Telco ถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน | ต้องหทัย กุวานนท์

Telco ถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน | ต้องหทัย กุวานนท์

ถึงแม้ความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจจะทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในระยะสั้นไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ ปี 2564 กลับกลายเป็นปีที่กลุ่มธุรกิจ Telco มีความเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษ

*ต้องหทัย กุวานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม 

           การเคลื่อนไหวที่คึกคักเป็นพิเศษของกลุ่มธุรกิจ Telco โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งเปิดตัวธุรกิจร่วมทุนที่เกิดจากการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น กลุ่มธนาคาร/ฟินเทค กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กระทั่งกลุ่มโรงพยาบาล 
    บางองค์กรก็เดินหน้าชูธงความสำเร็จในการระดมทุนของธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการ spin-off ธุรกิจในเครือ  ความท้าทายของธุรกิจ Telco ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่เรื่องการเติบโตของรายได้หรือผลกำไร แต่ตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกทิศทางการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคม คือ รายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคน (ARPU -Average Revenue Per User) ซึ่งทุกค่ายต่างกำลังประสบปัญหาเดียวกัน
    นั่นคือถึงแม้จะยังประคับประคองรายได้และผลกำไรให้ทรงตัวอยู่ได้แต่รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งานกลับถดถอยลงโดยเฉลี่ย 5-10%  การเร่งพัฒนานวัตกรรมหรือการแสวงหาบริการใหม่ๆเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้คือยุทธศาสตร์สำคัญของทุกองค์กร
 

เมื่อ โมเดลธุรกิจ เดิมอยู่ภายใต้ความกดดันและต้องเผชิญความเสี่ยงในการถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป เกมการแข่งขันในเฟสต่อไปของกลุ่ม Telco ทั่วโลกคือการหา “New Growth”

ข้อมูลการสำรวจของ McKinsey กับกลุ่มผู้บริหารในธุรกิจ Telco กว่า 100 บริษัททั่วโลกระบุว่า ห้าอันดับแรกของธุรกิจที่บริษัทในกลุ่ม Telco มองว่าเป็นฐานการเติบโตใหม่คือ 1) ธุรกิจการให้บริการทางการเงิน 2) ธุรกิจการให้บริการด้าน IT/Digital Services  3) ธุรกิจมีเดีย 4) ธุรกิจบริการทางด้านสุขภาพ 5) ธุรกิจสาธารณูปโภค เช่นพลังงานทางเลือก 
         แนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่เส้นทางการสร้างโมเดลรายได้ใหม่ของธุรกิจ Telco เป็นเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนอกจากจะต้องแบกรับต้นทุนของการก่อสร้างโครงข่าย 5G แล้ว Telco ยังจำเป็นต้องใส่เม็ดเงินลงทุนอีกจำนวนมากในการร่วมทุนกับพันธมิตรรายใหม่ 
    ในช่วงปีที่ผ่านมาเราเห็นการจับมือของธุรกิจโทรคมนาคมกับธุรกิจที่เป็น Financial services หลายราย เช่น Axiata กับ RHB Bank  ในมาเลเซีย AIS กับ SCB ในไทย และยักษ์ใหญ่ธุรกิจสื่อสารในเกาหลีอย่าง SK Group กับการบุกตลาดอาเซียนด้วยการลงทุนกว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯใน BigPay บริษัท Fintech ในเครือข่ายของแอร์เอเชีย  ส่วนในฝั่งยุโรป Orange ที่จับมือกับกลุ่มธนาคาร Groupama ตั้ง Orange Bank ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน ล่าสุดลงทุนเพิ่มอีกกว่า 230 ล้านยูโรเพื่อเข้าถือหุ้นอีกกว่า 20%ในธุรกิจประกัน
 

อีกความท้าทายของธุรกิจ Telco นอกจากเรื่องของ Connectivity และการก้าวข้ามไปสู่ Vertical ใหม่ ก็คือการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและการนำเสนอบริการด้านดิจิทัลเพื่อแข่งขันกับกลุ่ม Big Tech  การเพิ่มสัดส่วนรายได้ในส่วนที่เป็น Enterprises Solution ให้เติบโตและมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของรายได้กำลังถูกมองว่าเป็นทางรอดของธุรกิจ ในยุโรปบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง Vodafone ตัดสินใจปรับโครงสร้างหน่วยงานด้านเทคโนโลยีและประกาศตัวชัดเจนว่าจะทรานส์ฟอร์มตัวเองจาก Telco ไปเป็น “Techco”  ที่พร้อมให้บริการลูกค้าองค์กรด้วยเทคโนโลยีโซลูชั่นอย่างเต็มรูปแบบ
        ส่วนโจทย์ใหญ่ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ Telco ในช่วงเปลี่ยนผ่านก็คือจะเขย่าโครงสร้างองค์กรอย่างไรให้ทันสมัย ลด Hierarchy ในการบริหารจัดการเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่และยกระดับความสามารถขององค์กรทางด้านเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ใหม่สำหรับอนาคต.