กยศ ออกมาตรการช่วยผู้กู้ยืม แต่เสียงสะท้อนดังกระหึ่ม!

 กยศ ออกมาตรการช่วยผู้กู้ยืม แต่เสียงสะท้อนดังกระหึ่ม!

กยศ ออก 8 มาตรการ ช่วยผู้กู้ยืม กรณีวิกฤติโควิด COVID-19 แต่เสียงสะท้อนลูกหนี้ดังกระหึ่ม

ประกาศ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ออกมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถานการณ์ COVID-19

1.ลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5%
ในกรณีที่ผู้กู้ยืมยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด กองทุนจะปรับลดเบี้ยปรับให้กับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินกู้ยืมเป็นการชั่วคราว จากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2563

2.ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน
กองทุนจะปรับลดจำนวนเงินที่แจ้งให้หักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมทุกรายในกลุ่มหน่วยงานเอกชน จากจำนวนเงินที่เคยแจ้งหัก เป็นแจ้งให้นายจ้างหักเงินของผู้กู้ยืมทุกรายๆ ละ 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563

3.ลดเบี้ยปรับ 80%
สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และปิดบัญชีในครั้งเดียว กรณีผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กรณีผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดี ลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์ กยศ. โดยผู้กู้ยืมต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนชำระหนี้ปิดบัญชี โดยขยายระยะเวลาเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563

 กยศ ออกมาตรการช่วยผู้กู้ยืม แต่เสียงสะท้อนดังกระหึ่ม!

4.ลดเบี้ยปรับ 75%
เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) โดยติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยให้ขยายระยะเวลาเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563

5.พักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี
ผู้กู้ยืมที่มีสถานะยังไม่ถูกดำเนินคดี จะได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ตามเงื่อนไข กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี ได้รับสิทธิผ่อนผันการชำระหนี้งวดปี 2563 เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กองทุนอนุมัติ โดยผู้กู้ยืมจะกลับมาชำระหนี้งวดปี 2563 ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และงวดที่เหลือในปีถัดไป กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน ให้ผ่อนผันการชำระหนี้ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่กองทุนอนุมัติ โดยในระหว่างพักชำระหนี้ดังกล่าว กองทุนจะไม่ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ กองทุนจะหยุดคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระหนี้ทั้งงวดที่ค้างชำระก่อนหน้าและงวดที่อยู่ระหว่างผ่อนผันการชำระหนี้ จนกว่าระยะเวลาพักชำระหนี้จะสิ้นสุด โดยขยายเวลาให้ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนยื่นคำขอรับสิทธิได้ทางเว็บไซต์ กยศ. เดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

6.ผ่อนผันการชำระหนี้
ในกรณีสถานการณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้และไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ สามารถยื่นคำขอผ่อนผันและส่งเอกสารหลักฐานไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกองทุนที่มีอยู่เดิมแล้ว ดังนี้

กรณีผู้กู้ยืมที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน สามารถขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 คราวๆละไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย รวมถึงยกเว้นเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับการผ่อนผัน

กรณีผู้กู้ยืมที่มีรายได้ถดถอย สามารถขอผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ตั้งแต่ 1.5 - 2.5 เท่าของระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญากู้ยืมเดิม โดยขึ้นอยู่กับมูลหนี้คงเหลือ ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี และผู้กู้ยืมจะต้องทำบันทึกข้อตกลงกับกองทุน เพื่อนำยอดหนี้คงเหลือมาคำนวณใหม่และเฉลี่ยให้ชำระในแต่ละเดือนเท่าๆ กันภายในระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน

7.งดการขายทอดตลาด
สำหรับผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ดำเนินการยึดทรัพย์ไว้ทุกราย และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขายทอดตลาด กองทุนจะยื่นคำร้องของดการขายทอดตลาดทุกรายไปจนถึงสิ้นปี 2563 โดยจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืม และ/หรือ ผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี)

8.ชะลอการบังคับคดี
สำหรับผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันทุกคดี กองทุนจะชะลอการบังคับคดีไว้ ยกเว้นกรณีที่คดีใกล้ขาดอายุความ กองทุนจำเป็นต้องดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายแต่จะงดการขายทอดตลาดไว้

 กยศ ออกมาตรการช่วยผู้กู้ยืม แต่เสียงสะท้อนดังกระหึ่ม!

...

กล่าวสำหรับมาตรการดังกล่าว ประเมินการรับรู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหนี้กว่า 2 ล้านราย ที่เข้าไปดูในเพจ studentloan.th มีการแชร์เกือบหมื่นครั้ง

ทั้งนี้ มีเสียงสะท้อนถึงมาตรการดังกล่าว จะครอบคลุมตรงจุดหรือไม่ 

1.ทำงานอิสระ และไม่มีงานเพราะโควิด อยากได้แบบพักชำระหนี้แบบคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้หรือไม่

2.ทำงานบริษัทเอกชน หัก 10 บาทต่อเดือน จนถึงมิถุนายน แต่พอเดือนกรกฎาคม จะให้ส่งยอดค้างทั้งหมด ช่วยก็เหมือนไม่ช่วยอะไรเลย ใช่หรือไม่

3.ผู้กู้ที่ส่งรายปี จ่ายปกติไม่เคยค้างชำระ ไม่เห็นมีมาตรการอะไรที่จะออกมาช่วยเหลือ ช่วยแต่คนไม่ชำระ หรืออย่างมากสุดก็ช่วยลดให้ตั้ง 3% สำหรับคนมีเงินก้อนมาปิดบัญชี เพราะคนที่จ่ายตรงก็มีผลกระทบเหมือนกัน ได้หรือไม่

4.น่าจะพักให้อัตโนมัติทุกคน เพราะตอนนี้ไม่มีจะจ่าย

5. ผิดหวัง ปีนี้มีปัญหาเศรษฐกิจ และเรื่อง covid-19 แต่มาตรการแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์ ชำระหลายปีไม่เคยผิดนัด แต่ปีนี้รายได้ลดลง แต่กลับไม่มีมาตรการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ต่างกับกลุ่มอื่น ที่ดูจะได้ประโยชน์กับมาตรการของ กยศ. มากกว่า แทนที่จะพักหนี้ลูกหนี้ชั้นดี ประมาณ 1 ปี

6.ทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบหมด ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ควรให้การช่วยเหลือที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกับคนที่จ่ายตรงทุกรอบ อย่าให้ต้องเสียกำลังใจ ควรทบทวนมาตรการ

7.เลื่อนการชำระหนี้ วันที่ 5 ก.ค. 63 ออกไปก่อน เริ่มจ่ายวันไหน เดือนไหน ปีไหน แจ้งให้ชัดเจน ไม่ต้องแยกแยะอะไรมากมาย มีผลกระทบกันทุกคน

8.ช่วยเหลือไม่ถูกจุด ไม่ช่วยทุกคน ออกมาตรการมาให้ซ้ำซ้อน น่าช่วยให้หยุดจ่ายไปเลยสัก 6 เดือน เพราะเดือนร้อนกันหมด

นี่เป็นบางส่วนของความคิดเห็น "ลูกหนี้" มีอยู่กว่า 2 ล้านราย ซึ่งเป็นวัยแรงงาน สร้างงาน สร้างครอบครัว และสร้างชาติ!!

...

 ล่าสุด (3 เม.ย.) กยศ. ขอชี้งแจง อธิบาย ช่วยลดเบี้ยปรับ ลดหักเงินเดือน แจงไม่พักหนี้ให้ผู้กู้ยืมทุกกลุ่ม ตามลิงค์นี้ กยศ.ชี้แจง