ความสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิทัลกับ GDP ของประเทศ

ความสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิทัลกับ GDP ของประเทศ

GDP (Gross Domestic Product) แปลว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งถูกคำนวณด้วย การบริโภคของภาคเอกชน + การลงทุนของภาคเอกชน + การใช้จ่ายของรัฐบาล + มูลค่าการส่งออก - มูลค่าการนำเข้า

คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะทำให้ดิจิทัลได้กลายมาเป็นสัดส่วนที่สำคัญสำหรับการคำนวณ GDP ของประเทศ ซึ่งโดยผิวเผินแล้วอาจทำให้ต้องหลงเชื่อไปว่าดิจิทัลเป็นสิ่งที่ดีที่ต้องทำให้ GDP ของประเทศมีมูลค่าที่สูงขึ้น

แต่ไม่นานมานี้ ความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูลของภาครัฐมีมากขึ้น และเริ่มปรากฏเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ในหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมดิจิทัล GDP กลับมีแนวโน้มเป็นตัวเลขที่ติดลบ และที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่าสินค้าและบริการในภาคส่วนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างผลลบต่อ GDP หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็นการขาดดุลการค้า

สำหรับข้อมูลที่มีการเปิดเผยโดยทั่วไปมักสะท้อนมุมมองของอุตสาหกรรมดิจิทัลในอีกด้านหนึ่ง ที่ส่วนมากเป็นจำนวนของผู้ใช้และมูลค่าของการใช้งาน ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยผิวเผินแล้วอาจทำให้ต้องหลงเชื่อว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยนั้นมีความแข็งแกร่ง แต่ข้อมูลที่เพิ่งจะเริ่มมีการเปิดเผยในระยะหลังก็คือว่า มูลค่าของการใช้งานสินค้าและบริการดิจิทัลเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลลบต่อ GDP และเป็นการขาดดุลการค้า

 

แม้เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ภายในประเทศด้วยการศึกษาตัวอย่างของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะพบว่าธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศ จะมีอยู่น้อยรายมาก ๆ ที่จะมาจากอุตสาหกรรมดิจิทัล ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ธุรกิจดิจิทัลจะเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งที่สุดและมีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ และมักจะได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งโดยนักลงทุน

ไม่นานมานี้อีกเช่นกัน ได้มีความพยายามของหลายฝ่ายในการที่จะพลิกสถานการณ์ เพิ่มการบริโภคสินค้าและบริการดิจิทัลจากภายในประเทศ และหรือกระทั่งเปลี่ยนประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล เพื่อเปลี่ยนจากการขาดดุลการค้ามาเป็นการได้ดุลการค้า

ซึ่งข้อจำกัดของประเทศก็ยังมีอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีความพร้อมกว่า อาทิเช่น ความพร้อมของบุคลากรทางด้านดิจิทัล ความพร้อมของระบบนิเวศด้านดิจิทัล ความพร้อมของนวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างสิ่งใหม่ภายในประเทศ และความพร้อมของกฎระเบียบ

โดยประเทศไทย อาจได้เริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่นเป็นเวลากว่าทศวรรษ และเรากำลังจะถูกแซงหน้าโดยฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ในหลากหลายตัวชี้วัดของสถาบันระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ซุ่มพัฒนาศักยภาพทางด้านดิจิทัลมานานก่อนเราแล้ว

จึงอาจเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะต้องมากำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ เพื่อจะได้มีจุดยืนที่ชัดเจน ในขณะที่การใช้งานสินค้าและบริการกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อที่จะได้ชัดเจนไปเลยว่า เราอยากจะเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ หรือกระทั่งเปลี่ยนประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัลเลยหรือไม่ หรือเราจะพอใจในสถานภาพปัจจุบันและเปลี่ยนไปเอาดีทางด้านอื่น