กยศ. อธิบาย! ช่วยลดเบี้ยปรับ ลดหักเงินเดือน แจงไม่พักหนี้ให้ผู้กู้ยืมทุกกลุ่ม

กยศ. อธิบาย! ช่วยลดเบี้ยปรับ ลดหักเงินเดือน แจงไม่พักหนี้ให้ผู้กู้ยืมทุกกลุ่ม

ขอชี้งแจง! กยศ. อธิบาย ให้เข้าใจง่ายๆ ช่วยลดเบี้ยปรับ ลดหักเงินเดือน แจงไม่พักหนี้ให้ผู้กู้ยืมทุกกลุ่ม

จากกรณีกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้นำเสนอรายงาน "กยศ. ช่วยยังไง? ปมพักชำระหนี้ ผ่อนผัน ลดเบี้ยปรับ ชะลอการบังคับคดี" และคอลัมนิสต์ได้แสดงทัศนะ "กยศ ออกมาตรการช่วยผู้กู้ยืม แต่เสียงสะท้อนดังกระหึ่ม!"  

ล่าสุดวันนี้ (3 เม.ย.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้ชี้แจงกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ต่อประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการออกมาช่วยผู้กู้ยืม ดังนี้

1.ผู้กู้ กยศ. ชำระปกติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) จะได้อะไรจากมาตรการนี้

หากผู้กู้ยืมมีความจำเป็นที่ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ตามกำหนด กองทุนได้ลดอัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระให้ จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5% ของเงินต้นที่ค้างชำระในปีนั้น เช่น กรณีค้างเงินต้น 10,000 บาท จะเสียเบี้ยปรับเพียง 50 บาทเท่านั้น จากเดิมที่ต้องเสียเบี้ยปรับ 750 บาท

2.การลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท ต่อคนต่อเดือน ให้ผู้กู้ยืมทุกรายในกลุ่มหน่วยงานเอกชน ทำไมกลุ่มราชการและรัฐ ถึงไม่ได้ลดจำนวนเงินหักเงินเดือนด้วย

เนื่องจากการหักเงินเดือนเป็นการดำเนินการตามกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 โดยผู้กู้ยืมกลุ่มราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในการจ้างงานน้อยกว่าภาคเอกชน ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมในหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานเอกชน ไม่สะดวกที่จะให้หักเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้ง สามารถขอปรับลดยอดการหักเงินเดือนลงได้ขั้นต่ำ 100 บาท/คน/เดือน โดยแจ้งผ่านทาง Line@กยศ.หักเงินเดือน 

3.ทำไมไม่พักหนี้ให้ผู้กู้ยืมทุกกลุ่ม ทำไมพักชำระหนี้ให้เฉพาะผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

 เนื่องจากกองทุน กยศ. เป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งนำเงินที่ชำระคืนจากผู้กู้ยืมรุ่นพี่มาให้ผู้กู้ยืมรุ่นน้อง โดยกองทุนไม่ได้ของบประมาณแผ่นดินมาตั้งแต่ปี 2561 หากต้องพักชำระหนี้ให้กับผู้กู้ยืมทั้งระบบ กองทุนจะไม่มีเงินพอเพียงให้น้องๆ รุ่นต่อไปที่ขาดโอกาสทางการศึกษา

ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อยกว่า 8,008 บาทต่อเดือน สามารถขอผ่อนผันไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ได้คราวละ 1 ปี ไม่เกิน 2 คราว โดยจะต้องไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ หรือต้องชำระหนี้ให้เป็นปกติก่อนจึงจะได้รับสิทธิในการผ่อนผัน

4. ผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีที่จ่ายทุกเดือน กองทุนฯ มีมาตรการช่วยเหลือด้านใดบ้าง  

กองทุนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขอเรียนชี้แจงว่า เนื่องจากผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล ซึ่งเป็นการยอมรับในเงื่อนไขการชำระเป็นรายเดือน โดยกองทุนและผู้กู้ยืมต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กองทุนจะชะลอการบังคับคดีไว้ ยกเว้นกรณีที่คดีใกล้ขาดอายุความ กองทุนจำเป็นต้องดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายแต่จะงดการขายทอดตลาดสำหรับผู้กู้ยืมที่ถูกบังคับคดีทุกกรณี ตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นปี 2563