จะอยู่อย่างไรในภาวะที่ดูจะสิ้นหวัง

จะอยู่อย่างไรในภาวะที่ดูจะสิ้นหวัง

รายงานของ UN เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ที่เพิ่งพิมพ์ออกมาดูจะสนับสนุนมุมมองที่ว่า โลกเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลายแบบกู่ไม่กลับ

                   ท่ามกลางวิกฤติจากโควิด-19 และจากความร้ายแรงของความแห้งแล้ง ไฟป่าและน้ำท่วมใหญ่ในหลายส่วนของโลก รายงานขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศซึ่งเพิ่งพิมพ์ออกมาเมื่อวันจันทร์ดูจะสนับสนุนมุมมองที่ว่า โลกเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลายแบบกู่ไม่กลับแล้ว  ดังที่อ้างถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มุมมองนี้มีที่มาจากการตีความหมายปฏิทินมายาว่า ปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่ปฏิทินนั้นสิ้นสุดคือวันสุดท้ายที่ชาวโลกจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เพียงพอเพื่อป้องกันมิให้โลกเดินเข้าสู่ทางดังกล่าว  แต่ชาวโลกมิได้ทำ

            รายงานขนาด 3,500 หน้าซึ่งเขียนโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 200 คนจากกว่า 60 ประเทศนั้นสะท้อนผลการวิจัยที่ทำกันมาเป็นเวลาหลายปีและอ้างถึงผลการศึกษากว่า 14,000 ชิ้น  ข้อสรุปหลัก ๆ ของรายงานชิ้นใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แก่

  • กิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแน่นอน ผลกระทบบางอย่างของมันเกิดขึ้นในอัตราเร่งและเป็นไปแบบถาวร เช่น การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล
  • มนุษย์เราเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ธารน้ำแข็งทั่วโลกและผืนน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกลดลงในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
  • แน่ใจได้เต็มร้อยแล้วว่าในช่วงเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ภาวะอากาศร้อนสูงมากเกิดบ่อยขึ้นและโหดขึ้น ส่วนช่วงอากาศหนาวแบบเข้ากระดูกเกิดน้อยลง  ความแห้งแล้ง พายุใหญ่และภาวะน้ำท่วมก็โหดขึ้นเช่นกัน
  • มองย้อนไป 170 ปีพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
  • โอกาสป้องกันผลกระทบของภาวะโลกร้อนมิให้ร้ายแรงขึ้นต่อไปยังมีอยู่โดยการเร่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ แต่ชาวโลกจะต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

เนื้อหาของรายงานครอบคลุมข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์  ส่วนด้านรายละเอียดของนโยบายที่จะป้องกันมิให้โลกเดินเข้าสู่ภาวะล่มสลายจะตามมาปีหน้า  ก่อนถึงวันนั้น รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจะประชุมกัน ณ เมืองกล๊าสโกว์ สกอตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อแสวงหาข้อตกลงว่าจะทำอะไรกันต่อไป  การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญยิ่งเนื่องจากหากนโยบายที่ตามมายังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าต้องทำ ทั่วโลกจะประสบความหายนะอย่างทั่วถึง

แม้ข้อมูลจะบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญของรัฐบาลและของบุคคล แต่คงเป็นไปได้ยากมากที่มันจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอ  ลองมองดูแค่สหรัฐกับจีน  โดยเฉลี่ยชาวอเมริกันแต่ละคนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก  ในระดับประเทศ จีนปล่อยก๊าซนั้นมากที่สุด  แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีอะไรที่ชี้บ่งว่าทั้งคู่จะเปลี่ยนนโยบายและพฤติกรรมแบบทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างทันกาล 

นอกจากนั้น ประเทศกำลังพัฒนาที่มีอยู่กว่าค่อนโลกต่างเร่งรัดพัฒนาไปตามแนวคิดกระแสหลัก  นั่นหมายความว่า การปล่อยก๊าซดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีก  ยิ่งกว่านั้น การเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลให้บริโภคอยู่ในกรอบของความจำเป็นเท่านั้นยังไม่มีตัวชี้บ่งว่าเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย  ซ้ำร้ายรายงานยังสรุปอีกว่า แม้นโยบายและพฤติกรรมจะเปลี่ยนไปในระดับที่ต้องการ ภาวะเลวร้ายหลายอย่างจะยังเกิดขึ้น เช่น การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล 

อนึ่ง การเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลายมิได้หมายความว่ามนุษย์จะสูญพันธุ์แบบไดโนเสาร์  หากหมายความว่าต่อไปเราจะประสบกับความวุ่นวายและความยากลำบากมากขึ้น  ประเด็นจึงเป็นเราจะทำอย่างไรในภาวะเช่นนี้โดยไม่ต้องรอรัฐบาลซึ่งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามักขาดปัญญาและเจตนาดีที่จะทำอะไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์? 

คำตอบอยู่ในแนวที่เสนอไว้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กล่าวคือ พิจารณาว่าเรามีภูมิคุ้มกันเพียงพอกับระดับอันตรายที่เราจะต้องเผชิญหรือไม่ในกรณีที่มันเกิดขึ้น  ตัวอย่างลำดับต้นได้แก่ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งปริมณฑล ตามชายฝั่งทะเลและตามเกาะจะต้องรู้ว่าบริเวณที่อยู่อาศัยและการดำเนินชีวิตจะเป็นอย่างไรในภาวะที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราวครึ่งเมตรในช่วงเวลา 30 ปีที่จะมาถึง  ทางออกของเราอยู่ที่การเตรียมตัวรับกับภาวะเช่นนั้นไว้ให้เพียงพอพร้อมกับปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคให้อยู่ในกรอบของความจำเป็นเท่านั้น.