มองมุมเปลี่ยน “ดิจิทัล-โซเชียลฯ” ตัวสร้างวิกฤติสังคม

สิ่งสำคัญที่ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียควรมี คือคิดในเชิงวิเคราะห์
หลายคนอาจมองว่าวิกฤติการเมืองรอบนี้ เป็นเรื่องของความไม่พอใจรัฐบาล ความต้องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ผมมองว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้เลวร้ายกว่าที่คิด มันคือวิกฤติสังคมที่มีผลพวงมากจากการปล่อยให้ผู้คนหมกมุ่นกับโลกโซเชียลมากเกินไป คนยุคเจนแซด พวกเขาเติบโตมากับเทคโนโลยี โตมากับความห่างไกลทางสังคมจากพ่อแม่ที่ปล่อยให้อยู่ในสังคมออนไลน์ หมกมุ่นการเล่นมือถือ และเทคโนโลยีทำให้สังคมเรามีสองโลก และคนแบ่งเป็นสองยุคที่มีความคิดความอ่าน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นคู่ขนาน ยากบรรจบมาเจอกัน หากไม่ทำความเข้าใจกัน
วิกฤตินี้ซึมลึกและคงไม่จบด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ผลจากการที่เด็กรุ่นใหม่โตขึ้นมาจากการเล่นมือถือ การใช้โซเชียลมีเดีย การเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบเดิมทำให้มีระยะห่างกับครอบครัว เพิ่มช่องว่างระหว่างวัย เด็กๆ หันคุยกันเอง และนับถือคนที่ไม่รู้จัก ว่ากันตามกระแส พ่อแม่ก็ใช้ชีวิตอยู่ในอีกโลก อยู่กับสื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี แบบเดิม สังคมแบบเดิม โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นเครื่องมือทำลายสถาบันครอบครัว ทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามบางอย่างไป เมื่อสถาบันครอบครัวถูกทำลายไม่มีใครฟังใคร เด็กรุ่นนี้ไม่ฟังผู้ใหญ่ เด็กรุ่นหน้าก็คงไม่ฟังเด็กรุ่นนี้ แต่ใช้ความเชื่อในสังคมโซเชียลเป็นเครื่องตัดสิน
ผมเล่นอินเทอร์เน็ตมากว่า 30 ปี ตั้งแต่เข้าเว็บไซต์ปี 2537 สมัยที่ทั่วโลกมีเพียงสองพันกว่าเว็บ ไม่ใช่เป็นหลายพันล้านเว็บในปัจจุบัน เข้าเล่นเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์มากว่า 10 ปี ใช้ติดตามข่าวสาร และมองในทุกแง่ทุกมุม สิ่งสำคัญที่ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียควรมี คือ คิดในเชิงวิเคราะห์ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศไม่ให้เด็กเล็กใช้มือถือหรือเล่นอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ ก็กำหนดอายุขั้นต่ำของคนเข้ามาสมัครไว้ที่ 13 ปี
ผมโตในยุคอนาล็อกยุคที่ยังเข้าห้องสมุด ยุคที่ยังต้องกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร การหาข้อมูลคือการค้นเอกสารมากมาย หาแหล่งอ้างอิง ยังต้องเรียนวิชาด้านสังคมและประวัติศาสตร์ ทักษะแบบอนาล็อก ซึ่งคือพื้นฐานสำคัญในการใช้อินเทอร์เน็ตและใช้โซเชียลมีเดีย ค้นกูเกิลต้องกลั่นกรองว่าข้อมูลใดถูกต้อง เล่นเฟซบุ๊ค หรือตามทวิตเตอร์ต้องคิดเชิงวิเคราะห์ว่าข้อมูลน่าเชื่อถือหรือไม่ ไม่ใช่แค่ Click, Like หรือ Share ตามกระแสโซเชียล หรือเทรนด์ของ Hashtag
ข้อมูลโลกอินเทอร์เน็ตมีมากมาย มีทั้งถูกและผิด ผมเข้าไปอ่านข้อมูลจำนวนมากก็พบว่าผิด ถ้าผู้ใช้ขาดความคิดเชิงวิเคราะห์ ก็น่าห่วง ดังนั้นทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์จึงจำเป็นเด็กต้องมีวุฒิภาวะ จึงสามารถจะใช้อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียได้ แต่ที่ผ่านมาสังคมเราละเลย ผู้ปกครองไม่ทราบว่าเด็กเล่นอะไร ครูอาจารย์ไม่เก่งเทคโนโลยี เลี้ยงลูกโตขึ้นมากับมือถือ ปล่อยอยู่กับโซเชียลมีเดีย เน้นกระแสและติดตามข่าวสารและเลือกดูข้อมูลจากคนที่ไม่สมควรนับถือว่าเป็นเน็ตไอดอลก็ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมสังคมเรามาถึงจุดนี้ได้
ในช่วงแรกเด็กอาจเล่นเฟซบุ๊ค อยู่ในกลุ่มไลน์ เมื่อเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองตามมาดู ก็หันไปเล่นโซเชียลอื่น เช่น ทวิตเตอร์ ซึ่งหนักกว่าเดิม หลายคนเป็นอวตารไม่มีตัวตนชัดเจน รับข่าวสารจากโซเชียลในกลุ่มเหล่านั้น บางอย่างจริง แต่หลายอย่างไม่ใช่เรื่องจริง เมื่อผสานกับกระแส ความห่างของสังคมครอบครัว ยิ่งทำให้ความแตกแยกในสังคมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
สังคมคนสองยุคแตกต่างกัน แต่ผมยังเชื่อเรื่องการพบเจอและพูดคุยกันแบบปกติ การพูดคุยนัดสังสรรค์กัน การมีเพื่อนแท้ การยกย่องบุคคลต้นแบบและตัวอย่างที่ดีงาม สิ่งเหล่านี้สอนให้คนมีคุณธรรม มีความเมตตาและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน มีความจริงใจต่อกัน นั่นคือ สิ่งที่มนุษย์แตกต่างกับหุ่นยนต์ ตัวตนจริงๆ ต่างกับการสร้างอวตารในโลกไซบอร์ การพูดคุยกับเพื่อนๆ ในโลกสังคมโซเชียล การติดตามข่าวสารในสังคมที่แคบลงทำให้คนรับรู้ข้อมูลข่าวสารในวงจำกัด
เมื่อผู้คนขาดความคิดเชิงวิเคราะห์สังคมอยู่กันที่ความเชื่อมากกว่าความจริง จึงไม่แปลกใจว่า ฝ่ายหนึ่งที่ผู้คนเห็นต่างก็จะลงมาถล่ม ลงมาคัดค้านตามกระแส ด้วยความคิดแค่ว่ากระแสของพวกตัวเองดังกว่า มีพวกมากกว่า วัดความถูกต้องตามกระแสจากกลุ่มบุคคลที่ไม่รู้จักกัน โดยเฉพาะในโลกทวิตเตอร์ ที่กลุ่มคนส่วนใหญ่จะเห็นไปในทางเดียวกัน การเขียนข้อความสั้นๆ ยิ่งทำให้อ่านน้อยลงไปอีก เน้นแค่ตามกระแส และคิดว่าสิ่งเหล่านั้นคือ ความถูกต้องก็ยิ่งน่าเป็นห่วง
เราอาจไม่มีสวิทช์ที่จะปิดอินเทอร์เน็ต ไม่อาจไปหยุดการใช้โซเชียลมีเดีย แต่สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้สังคมกลับมา คือ ทุกฝ่ายต้องรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน หันหน้าเข้ามาคุยกัน คนในครอบครัวนั่งคุยกัน ลดใช้มือถือหรือเล่นโซเชียลแบบเดิม ลดช่องว่างระหว่างวัย และรู้จักใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานให้มีความสุข ไม่ใช่เป็นเครื่องมือมาใช้ประหัดประหารทำร้ายล้างคนที่เห็นต่าง