"วิกฤติโควิด" กับการปฏิรูปการศึกษา ตีแผ่เหลื่อมล้ำในสังคม

"วิกฤติโควิด" กับการปฏิรูปการศึกษา ตีแผ่เหลื่อมล้ำในสังคม

วิกฤติโควิด-19 ไม่ได้แค่ส่งผลกระทบชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหาในมิติของเศรษฐกิจและการสาธารณสุขไทยและทั่วโลก แต่ยังเปิดโปงความเหลี่อมล้ำและปัญหาในสังคมและวงการการศึกษา

วิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบให้เกิดคำสั่งปิดเมือง เพื่อป้องกันการระบาดของโรคทำให้สถานศึกษาในทุกระดับชั้นจำต้องหยุดทำการ เกือบ 2 ปีแล้วที่เราเผชิญกับการปิดเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่การเรียนการสอนก็ยังต้องดำเนินต่อไป ถูกต้องแล้วที่ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาจำต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่ออำนวยให้การเรียนการสอนยังดำเนินต่อไป

วิกฤติโควิดทำให้เกิดภาวะจำยอมของผู้ปกครองที่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนของโรงเรียนมากขึ้นในกรณีของเด็กเล็ก ขณะที่บทเรียนและเนื้อหาออนไลน์สำหรับเด็กโตที่เคยถูกถกเถียงกันในห้องเรียนปิด ก็ถูกเปิดทำให้เป็นสาธารณะมากขึ้น สังคมจึงมีโอกาสได้เห็นและถกเถียงถึงความสำคัญของการเรียน หลักสูตรและเนื้อหา

ปัญหาที่เคยถูกซุกไว้ใต้พรมในวงการการศึกษาภายในห้องเรียนที่มีครูเป็นผู้ผูกขาดความถูกต้องแต่เดิมนั้นถูกท้าทายโดยอัตโนมัติ ทั้งจากผู้ปกครองและสังคมที่ก็ตั้งคำถามและเรียกร้องให้มีการปรับปรุงหลักสูตรที่ทันโลกพร้อมรับการสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การตรวจทานเนื้อหาให้ถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนข้อเรียกร้องถึงบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

เพราะโลกและสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขณะที่ระบบการศึกษาที่ล้าหลังของภาครัฐไม่ว่าจะในรัฐไทยหรือในรัฐต่างชาติก็เป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ยาก จึงทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชนยังคงเป็นที่ยอมรับเพราะผู้ปกครองเชื่อว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเหล่านั้นจะอุดช่องว่างได้ไม่มากก็น้อย

ในปัจจุบัน มีโรงเรียนทางเลือกมากมายที่เน้นความถนัดเฉพาะทาง หรือมีแนวทางเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางโรงเรียนเน้นวิชาการ บางแห่งเน้นกีฬาฝึกความเป็นผู้นำ บางแห่งเน้นด้านดนตรีและศิลปะซึ่งก็เป็นที่นิยมมากขึ้น ขณะที่บางโรงเรียนเน้นการออกแบบหลักสูตรที่ใช้ได้ในชีวิตจริง มีวิชาที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ได้จริง เช่น การตัดต่อคลิปในยูทูบ การทำ Photoshop เป็นต้น

นอกเหนือจากหลักสูตรวิชาการแล้ว โรงเรียนหลายแห่งยังส่งเสริมทักษะที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและสังคมไทยในสังคมยุคดิจิทัล อาทิ การส่งเสริมในรูปแบบของชมรม หรือการอบรมเรียนพิเศษเพิ่มเติมตามความชอบของนักเรียน อาทิ การประกอบหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่น การโค้ดดิ้ง (Coding) การออกแบบเกม ตลอดจนการออกแบบ 3D

วิสัยทัศน์และความทะเยอทะยานของผู้บริหารภาคการศึกษาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้องค์กรมีความทันสมัย โครงการที่ถูกวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้อาทิ การทำดาวเทียมหรือการส่งจรวด ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ได้รับคำวิจารณ์มากกว่าคำชม 

แต่หากมองให้ลึกแล้ว เป้าหมายความสำเร็จที่เส้นชัยปลายทางไม่ได้สำคัญไปกว่ากระบวนการเรียนรู้เลย เพราะการเรียนรู้ได้เกิดขึ้นแล้วระหว่างทาง ทักษะได้เกิดขึ้นแล้วระหว่างการลองผิดลองถูก ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการจุดประกายทางความคิดเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก

การพัฒนาและปฏิรูประบบการศึกษานอกเหนือจากความจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นในระดับนโยบาย งบประมาณทรัพยากรแล้ว ในระดับปฏิบัติการ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง นักเรียน ก็จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การเรียนรู้พัฒนาทักษะไม่ได้ถูกผูกขาดแต่ในห้องเรียนอีกต่อไป โควิดได้ผลักดันให้สังคมจำต้องนำเทคโนโลยี ความทันสมัยมาใช้ ข้อมูลข่าวสารสามารถหาได้นอกตำรานอกห้องเรียนเป็นข้อมูลความรู้ทางเลือก ซึ่งก็สามารถช่วยอุดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง

การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องยากเป็นเรื่องใหญ่ เช่นเดียวกับการเดินทางไกลที่สำคัญอยู่ที่การตัดสินใจเริ่มต้นก้าวแรกเสมอ