หัวใจของการบริหารในยามยาก | บวร ปภัสราทร

หัวใจของการบริหารในยามยาก | บวร ปภัสราทร

ยามยากที่ยาวนาน ส่งผลให้ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียด เคยทำงานอย่างสบายใจ วันนี้งานวิจัยหนึ่งบอกว่า เกือบสองในสามของคนทำงานรู้สึกเครียดกับงานดั้งเดิมของตนมากขึ้น อีกงานหนึ่งบอกว่าแรงกดดันที่มาจากผู้บริหารส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวของคนทำงานมากกว่าที่เป็นมาแต่เดิม

พร้อมกับที่อีกงานหนึ่งบอกว่า การบริหารงานในยามนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันในการทำงานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน คนบริหารเองก็เครียดกับการที่ต้องเร่งรัดผลงานให้เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการทำงานที่เผชิญหน้ากับสารพัดวิกฤติ สุดท้ายเลยกลายเป็นการส่งมอบความเครียดในการงานในชีวิตประจำวัน แล้วลงเอยด้วยผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจของทั้งคนบริหารและคนทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไปถึงขั้นนั้นแล้ว ผลงานไม่มีทางที่จะดีขึ้น มีแต่จะแย่ลงมากหรือน้อยเท่านั้น

หัวใจสำคัญของการบริหารงานในวันนี้คือ ความเข้าอกเข้าใจ นึกออกว่าถ้าตนเองเป็นคนทำงานคนนั้น ตนจะกำลังพบเจอปัญหาอะไรอยู่บ้าง มีอะไรบ้างที่น่าจะสร้างความเครียดให้กับคนนั้น การบริหารบนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจจะมองเห็นคนทำงานเป็นคน ไม่ใช่เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งของการผลิตผลงาน กินกล้วยแล้วไม่ส่งเปลือกไปให้ลูกน้องทิ้งให้ แทนที่จะเดินไปทิ้งเองอีกไม่กี่ก้าว

 

หัวใจของการบริหารในยามยาก | บวร ปภัสราทร

(ภาพถ่ายโดย Tim Gouw)

 

งานวิจัยอีกงานหนึ่งบอกว่า ที่ใดก็ตามที่คนทำงานรู้สึกว่าผู้บริหารเข้าอกเข้าใจตนเอง อัตราการคงอยู่ของคนทำงานที่นั่นจะเพิ่มขึ้น เกินกว่าครึ่งหนึ่งไม่คิดเรื่องการเปลี่ยนงาน ในขณะที่กว่าสองในสามทุ่มเทให้กับการงานเพิ่มมากขึ้น แม้การงานจะมีความกดดันเพิ่มมากขึ้นก็ตาม ครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานนั้นมากขึ้น ส่งผลให้เก้าในสิบคนยืนยันว่าตนเองมีชีวิตประจำวันที่ดีขึ้น จนสามารถทนทำงานภายใต้แรงกดดันนานาประการจากปัจจัยภายนอกได้เป็นอย่างดี

ความเข้าอกเข้าใจจากผู้บริหารไม่มีวันใดที่เป็นความต้องการจากคนทำงานมากเท่ากับในวันนี้ วันที่เราติดอยู่กับความยากเย็นที่ไม่มีแววว่าจะสิ้นสุดมาเป็นแรมปี เราอยู่กับความมืดมนมายาวนานกว่าที่คาดคิดไว้ และความมืดมนนั้นยังไม่มีท่าว่าจะยุติลงไปในเร็ววันนี้

การเข้าใจความจำเป็น และการตระหนักถึงความรู้สึกของคนทำงาน ไม่อาจแสดงออกด้วยคำพูด แต่แสดงออกได้ด้วยการกระทำเท่านั้น ถ้อยคำหวานหูที่ปราศจากการกระทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ไม่อาจสร้างสำนึกเรื่องความเข้าอกเข้าใจที่ผู้บริหารมีต่อคนทำงานให้เกิดขึ้น

ผู้บริหารต้องมีการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าตนเองเข้าใจสถานการณ์ที่คนทำงานทุกคนกำลังพบเจออยู่ โดยที่แยกแยะได้ว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างไร น้ำมันแพงสำหรับคนขับรถมาทำงาน แตกต่างไปจากน้ำมันแพงของคนที่ขึ้นรถโดยสารมาทำงาน การต้องมาทำงานท่ามกลางการพุ่งขึ้นของโรคระบาดสำหรับคนโสด กับคนมีครอบครัวแตกต่างกันมาก

 

หัวใจของการบริหารในยามยาก | บวร ปภัสราทร

(ภาพถ่ายโดย Kamaji Ogino)

 

ความเข้าอกเข้าใจยืนยันได้จากการที่ผู้บริหารยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม และทันเหตุการณ์ กับคนทำงานทุกคนที่พบเจอปัญหาทั้งในด้านการงานและส่วนตัว ชีวิตที่เหมือนคนกำลังจะจมน้ำยามนั้นใครมาช่วยเหลือย่อมได้ใจไปเกินครึ่ง

การแสดงความตระหนักในความรู้สึกของคนทำงาน สำคัญไม่น้อยไปกว่าความเข้าใจในความจำเป็นของคนแต่ละคน ซึ่งอาจแสดงออกให้เห็นโดยการทำตนเป็นผู้รับฟังที่ดี มากกว่าการเดี่ยวไมโครโฟนเป็นประจำทุกครั้งที่พบเจอคนทำงาน มีแต่คอยบอกเขาว่าฉันทำนั่นทำนี่ แต่ไม่เคยตั้งใจฟังว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้างกับที่ผู้บริหารไปทำนั่นทำนี่ 

ทุกครั้งที่มีการตัดสินใจเรื่องสำคัญในการงานที่กระทบต่อชีวิตคนทำงาน ต้องมีเวทีให้เขาบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อเรื่องนั้น อย่าสร้างบรรยากาศให้เข้าใจกันไปเองว่า ตัดสินใจกันไปโดยไม่แคร์หัวอกหัวใจของคนทำงาน

การงานในยามยากหนักหนากว่าในภาวะปกติ การวิเคราะห์งานอย่างจริงจังอาจทำให้รู้ว่างานในปริมาณแค่ไหนที่จะไม่ไปสร้างความเครียดกับคนทำงานมากเกินกว่าที่สมควรจะมี งานแค่ไหนยากเกินไปจนกลายเป็นแรงกดดันที่ไปกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกาย และจิตใจ ที่สำคัญคือ ต้องคอยดูไว้เสมอว่ามีใครบ้างที่ใกล้จะหมดไฟ แล้วหาทางช่วยเติมพลังกันได้ทันเวลา

ความเข้าอกเข้าใจสะท้อนให้เห็นได้จากการกระทำ ไม่ใช่จากคารมของผู้บริหาร.

 

คอลัมน์ : ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี