บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐกับสถานบันเทิง กรณีเมาท์เทนบี ผับ

บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐกับสถานบันเทิง กรณีเมาท์เทนบี ผับ

ปรากฏการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิง เมาท์เทนบีผับ (MOUNTAIN B) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 หรือ ซานติก้าผับ ที่เกิดเหตุในลักษะใกล้เคียงกัน คือ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2551 ทั้งสองเหตุการณ์เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

การเปิดสถานบันเทิงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหลัก คือ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 และ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทั้งยังมีกฎหมายลูกภายใต้พระราชบัญญัติอีกจำนวนหลายฉบับ เช่น กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ.2555

แต่หากข้อเท็จจริงการเปิดสถานบันเทิงภายใต้กฎหมายสถานบริการ หากไม่ได้ขออนุญาตก็ไม่ได้หมายถึงว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะไม่ต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายต่อประชาชนเกิดขึ้น

โดยเฉพาะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งพิจารณาตามสถานที่เกิดเหตุ นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล ประธานกรรมการบริหาร(นายก) องค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเจ้าหนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ใช้อำนาจในการอนุญาตให้ก่อสร้างตามแบบแปลนที่ผู้ขออนุญาตได้ยื่นไว้แล้วก็ตาม ยังต้องมีหน้าที่สอดส่อง ตรวจสอบ และควบคุมดูแลมิให้การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตหรือฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญํติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

กฎหมายควบคุมอาคาร คือ กฎหมายที่ต้องการเพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร ไม่ว่าระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบการระบายอากาศ และระบบอื่นๆ

บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐกับสถานบันเทิง กรณีเมาท์เทนบี ผับ

ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคารเป็นกรณีโรงมหรสพ ไม่ว่าจะก่อสร้าง คัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ตรงที่ใดก็ตาม ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทุกกรณี

ซึ่งสถานบันเทิง เมาร์เทน บีผับ ถือเป็น โรงมหรสพ ตามความหมาย คือ เป็นอาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับแสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

หากพิจารณาในส่วนทฤษฎีความรับผิดกับภัยที่ถูกเปลี่ยนแปลง ความรับผิดในความเสียหายควรคำนึงถึงความผิด หรือความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย

แม้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนสังคมและมีความร้ายแรง จะไม่เท่ากับการกระทำโดยเจตนา แต่ก็สมควรที่จะมีการเรียกร้องค่าเสียหายกันได้ ในแง่ของการพิสูจน์ ถึงการกระทำหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ การกระทำนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่

ความเสียหายเป็นมาจากการกระทำของผู้นั้นหรือไม่ ซึ่งอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น ความรับผิดโดยไม่มีความผิด (Liability without fault) ความรับผิดโดยผลแห่งกฎหมาย (Liability as imposed by the law) และความรับผิดเด็ดขาด (Strict Liability)

บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐกับสถานบันเทิง กรณีเมาท์เทนบี ผับ

  ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ในพื้นที่  ในกรณีที่พบว่าสถานบริการและสถานประกอบการใดกระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเง้มงวด ทั้งทางอาญาทางปกครอง และในกรณีที่ปรากฎว่ามีการเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามกฎหมายของเจ้าพนักงานที่มีหน้านั้นๆ

 

เมื่อนายกเทศมนตรีในเขตเทศบาล หรือประธานกรรมการบริหาร(นายก) องค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากอำเภอย่อมต้องมีอำนาจตามพระราชบัญญํติควบคุมอาคาร พ.ศ 2522

เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงสามารถที่จะทำการตรวจสอบได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่ออาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นสถานบริการซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตนเองจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดดังกล่าวได้ทั้งนี้

ทั้งข้อเท็จจริงจากข่าวปรากฏว่า ร้านเมาท์เทน บีผับ(MOUNTAIN B) มีการต่อเติมและเปิดสถานบันเทิง โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งตั้งอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งที่ไม่อนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง

โดยมีรายงานว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 21.30 น. ร้านดังกล่าวได้ถูกตำรวจ สภ.พลูตาหลวง พร้อมด้วยปลัดอำเภอสัตหีบ เข้าตรวจค้นและจับกุมนายประสิทธิ์ รอดคร้าม ผู้ดูแลร้าน หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวว่า

สถานบริการแห่งนี้ มีการเปิดเพลงภายในร้านเสียงดังรบกวนผู้อื่น จึงนำกำลังเข้าตรวจสอบ โดยมีนายประสิทธิ์ แสดงตัวเป็นคนดูแลร้าน และรับสารภาพว่ามีการเปิดเพลงเสียงดังให้บริการลูกค้าที่มาใช้บริการภายในร้านจริง (https://www.nationtv.tv/news/378882001)

เทียบเคียงจากคดีศาลปกครอง อาคารที่ใช้เป็นสถานบันเทิง “ซานติกาผับ” ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้อำนวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ผู้อำนวยการเขตจึงสามารถที่จะทำการตรวจสอบได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่ออาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นสถานบริการซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตไม่มาก ทั้งยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตเคยเข้าไปตรวจที่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุถึง 3 ครั้ง ตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลขณะนั้น

ผู้อำนวยการเขตจึงไม่อาจอ้างว่าอาคารดังกล่าวได้มีการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหรือเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต และได้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมใช้โดยไม่มีใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้อง (ศาลปกครองสูงสุดที่ อ.222/2558)

ดังนั้น ตามกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยมีคำสั่งตามมาตรา 40(1) ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดังกล่าวระงับการกระทำดังกล่าว มีคำสั่งตามมาตรา 40(2) ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าวและจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณดังกล่าว

รวมทั้งหากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกรณีสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องสั่งเจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องต่อไป

หากนายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วแต่พื้นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ซึ่งหากได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เจ้าของอาคารก็จะไม่สามารถใช้อาคารดังกล่าวโดยผิดกฎหมาย และไม่เกิดเหตุเพลิงไหม้เป็นเป็นให้มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บได้

จึงอาจถือได้ว่าเจ้าพนักงานตามกฎหมายควบคุมอาคารกระทำละเมิดโดยการละเลยต่อหน้าที่ โดยปล่อยให้มีการดัดแปลงอาคารเปิดเป็นสถานบริการเมาท์เทนบีผับ

ดังนั้น เป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฎิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งอาจต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว.