"จีนสีเขียว" หนทางใหม่การพัฒนาจีนอย่างยั่งยืน ภายใต้การนำของ "สี จิ้นผิง"

"จีนสีเขียว" หนทางใหม่การพัฒนาจีนอย่างยั่งยืน ภายใต้การนำของ "สี จิ้นผิง"

แนวคิดของ สี จิ้นผิง คือ "绿水青山就是金山银山" มีความหมายว่า "รักษ์น้ำรักษ์ป่าคือหนทางสู่ความมั่งคั่งที่แท้จริงของชาติจีน"

ในฐานะที่ อ้ายจง ติดตามข่าวสารในจีนอยู่เป็นประจำทุกวัน ทำให้สังเกตเห็นว่าช่วงสัปดาห์นี้ สื่อหลักของจีนต่างพากันนำเสนอข่าวไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ ข่าวการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือเรียกย่อๆ ว่า COP15 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2021 โดยจัดที่เมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนาน (คนไทยมักเรียกว่า ยูนนาน) ประเทศจีน เป็นงานประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ความจริงแล้ว สื่อจีนตีข่าวเรื่องความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความหลากหลายชีวภาพในจีนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วงหลายเดือนมานี้ เพราะถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของจีน ยุคประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

สี จิ้นผิง ได้กล่าวประโยคทองเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจีนว่า “绿水青山就是金山银山” มีความหมายว่า “น้ำเขียวป่าขจีคือ ภูเขาทองภูเขาเงิน” หรือสรุปง่ายๆ นั่นก็คือ “รักษ์น้ำรักษ์ป่าคือหนทางสู่ความมั่งคั่งที่แท้จริงของชาติจีน” นี่คือแนวคิดของผู้นำจีน

เมื่อถึงคราวต้องทำแผนพัฒนาชาติระยะ 5 ปี ฉบับใหม่ ที่จะใช้เป็นแนวทางพัฒนาจีน ตั้งแต่ปี 2021 ไปจนถึง 2025 จีนจึงยังคงใส่นโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปในแผนฉบับนี้ โดยจัดทำเป็นแผนอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้ โดยจีนมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผืนป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ และที่สำคัญคือ ลดปริมาณคาร์บอนในจีนให้มีค่าเท่ากับศูนย์ หลังจีนเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลก ซึ่งนี่เป็นดั่งหนามทิ่มแทงจีน เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศมาเป็นระยะเวลาช้านาน โดยเฉพาะในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงจีน และหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ จนเกิดปรากฏการณ์ วันใดท้องฟ้าสดใส ไม่มีหมอกควันปกคลุม วันนั้นเป็นวันที่จะมีไวรัลใหม่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลจีน เพราะถือเป็นเหตุหายาก

ที่ อ้ายจง กล่าวไปก่อนหน้านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนช่วงหลายปีก่อนซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จีนจะค่อยๆ แก้ปัญหานี้ได้ โดย 8 เดือนแรกของปี 2021 ปริมาณ PM2.5 ในกรุงปักกิ่งลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนสิงหาคม มีจำนวนวันที่ถูกจัดเป็นวันอากาศดีมากถึง 93.5% หรือราว 29 วัน จาก 31 วัน หรืออาจเป็นอิทธิพลของเลข 8 เลขมงคลของชาวจีนก็เป็นได้

แผนการลดปริมาณคาร์บอนในจีนให้เหลือศูนย์

กลับมาที่แผนอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้ ฉบับล่าสุดของจีน ที่ตั้งเป้าลดปริมาณคาร์บอนแดนมังกรให้เหลือศูนย์ ซึ่งผู้อ่านอาจสงสัยว่า “ลดคาร์บอนอย่างไร?” แค่ปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ที่เป็นโรงงานเก่า หรือปิดเหมืองถ่านหิน หรือปิดโรงงานอุตสาหกรรมชั่วคราว ในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศมาก หรือใช้นโยบายจำกัดเลขทะเบียนให้เดินทางเข้าเขตเมืองในแต่ละวัน เพื่อลดปริมาณการปล่อยควันจากการจราจร หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เราอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจีนจะนำมาใช้จริงๆ อย่างการสั่งห้ามขายปิ้งย่างกลางแจ้ง ใช่มาตรการแบบนี้หรือเปล่าที่จีนจะนำมาใช้เพื่อให้ลดคาร์บอนเหลือศูนย์ได้จริงๆ  

ผู้เขียนขอตอบว่า “ไม่ใช่” มาตรการที่กล่าวมา เป็นมาตรการที่จีนนำมาใช้จริง แต่ถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ

จีนมองว่าต้นเหตุที่แท้จริงคือ ผืนป่า การสร้างพื้นที่สีเขียว ฉะนั้น จีนจึงกำหนดมาตรการเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศจีน ให้เพิ่มเป็น 24.1% ภายในปี 2025 จากเดิมที่ผืนป่าในจีนครองสัดส่วน 23.04% ซึ่งก็เป็นผลจากนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติและเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาลจีน ในช่วงแผนพัฒนาประเทศช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ฉบับ 13 ที่เพิ่งหมดอายุไป  

เมื่อปี 2019 จีนได้แถลงออกมาว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการปลูกป่าแล้ว ก้าวเข้าสู่ประเทศ ที่ปลูกป่ามากที่สุดเป็นเบอร์ 1 ของโลก เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งเป็นพื้นที่ป่ากว่า 1,300 ล้านไร่

ในครั้งนั้น 人民日报 หรือชื่อสากลคือ People’s Daily ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อของทางการจีน ได้นำเสนอว่า

นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949 ซึ่งเป็นปีที่จีนมีพื้นที่ป่าเพียง 8.6% ของประเทศ แต่ปี 2019 ผ่านไป 70 ปี จีนมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็น 21.66% หรือประมาณ 1,300 ล้านไร่ โดยราว 433 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า ที่จีนปลูกขึ้นใหม่ ส่งผลให้จีนเป็นเบอร์ 1 ของประเทศที่ปลูกป่ามากที่สุดในโลก

และผ่านมา 2 ปี นับตั้งแต่จีนฉลองการเป็นเบอร์ 1 ด้านจำนวนผืนป่า จีนยังคงมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอีก สิ่งนี้จึงสามารถการันตีได้ดีทีเดียวว่า นโยบายลดคาร์บอนเหลือ 0 ภายใต้เงื่อนไขพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1% ไม่ใช่เรื่องยากของจีน

ความสำเร็จในการปลูกป่าและอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ใช่แค่ความพยายามจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่มาจากภาคเอกชนที่รับลูก ทำตามนโยบายจากรัฐบาลจีน และรัฐบาลจีนก็ทำงานร่วมด้วย ทั้งสนับสนุนทางตรงและทางอ้อม

ขอยกตัวอย่าง โครงการ “Ant Forest ป่ามด” ของ Alipay ในเครืออาลีบาบา ของแจ็คหม่า เป็นโครงการที่สนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้ใช้งาน Alipay แอปพลิเคชันจ่ายเงินบนมือถือ มีจิตรักษ์โลก โดยการนำแต้ม Green Energy เข้ามาใช้ในแอปพลิเคชัน แต้มจะมาจากกิจกรรมบนแอปฯ Alipay ที่สนับสนุนการลดคาร์บอน อาทิ จำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวัน การจ่ายเงินค่าสาธารณูปโภค ออนไลน์ เพื่อลดการออกบิลกระดาษ และลดคาร์บอนที่เกิดจากการเดินทางไปจ่ายเงิน การใช้แอปฯ alipay เพื่อจ่ายเงินค่าบริการขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่ทำบนออนไลน์เพื่อความสะดวก และลดกิจกรรมบนชีวิตจริงที่ต้องมีการใช้คาร์บอนรวมถึงวัสดุสิ้นเปลือง

เมื่อได้แต้ม Green energy มาแล้ว ผู้ใช้งาน Alipay สามารถนำมาใช้ซื้อต้นกล้า เพื่อปลูกเป็นต้นไม้เสมือนบนแอปฯ มือถือของตน โดยต้นไม้แต่ละต้นที่ปลูกบนโลกเสมือนนั้น ทาง Alipay จะมีการนำไปปลูกป่าในโลกความจริง

โครงการ Ant Forest ป่ามด ของ Alipay ประสบความเร็จ อย่างมาก ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2016 จนถึงปี 2019 ผู้ใช้งาน Alipay 500 ล้านคน ร่วมปลูกป่าบนโลกเสมือนสู่การปลูกต้นไม้จริงล้านต้น ครอบคลุมพื้นที่ 933 ตารางกิโลเมตร หรือราว 130,000 สนามฟุตบอล บนโลกแห่งความจริง

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่