ทั่วโลกตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนแค่ไหน? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ทั่วโลกตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนแค่ไหน? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นใหญ่ของศตวรรษที่ 21 เราต่างได้รับข่าวสารในเรื่องนี้มาอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ได้มีความรู้และความตระหนักมากในเรื่องนี้นัก

โดยเฉพาะเมื่อประเทศเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ในช่วงเกือบสามปีที่ผ่านมา และต่อด้วยผลกระทบจากไฟสงคราม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัญหาเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเผชิญ

อย่างไรก็ตาม เราต่างก็ได้รับผลกระทบบางส่วนจากภาวะโลกร้อนแล้ว และกำลังจะได้รับผลกระทบสูงขึ้นมากในหลายมิติในอนาคตอันใกล้ ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโลก (Global Problem) ซึ่งต้องใช้การแก้ปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก แต่คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยตื่นตัวแค่ไหนต่อภาวะโลกร้อน? เพราะหากเป็นเรื่องที่คนไม่ให้ความสำคัญ การแก้ไขปัญหาเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งก็คงจะไม่สามารถสำเร็จลงได้

การสำรวจล่าสุดของบริษัท Meta ร่วมกับโครงการ Yale Program on Climate Change Communication ของม.เยล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วโลกต่อประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในช่วงเดือน มี.ค.และ เม.ย. 2565 การสำรวจนี้ทำผ่านผู้ใช้ Facebook มากกว่า 100,000 คนจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก

ทั่วโลกตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนแค่ไหน? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

(ภาพถ่ายโดย Valdemaras D.)

ผลสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ในเกือบทุกประเทศกล่าวว่าพวกเขาค่อนข้างกังวลหรือกังวลมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้ตอบในเม็กซิโก (95%) โปรตุเกส (93%) และชิลี (93%) มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะบอกว่าพวกเขา “กังวลมาก” หรือ “ค่อนข้างกังวล” เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามจากเยเมนและจอร์แดนมีความกังวลน้อย สำหรับประเทศไทย ผู้ตอบแบบสำรวจมี 15% ที่บอกว่ากังวลมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 53% ที่ค่อนข้างกังวล ในขณะที่ 25% ระบุว่าไม่ค่อยกังวลมาก และ 6% ที่ไม่กังวลเลย

ทั้งนี้ ในเกือบทุกประเทศ คนส่วนใหญ่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อพวกเขาภายในอีกสองทศวรรษข้างหน้า ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่สองในสามของประเทศที่ทำการสำรวจคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นอันตรายต่อคนรุ่นต่อไปในอนาคตอย่างมาก

ผู้ตอบแบบสำรวจในฟินแลนด์ (92%) และฮังการี (90%) มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะบอกว่าพวกเขามีความรู้ “มาก” หรือ “ในระดับปานกลาง” เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเทศส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาไม่ได้ยินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในชีวิตประจำวันของพวกเขา คนยุโรปบอกว่าพวกเขาได้ยินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

ทั่วโลกตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนแค่ไหน? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

(ภาพถ่ายโดย Pixabay)

สำหรับประเทศไทย ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเพียง 4% ที่บอกว่าตนเองมีความรู้มากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 37% ระบุว่ามีความรู้ปานกลาง ในขณะที่ 41% ระบุว่ามีความรู้น้อย และ 17% ที่บอกว่าตนไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย ในขณะที่คนไทย 21% ได้ยินเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง 14% ได้ยินเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่ 7% ที่ไม่เคยได้ยินเลย

การสำรวจยังพบว่า คนส่วนใหญ่ในเกือบทุกประเทศคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์อย่างน้อยบางส่วน คนยุโรปมักจะตอบได้อย่างถูกต้องว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยผู้ตอบแบบสอบถามในสเปน (65%) สวีเดน (61%) และไต้หวัน (60%) ไทย (39%) คิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

คนส่วนใหญ่กล่าวว่าประเทศของตนควรลดการปล่อยก๊าซที่ส่งผลต่อการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ผู้คนมีมุมมองที่แตกต่างกันว่า ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยประชาชนส่วนใหญ่ใน 43 ประเทศกล่าวว่ารัฐบาลของตนควรเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนส่วนใหญ่ใน 42 ประเทศกล่าวว่าบุคคลควรรับผิดชอบ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ใน 25 ประเทศกล่าวว่าธุรกิจควรรับผิดชอบ ในกรณีประเทศไทย ผู้ตอบแบบสำรวจ 31% คิดว่ารัฐบาลควรรับผิดชอบสูงสุด 28% คิดว่าประชาชนควรเป็นผู้รับผิดชอบ และ 14% คิดว่าภาคเอกชนควรรับผิดชอบ

ประชาชนทุกประเทศต่างคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรมีความสำคัญสูงสำหรับรัฐบาลของตน ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศในอเมริกาเหนือและใต้กล่าวว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ที่ “สูงมาก” ส่วนประเทศไทย ประชาชนที่ตอบแบบสำรวจ 21% คิดว่าประเด็นนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรเป็นนโยบายที่อยู่ในลำดับความสำคัญสูงมากของรัฐบาลและ 34% คิดว่าควรอยู่ในลำดับความสำคัญสูง

การสำรวจขนาดใหญ่ในครั้งนี้ได้ช่วยเปิดเผยมุมมองของประชาชนกว่า 200 ประเทศทั่วโลกถึงความรู้ ความตื่นตัว และความคิดเห็นของตนต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น่าดีใจที่โดยภาพรวมแล้วผู้คนตื่นตัวกันในระดับสูงพอสมควร 

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจคนไทยยังพบว่ามากกว่า 50% ยังขาดความรู้หรือไม่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย ซึ่งทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนมีความรู้กันอย่างทั่วถึงต่อไป เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนสูงมาก 

หากประชาชนตื่นตัวสูงขึ้นมาก ก็จะช่วยให้เรามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยกระดับความสำคัญในเชิงนโยบาย และเร่งปรับตัวก่อนที่ผลกระทบอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

คอลัมน์ คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
facebook.com/thailandfuturefoundation