้องมีความตื่นรู้ทางการเมือง (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2557)
    การเมืองเป็นเรื่องช่วงชิงผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหารก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับส่วนยอด การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เพียงแต่เปิดโอกาสให้ข้าราชการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองแทนพระมหากษัตริย์

ประชาธิปไตยไทยขึ้นเขาวงกต | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

โดยข้าราชการเหล่านี้ได้ “กระชับอำนาจรัฐเข้ากับอำนาจทางการเมือง ทำให้ประชาชนยังเป็นผู้ตกอยู่ภายใต้การปกครองเหมือนเดิม การมีส่วนร่วมเป็นการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่เป็นข้าราชการเท่านั้น” (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2557) พื้นที่ทางการเมืองของไทยจึงเป็นพื้นที่ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำและเครือข่ายมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อผลประโยชน์มากขึ้นตามกาลเวลาความขัดแย้งก็รุนแรงมากขึ้น
    ความขัดแย้งจากการช่วงชิงอำนาจและความรุนแรงทางการเมืองนี้ จะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพไม่สามารถที่จะดำเนินการบริหารจัดการประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ดังที่นักวิชาการตะวันตกให้คำอธิบายถึงความล้มเหลวของการศึกษาในหลายประเทศว่า มาจากความล้มเหลวของสถาบันทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ (Acemoglu and Robinson, 2020) 

การเมืองเป็นเรื่องของ "ฐานอำนาจ" หลัก ศ. ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่และ รศ. ดร.สมบัติ กุสุมาวลี เห็นว่าการเมืองไทยในปัจจุบันตกอยู่ในสภาพที่เปราะบางเนื่องจากการ “ขับเคี่ยว” กันระหว่างฐานอำนาจตามประเพณี และฐานอำนาจตามขนบประชาธิปไตย ระหว่างกลุ่มศักดินาอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มเสรีนิยมก้าวหน้า ซึ่งต่างฝ่ายต่างสืบทอดอุดมการณ์กันมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ฐานอำนาจทั้งสองฝ่ายนี้ยังอยู่แบบคู่ขนานกันในวัฒนธรรมการเมืองและในรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกครั้งที่มีรัฐประหารหรือมีข้อขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง พระมหากษัตริย์ยังทรงต้องเป็นผู้ให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลใหม่ตามรัฐธรรมนูญ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2564)
    เมื่อการจัดสรรอำนาจไม่ลงตัว ระหว่างกลุ่มอำนาจกลุ่มเก่ากับกลุ่มรัฐบาล ที่มีทีท่าว่าจะขยายฐานกลุ่มอำนาจกลุ่มใหม่ได้เข้มแข็งขึ้น ประเทศไทยก็ต้องผจญกับรัฐประหารหลายครั้ง หากจะหาประจักษ์พยานของความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการพัฒนาการเมืองการปกครองไทยก็น่าจะดูจากการทวงถามความเป็นธรรมของกลุ่มพลังต่างๆ  

ประชาธิปไตยไทยขึ้นเขาวงกต | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสังคมไทย ซึ่งสะท้อนอย่างแพร่หลายในสื่อมวลชนทุกช่องทาง ถึงผลประโยชน์ทั้งเล็กและใหญ่ที่อภิสิทธิ์ชนได้เกินกว่าคนไทยธรรมดาหรือที่ได้รับการละเว้นจากการบังคับใช้กฎหมาย หรือการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับคนจนตรอก ซึ่งล้วนแต่เป็นการสร้างความรู้สึกอยุติธรรมในใจของคนไทยจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ 
    เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาเกือบ 90 ปีที่ไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยไม่เคยเป็นของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตาม รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2538 ได้เคยตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.)

คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอให้มีการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งต่อมารัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เชื่อกันว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด ก็ได้บรรจุการมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของรัฐธรรมนูญเมื่อเทียบกับฉบับอื่นๆ แต่สถาบันการเมืองไทยก็ยังไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นความหวังของคนไทยโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยอีกต่อไป
    เมื่อระบอบประชาธิปไตยผ่านตัวแทนไม่ตอบสนองปัญหาและความจำเป็นของประชาชนในกลุ่มล่าง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาคประชาชนได้ขยายตัวอย่างช้าๆ มาหลายทศวรรษจากกลุ่มชาวนาชาวไร่ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ กลุ่มแรงงาน ซึ่งในที่สุดได้ก่อตัวเป็นกลุ่มสมัชชาคนจน และกลุ่มล่าสุดก็คือ กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและรัฐบาลไม่สามารถที่จะนำพาพวกเขาไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้ได้
    ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่และ รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี ได้สร้างฉากทัศน์อนาคตของการเมืองไทยไว้ 4 ฉากทัศน์ด้วยกันคือ ฉากทัศน์ที่ 1 การเมืองอยู่ในวังวนความขัดแย้ง ฉากทัศน์ที่ 2 การเมืองแตกแยกขัดแย้งรุนแรง ฉากทัศน์ที่ 3 การเมืองประนอมอำนาจถอยคนละก้าว และฉากทัศน์ที่ 4 การเมืองประชาธิปไตยใหม่ซึ่งฉากทัศน์สุดท้ายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขความกดดันของการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคมโลก และฐานอำนาจทั้ง 2 ฐาน ยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ 
    การเมืองไทยจึงเป็นจุดเปราะบางและเป็นปัจจัยเชิงสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไทยในวันข้างหน้า.