อนาคต ‘โอทอป’ ยุคต่อไป | ธราธร รัตนนฤมิตศร

อนาคต ‘โอทอป’ ยุคต่อไป | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ไทยมีทุนที่หลากหลาย ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเป็นสินค้าและบริการที่มีเสน่ห์และน่าสนใจได้ โดยได้หยิบยืมโมเดล “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ OVOP (One Village One Product) จาก จ.โออิตะ ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาเป็นโมเดล “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (One Tampon One Product) หรือ “โอทอป”

สินค้าโอทอปหลายรายการประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ก็มีหลายสินค้ามากที่ยังขาดเสน่ห์ ดูเฉย เน้นขายในท้องถิ่นและไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรในมุมมองผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ

โมเดล OVOP ของ จ.โออิตะ เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังไปทั่วโลก มีสินค้ากว่า 300 รายการ นักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนเข้าไปท่องเที่ยวยังโออิตะ เปลี่ยนจากจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำสุดในเกาะคิวชูให้ฐานะดีขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จนชาวบ้านที่ออกไปทำงานที่อื่นได้กลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง

 

หากเราย้อนกลับไปดูหลักปรัชญาของ OVOP ของ จ.โออิตะ จะพบว่าประกอบด้วย 3 หลักการ ได้แก่ 

  1. ท้องถิ่นสู่สากล” เน้นการสร้างประโยชน์จากภูมิปัญญาและทรัพย์สินในท้องถิ่น ให้เป็นพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสรสชาติและความภาคภูมิใจของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยผลิตภัณฑ์จะต้องได้มาตรฐานสากลพร้อมจะเสิร์ฟให้ผู้บริโภคได้ทั่วโลก
  2. พึ่งพาตนเองและสร้างสรรค์” เน้นการพึ่งพาตนเองของผู้คนในท้องถิ่น ภาครัฐเป็นเพียงตัวช่วยให้การหนุนเสริมหรือช่วยเหลือทางเทคนิคเท่านั้น เป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน เปิดพื้นที่ เปิดอิสระให้ท้องถิ่นสร้างสรรค์เต็มที่ ภาครัฐเข้ามาช่วยเติมเต็มเพื่อให้ต่อยอดไปสู่โลก

อนาคต ‘โอทอป’ ยุคต่อไป | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ภาพโดย Bangkok Airport 

3.“พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งเป็นหัวใจของ OVOP ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาคนไปพร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อคนมีการพัฒนา โดยเฉพาะในด้านความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์และการพึ่งพาตนเอง คนก็จะไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ OVOP ให้ดีขึ้นต่อไป

เมื่อนำปรัชญาของ OVOP สามประการมาทบทวนกับโอทอปของไทยที่ผ่านมา พบว่าเรายังมีช่องว่างในการพัฒนาอีกมาก งานวิจัยของวทัญญู (2019) ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การนำนโยบายไปปฏิบัติของโอทอปไทยมีลักษณะเป็นแบบจาก “บนลงล่าง” ภาครัฐเป็นผู้ชี้นำ พัฒนานโยบายและโครงการเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่โครงการ OVOP ของโออิตะมีลักษณะเป็นการพัฒนาแบบ “ล่างขึ้นบน” (Bottom-Up) ประชาชนมีบทบาทเป็นตัวหลัก

ในส่วนของการนำปรัชญาสามประการของ OVOP มาใช้พบว่าด้านท้องถิ่นสู่สากล กรณีโอทอปยังขาดความเป็นสากล ขาดเอกลักษณ์ มีสินค้าซ้ำๆ กันจำนวนมาก ในขณะที่กระบวนการ OVOP ของญี่ปุ่นเป็นการพัฒนาสินค้าจากทรัพยากรต่างๆ ที่มีในชุมชนในท้องถิ่น ทำให้เกิดสินค้าที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่น และเข้าถึงรสนิยมของตลาดสากล

หลักการ “พึ่งพาตนเองและสร้างสรรค์” นโยบายโอทอป ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบาย ในขณะที่นโยบาย OVOP ของญี่ปุ่นมุ่งให้เกิดความคิดริเริ่มจากคนในชุมชน ภาครัฐใน จ.โออิตะ คอยให้การสนับสนุนชุมชนในด้านเทคโนโลยีและการตลาดเป็นสำคัญ ส่วนประชาชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทุกๆ ด้าน

สุดท้ายหลักการ “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์นโยบายโอทอปเป็นนโยบายมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตัว “สินค้า” ทำให้ละเลยต่อการพัฒนา “คน” ไป ในขณะที่นโยบาย OVOP มีเป้าหมายสูงสุด คือการพัฒนาคน มีการตั้งโรงเรียนพัฒนาผู้นำชุมชนเพื่อสร้างคนกลับไปพัฒนาภายในชุมชนของตน

อนาคต ‘โอทอป’ ยุคต่อไป | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ภาพโดย otopchiangmai

แม้งานวิจัยจะพบว่าประเทศไทยไม่ได้เดินทางรอยปรัชญาของโออิตะเท่าใดนัก แต่ก็ถือว่าเป็นประเทศแรกที่ได้ดำเนินโครงการนี้ในลักษณะทั่วประเทศ ที่ผ่านมาจึงมีทั้งโอทอปที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ดังนั้น หลังจากการผลักดันสินค้าโอทอปมาร่วม 20 ปี

เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ จึงจำเป็นต้องสร้างเอส-เคิร์ฟใหม่ให้กับโอทอป โดยกลับไปหาปรัชญาพื้นฐาน แล้วชุบชีวิตให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งควรเริ่มต้นจากการประเมินผลงานโอทอปครั้งใหญ่อีกสักครั้ง แล้วจึงสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ให้กับอนาคตโอทอปในยุคถัดไป

ในอนาคต สินค้าโอทอปหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการพลวัตโลก โดยเฉพาะยุคหลังโควิด-19 ซึ่งผู้บริโภคให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการให้คุณค่ากับเรื่องความยั่งยืน ความเท่าเทียม ความแท้จริง ความหลากหลาย และสุขภาพที่ดี คุณค่าเหล่านี้จะต้องเข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์โอทอปยุคใหม่

นอกจากนี้ โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ช่องทางออนไลน์และการชำระเงินแบบ cashless มีความสะดวกง่ายดาย โอกาสจึงเปิดขึ้นมาก โดยเฉพาะหากได้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และคล่องเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ ได้มีโอกาสกลับบ้านเกิด

ภาครัฐจึงควรมีโครงการจูงใจให้คนกลับบ้าน สร้าง OTOP Academy เพื่อฝึกฝนผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับเข้าไปชุบชีวิตผลิตภัณฑ์เดิม ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดรับกับเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะช่วยให้ท้องถิ่นต่างๆ มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงปรัชญา “ท้องถิ่นสู่สากล” ของโออิตะในบริบทยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง

คอลัมน์ คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
facebook.com/thailandfuturefoundation