บันไดสู่ฝันที่เป็นจริงของยานยนต์ไฟฟ้าไทย | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

บันไดสู่ฝันที่เป็นจริงของยานยนต์ไฟฟ้าไทย | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

แถลงการณ์ของนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวถึง 3 แกนสร้างอนาคตของประเทศ โดยส่วนหนึ่งของแกน คือ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะพยายามทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของโลกในการผลิต ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะแวดวงไหน ต้องพูดกันถึงเรื่องน้ำมันแพง เพราะกระทบทุกวงการจริง ๆ

มีทั้งความคาดหวัง และการเรียกร้องให้ปรับลดราคาน้ำมันลงมาโดยเร่งด่วน จนไฟลามทุ่งร้อนถึงขั้นให้เปลี่ยนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเลยทีเดียว แต่ท่ามกลางปัญหาร้อน มีสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยได้ตามที่หลายฝ่ายคิด นั่นก็คือ ยานยนต์ไฟฟ้า แต่มองดูหนทางข้างหน้า ยังคงอีกยาวไกลที่ต้องอาศัยนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน 

หากใครได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก คงจะเห็นว่า หลายประเทศได้มีนโยบายกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เหตุที่ทั่วโลกต้องการผลักดันการปรับเปลี่ยนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบนั้น เนื่องจากข้อดีหลายด้าน

ไม่ว่าจะในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาพลังงาน ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงวิกฤติน้ำมันราคาแพงทั่วโลก ด้านการขับขี่ที่นุ่มนวล และเงียบ ที่สำคัญคือ ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะก่อไอเสียต่ำ จึงช่วยลดมลภาวะ 

ในด้านของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี ก็ตั้งเป้าหมายผ่านมาตรการ 30@30 คือ มุ่งให้ไทยเป็นแหล่งผลิตรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) แต่ในส่วนมาตรการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุ หรือ เรียกง่าย ๆ คือ จุดชาร์จแบต รวมทั้ง การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่สถานีอัดประจุ และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องนั้น กลับยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานและแนวนโยบายทั้งหมดแล้ว พอจะสรุปเป็นบันไดสูงชัน 3 ขั้นที่ไทยต้องไต่ระดับเพื่อให้ยานยนต์ไฟฟ้าไทยไปสู่ฝันที่เป็นจริง 

ขั้นที่ 1 การทำให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาจับต้องได้ ถูกกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขั้นนี้ต้องฝ่าฟันปัญหา 2 ข้อใหญ่

  • ข้อแรก ด้วยจำนวนการผลิตที่ไม่สูงพอ ทำให้ผู้ผลิตยังไม่สามารถก้าวถึงต้นทุนการผลิตต่ำด้วยปริมาณ (Economies of Scale)
  • ข้อสอง เกิดจากการที่วัตถุดิบ ชิ้นส่วนหลัก และเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ต้องอาศัยการพึ่งพาจากต่างประเทศ เช่น เหล็กหรือโลหะชนิดพิเศษ ซิลิคอนสำหรับชิปเซมิคอนดักเตอร์ และลิเธียมสำหรับแบตเตอรี่ ทำให้การควบคุมต้นทุนและอุปทานของปริมาณชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบนั้นเป็นไปได้ยาก

อีกทั้งการนำเข้ายังต้องเผชิญกับปัญหาของความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้เท่าใดและอย่างไร จึงจะเพียงพอ เหมาะสม และเป็นธรรมต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ 

 

ขั้นที่ 2 การเพิ่มเติมแรงจูงใจให้คนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แรงจูงใจที่ดีที่สุดก็คือ การลดภาษีและภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลได้มีมาตรการลดอากรขาเข้า 40% ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% และให้เงินอุดหนุน 70,000-150,000 บาทสำหรับรถยนต์ และเงินอุดหนุนบวกลดภาษี 18,000 บาท สำหรับรถจักรยานยนต์

แต่อย่างไรก็ตาม อาจยังไม่มากเพียงพอให้คนยอมเปลี่ยนใจมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รัฐจึงควรเพิ่มแรงจูงใจผ่านมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการทางตรงด้วยการยกเว้นภาษีต่อทะเบียนรถประจำปีระยะหนึ่ง และมาตรการทางอ้อมด้วยการให้ยานยนต์ไฟฟ้าจอดรถได้ในพื้นที่ที่เปิดให้โดยเฉพาะ และจอดได้ฟรี โดยให้การสนับสนุนเอกชนเจ้าของพื้นที่จอด ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้แพร่หลายในยุโรป

และนับเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปจัดงบประมาณสนับสนุนเรื่องแรงจูงใจนี้กว่า 7 แสนล้านบาท เพราะตั้งเป้าหมายให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 30 ล้านคันใน 8 ปีข้างหน้า 

 

ขั้นที่ 3 การทำให้เกิดความสะดวกและขจัดอุปสรรคในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การเพิ่มจุดชาร์จแบต ให้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะนี้ ไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนเกือบ 1 แสนคัน แต่มีจุดชาร์จแบตเพียง 944 แห่งทั่วประเทศ เทียบกับขนาดพื้นที่ของไทย 5 แสนกว่า ตร.กม. เฉลี่ยแล้ว คือ มี 1 จุดทุก ๆ 500 ตร.กม. ซึ่งคือขนาดของจังหวัดภูเก็ตหรือสมุทรสงครามทั้งจังหวัด

และถึงแม้ว่าจะมีการวางแผนตั้งเป้าให้มีจุดชาร์จแบตเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 แห่งในปลายปี 2565 นี้ แต่เมื่อเทียบกับประเทศต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีไบเดนประกาศจะสร้างจุดชาร์จแบต 500,000 แห่ง เมื่อเดือนที่แล้ว ไทยก็ยังห่างไกลอีกหลายช่วงตัว 

ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรจัดการคือ การขอร้องแกมบังคับให้บริษัทน้ำมันรายใหญ่ ๆ กำไรสูง ซึ่งหลายบริษัทประกาศผลกำไรในปี 2564 สูงกว่าแสนล้านบาท ยอมขาดทุนกำไรและเร่งติดตั้งจุดชาร์จแบตให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกปั๊มน้ำมันมากกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปั๊มน้ำมันเองก็สามารถหารายได้ทางอ้อมผ่าน การจับจ่ายใช้สอยของเจ้าของรถระหว่างรอการชาร์จแบต 

นี่คือบันไดสูงชัน 3 ขั้นใหญ่ที่หากไทยสามารถไต่ขึ้นไปได้ ฝันของยานยนต์ไฟฟ้าไทยก็คงจะพอเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
 

คอลัมน์ เปิดมุมคิด เศรษฐกิจทันสมัย
ผศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย 
พรรคประชาธิปัตย์