ทำไมต่างชาติมองศ.ก.ไทยแย่สุด

ทำไมต่างชาติมองศ.ก.ไทยแย่สุด

อาทิตย์ที่แล้ว หลังสภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองว่าหดตัว 12.2% สำนักข่าวซีเอ็นบีซี(CNBC) ประเทศไทยก็ติดต่อขอความเห็นผม

เพราะตัวเลขดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่าเศรษฐกิจไทยที่พึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวมากในการขยายตัว ถ้าเศรษฐกิจไม่มีการส่งออกและการท่องเที่ยวขับเคลื่อน การขยายตัวของเศรษฐกิจน่าจะออกมาต่ำมาก นอกจากนี้ การประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นก็จะทำให้ภาครัฐขาดสมาธิในการบริหารเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะออกมาแย่สุดในเอเชีย จึงขอความเห็นผมเรื่องนี้

ผมเองเข้าใจแนวคิดดังกล่าว แต่ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด วันนี้จึงอยากจะแชร์ความเห็นที่ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

วิกฤติคราวนี้รุนแรงและกระทบทุกส่วนของเศรษฐกิจ แต่ที่รุนแรงสุดก็คือธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและจิ๋ว โดยเฉพาะสาขาบริการ ขนส่ง ท่องเที่ยว ที่การผลิตหดตัว 30-50% ในไตรมาสสอง ในระดับสังคม ข้อมูลจากการสำรวจของมูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) ช่วงไตรมาสสอง ชี้ว่า คนไทยเกือบ 70% รายได้ลดลงและโดยเฉลี่ยรายได้ต่อเดือนลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจนอกระบบ (Informal sector) นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

การทรุดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจไตรมาส 2 เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพราะไตรมาสสองเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีล็อกดาวน์และเริ่มมาตรการผ่อนปรน รวมถึงมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม การหดตัว 12.2% ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เดิม รวมถึงรุนแรงน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปินส์และเราก็เห็นตัวเลขบางตัวมีการขยายตัว เช่น การส่งออกในกลุ่มคอมพิวเตอร์ ผลไม้ อาหารสัตว์ อาหารแปรรูป การบริโภคของประชาชนในหมวดสินค้าจำเป็นขยายตัวขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นหดตัว สาขาการผลิต เช่น ก่อสร้าง ธุรกิจการเงิน ประกันภัย การสื่อสาร ก็ขยายตัวแม้ตัวเลขรวมของเศรษฐกิจจะหดตัว 12.2% 

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ไตรมาสสองจะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจ ทำให้การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะมีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่จะเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และคำถามที่นักวิเคราะห์ต่างประเทศตั้งคือ อะไรจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าเศรษฐกิจไม่มีการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อน

ในความเห็นของผม การระบาดของโควิดที่ยังไม่หยุดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศหลักในกลุ่ม G20 ที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังไม่เกิดขึ้น กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเราช่วงครึ่งปีหลังถ้าจะเกิดขึ้นต้องมาจากปัจจัยภายในประเทศอย่างเดียว คือ การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคของครัวเรือน และการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งประเด็นนี้ผมมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพพอควรที่จะใช้การใช้จ่ายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

1.ภาคเอกชน คือธุรกิจและครัวเรือนมีศักยภาพที่จะใช้จ่ายมากขึ้น เพราะอัตราการออมของภาคเอกชน(Domestic Saving) มีมากถึง 33% ของรายได้ประชาชาติ (ตัวเลขจากธนาคารโลก) แต่จากที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศมีสูง กำลังซื้อหรือความสามารถในการใช้จ่ายจึงอยู่ที่กลุ่มคนที่มีรายได้และบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรที่จะจูงใจให้กลุ่มคนที่มีพลังเหล่านี้ใช้จ่าย คือ นำเงินออมที่มีอยู่มาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่คือ โจทย์ข้อแรก

2.พื้นที่ด้านนโยบายการคลังของเรามีพอควร จากที่ภาครัฐได้เตรียมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไว้กว่า 10% ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่อัตราส่วนของหนี้ภาครัฐต่อรายได้ประชาชาติก็ยังไม่สูงมากเทียบกับหลายประเทศ ความท้าทายคือจะใช้เม็ดเงินเหล่านี้อย่างไรให้ตรงจุดกับการแก้ปัญหา ไม่รั่วไหล และมีประสิทธิภาพ ที่จะนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนที่ตกงานให้ธุรกิจขนาดกลาง เล็ก และจิ๋วสามารถอยู่รอดและรักษาการจ้างงานได้ต่อไป และให้ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจสามารถปรับตัวเพื่อเตรียมตัวกับโลกเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด นี่คือความท้าทาย

3.เสถียรภาพของเศรษฐกิจเราอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งจะเป็นฐานให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว ความเข้มแข็งเหล่านี้ คือฐานะของระบบธนาคารพาณิชย์ ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ และระดับหนี้ต่างประเทศที่ต่ำ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจสามารถทัดทานแรงกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ แม้ภาวะตกต่ำในเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงขึ้น เป็นความเข้มแข็งที่ต้องรักษาไว้ด้วยนโยบายที่ให้ความสำคัญ ทั้งการฟื้นตัวและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวได้ต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลังก็คือการควบคุมการระบาดของโควิด-19ภายในประเทศไม่ให้เกิดขึ้นอย่างที่ได้ทำมาช่วงสามเดือนที่ผ่านมา คือ ไม่มีการระบาดรอบสอง ซึ่งสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นที่เอื้อให้ภาคเอกชนกลับมาใช้จ่ายและจะทำให้การขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยปัจจัยภายในประเทศประสบความสำเร็จ นี่คือเงื่อนไข ที่ประเทศไทยยังพอมีในตอนนี้ เป็นเงื่อนไขที่ต้องรักษาไว้เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับการประท้วง ผมให้ความเห็นว่า การประท้วงขณะนี้เป็นปรากฎการณ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในกว่า 30 ประเทศ โดยมีหลายสาเหตุ แต่ที่เห็นมากสุด คือ ความไม่พอใจของประชาชนต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนแย่ลง กรณีของเราเป็นเรื่องของความต้องการระบบการเมืองที่ดีขึ้น เปิดมากขึ้น และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการดำเนินนโยบาย นักลงทุนมักมองการประท้วงเป็นข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจเพราะมองเพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาว ถ้าคุณภาพการทำโยบายของประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศการลงทุน และความเป็นอยู่ของประชาชน ก็จะได้ประโยขน์

นี่คือความเห็นของผมที่ให้ไป