ธุรกิจโทรคมนาคมไทย ภายใต้การเปิดเสรีอาเซียน

ธุรกิจโทรคมนาคมไทย ภายใต้การเปิดเสรีอาเซียน

ถึงเวลาที่ไทยควรปรับปรุงนโยบาย ระเบียบ และกฎเกณฑ์ด้านบริการโทรคมนาคม ให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่มีอยู่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

ในยุคที่ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและความสามารถในการกระจายข้อมูล เป็นแรงขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของโลกธุรกิจ การให้บริการโทรคมนาคมจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ธุรกิจโทรคมนาคมสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและยังเป็นปัจจัยในการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน ผลวิจัยของสำนักเลขาธิการอาเซียนระบุว่าการเพิ่มขึ้นทุก 10% ของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 0.7%

ประเทศสมาชิกอาเซียนเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจโทรคมนาคม จึงได้จัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ยกเลิกข้อจำกัดในการค้าบริการระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าบริการให้มากกว่าที่ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ให้ความผูกพันไว้ตามความตกลงการค้าบริการภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (General Agreement on Trade in Services: GATS) โดยกำหนดให้บริการโทรคมนาคม เป็นสาขาเร่งรัดที่ประเทศสมาชิก จะต้องผ่อนปรนกฎหมายหรือระเบียบที่ควบคุมสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ภายในปี 2558 นักลงทุนต่างชาติจากประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถมีสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคมสูงสุดถึง 70 %

ปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย ได้เปลี่ยนผ่านจากระบบผูกขาดด้วยสัญญาสัมปทาน (Concession) ไปสู่ระบบการให้ใบอนุญาตโดยการประมูลแบบผสม (Hybrid Auction) ซึ่งเป็นการคัดกรองผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากแผนธุรกิจให้เหลือจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะแข่งขันด้วยการประมูล โดยผู้เข้าร่วมแข่งขัน จะต้องยอมรับข้อกำหนด ในการประกอบธุรกิจโทรคมนาคมเสียก่อน จึงจะสามารถเข้าร่วมแข่งขันประมูล เช่น การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และแผนคุ้มครองผู้บริโภค ข้อกำหนดดังกล่าวย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สามารถกำกับดูแลการจัดสรรทรัพยากรโทรคมนาคมให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี กสทช. ประกาศข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการ โดยคนต่างด้าวในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงการครอบงำผ่านแหล่งเงินทุน สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง การถ่ายโอนค่าใช้จ่าย การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และการโอนราคา โดยไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนของลักษณะการครอบงำกิจการแต่ละชนิด หากแต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กสทช. เป็นหลัก

ประกาศฉบับนี้สร้างเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งขัดแย้งกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีตาม AFAS และ GATS แต่ กสทช. ได้ป้องกันปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างเงื่อนไขตามประกาศฉบับนี้ กับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยกำหนดข้อความว่า "ประกาศฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความตกลงหรือสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี" จึงเห็นได้ว่า ประกาศฉบับนี้ของ กสทช. มีผลใช้บังคับเฉพาะกับนักลงทุนจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและนักทุนลงจากประเทศนอกกลุ่มความตกลงการค้าเสรีที่ประเทศไทยเป็นภาคี ก่อให้เกิดความลักหลั่นในการบังคับใช้ประกาศในฐานะกฎ ซึ่งควรมีผลบังคับเป็นการทั่วไปกับนักลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม

นอกจากนี้ ข้อจำกัดของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจโทรคมนาคม ที่กำหนดโดยประกาศของ กสทช. ยังสกัดกั้นโอกาสการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมของนักลงทุนไทยในต่างประเทศอีกด้วย เพราะตามความตกลงว่าด้วยบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน (Agreement on Basic Telecommunications: ABT) ซึ่งเป็นความตกลงเพิ่มเติมจาก GATS ที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิก ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favored Nation Treatment: MFN) ในเรื่องการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน แต่ประเทศสมาชิกสามารถนำหลักต่างตอบแทน (Reciprocity) มาบังคับใช้กับนักลงทุนต่างชาติได้ ดังนั้น หากประเทศไทยไม่เปิดเสรีให้นักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม นักลงทุนจากประเทศไทยก็ไม่สามารถไปลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมในต่างประเทศด้วยเช่นกัน

เมื่อหันกลับมามองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จะพบว่าปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น เริ่มเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ พม่าซึ่งแม้ว่าแต่เดิม พม่ามีรัฐบาลทหารเป็นผู้ปกครองสูงสุดของประเทศ และเพิ่งจะปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมประมวลใบอนุญาตในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ผลปรากฏว่า บริษัทเทเลนอร์ (Telenor) สัญชาตินอร์เวย์ และบริษัทอูริดู (Ooredoo) จากกาตาร์ชนะการประมูล โดยรัฐบาลพม่ากำหนดเงื่อนไขให้สองบริษัทผู้ชนะการประมูล ต้องติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศ โดยมีเป้าหมายให้บริการโทรคมนาคมเข้าถึงสาธารณชน ในราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถมีใช้บริการได้ ทั้งในตัวเมืองและชนบทแม้ว่าพม่าจะมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเพียง 5.4 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดประมาณ 60 ล้านคน รัฐบาลพม่ายังเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรปรับปรุงนโยบาย ระเบียบ และกฎเกณฑ์ด้านบริการโทรคมนาคม ให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่มีอยู่เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติด้วยกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพิ่มจำนวนผู้ให้บริการที่หลากหลาย ลดการผูกขาด และก่อให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริงระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้วยกัน โดยท้ายที่สุดผู้รับบริการที่เป็นประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากค่าบริการที่เหมาะสมและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นตลอดจนเป็นรากฐานสำคัญในการแข่งขันต่อไปในอนาคต และที่สำคัญจะเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN connectivity) ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น