สั่งการมากแต่ผลงานไม่มี | บวร ปภัสราทร

สั่งการมากแต่ผลงานไม่มี | บวร ปภัสราทร

ผู้นำบางคนเชื่อไปว่าถ้าฉันสั่งการแล้ว ทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างที่ฉันสั่ง จนการสั่งการกลายเป็นความสำเร็จที่กล่าวอ้างกับผู้คนอยู่เป็นประจำ

เรื่องนี้สั่งการไปแล้ว เรื่องนั้นจะรีบสั่งการทันที แต่การสั่งการของคนเก่ง กับการสั่งการของคนที่ไม่เก่ง ผลลัพธ์เกิดขึ้นไปคนละทิศคนละทาง คนเก่งรู้ว่าอะไรสั่งการได้ อะไรที่สั่งไปแล้ว อย่างไรก็ทำไม่ได้  สั่งการเป็นสรณะโดยคนที่เก่งไม่พอ จะมีแต่คำสั่งเต็มไปหมด แต่ไร้ผลงานจริง

ตำราเรียกจอมสั่งการว่า autocratic leader ที่ผูกขาดการตัดสินใจสั่งการแทบทุกเรื่องไว้ที่ตนเอง สามารถตัดสินใจในทุกเรื่องได้โดยไม่มีการรับฟังใดๆ จากคนทำงาน หรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้น ซึ่งถ้าเป็นคนเก่งรอบรู้ในวงการนั้นเป็นอย่างดี การผูกขาดการตัดสินใจสั่งการย่อมทำให้เดินหน้าไปได้เร็วขึ้น จนอาจเกิดความสำเร็จมากกว่าที่จะตัดสินใจภายใต้ประชาพิจารณ์

คนนั้นว่าอย่างนี้ดี คนนี้ว่าต้องอย่างนั้น มักไม่ค่อยจะทันอกทันใจ แต่ลองนึกในทางกลับกันว่าถ้าคนสั่งการไม่ค่อยจะรู้เรื่องอะไร แต่ชอบนั่งหัวโต๊ะสั่งการไปทุกเรื่อง อะไรจะเกิดขึ้นตามมาบ้าง 

 

สั่งการมากแต่ผลงานไม่มี | บวร ปภัสราทร

(ภาพถ่ายโดย Yan Krukov)

 

เรื่องแรกคือ คนทำงานที่มีสติปัญญาโดยทั่วไปมักต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ อยากช่วยคิดก่อนตัดสินใจ ดังนั้นเมื่อเจอจอมสั่งการ คนทำงานมักไม่รู้ว่าที่ได้รับการสั่งการมานั้นจะทำให้เกิดผลขึ้นได้อย่างไร ตัวเองก็คิดไปคนละทางกับที่ได้รับการสั่งการมา ที่สั่งมากับที่คิดไว้ไม่ตรงกัน การสั่งการตามความปรารถนาของคนสั่ง กับสั่งการตามความรู้ความเข้าใจในการงานนั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน 

การสั่งตามความรู้ความเข้าใจในการงานจะสั่งเมื่อเห็นหนทาง แต่สั่งตามปรารถนาสั่งโดยไม่รู้ว่าหนทางที่จะไปสู่การบรรลุผลตามการสั่งการนั้นจะต้องกระทำอย่างไรบ้าง คนที่รับคำสั่งการตามปรารถนานั้นไปทำ ถ้ารู้วิธีทำก็คงไม่ยุ่งยากอะไรนัก แต่ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่คนทำก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร งานที่ได้จากการสั่งการเลยกลายเป็นคนละอย่างกับที่คนสั่งอยากได้ 

พอไม่ได้ดังที่ปรารถนา จอมสั่งการก็มักจะเล่นงานคนทำว่าบกพร่อง สั่งให้ประหยัดการการใช้น้ำมันโดยลดการเดินทาง แต่ไม่ยอมบอกว่าจะให้ทำอย่างไรถึงจะทำงานได้ตามเดิมโดยมีการเดินทางที่ลดลง พอเดินทางลดลงแล้วงานลดลงตามไปด้วย ก็โดนเล่นงานว่าไม่ขยันทำงานอย่างเพียงพอ 

 

สั่งการมากแต่ผลงานไม่มี | บวร ปภัสราทร

(ภาพถ่ายโดย Sora Shimazaki)

 

ดังนั้น หากตกอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องทำงานกับจอมสั่งการ ให้พยายามยึดหลักการทำงานแบบฝักชีโรยหน้าเอาไว้ ผลงานจริงจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แต่จงใช้สติปัญญาทั้งหมดเพื่อประดิษฐ์ผักชีมาโรยไว้อวดเป็นผลงาน อย่ากังวลว่าองค์กรจะเป็นอย่างไร เอาตัวรอดไปให้ได้ก่อน แล้ววันหน้าเมื่อจอมสั่งการพ้นเก้าอี้ไปแล้ว ค่อยมาช่วยกันกอบกู้องค์กรกันใหม่

งานวิจัยยืนยันตรงกันว่า ถ้าจอมสั่งการทำงานอยู่นานสักระยะหนึ่ง อาการนี้จะกระจายลงสู่การบริหารในระดับรองลงมา กลายเป็นวัฒนธรรมการนำองค์กรที่เป็นพิษ คือผู้บริหารทุกระดับจะแปลงร่างเป็นจอมสั่งการ จนไม่มีช่องทางหลงเหลือสำหรับการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ มีแต่ทำตามที่สั่งการแบบผักชีโรยหน้า

ทั้งองค์กรจะจมอยู่กับถ้อยคำสั่งการ ที่ไม่ค่อยจะไปกันได้กับทั้งทิศทางกลยุทธ์ หรือแผนปฏิบัติการใดๆ มีเหตุการณ์อะไรมากระทบเรื่องใด ก็เร่งสั่งการในเรื่องนั้น เหมือนไล่ดับไฟตรงนั้นตรงนี้ จนไม่รู้ว่าเดินหน้าไปทางไหนกันแน่  

ถ้าพบว่าข้างบนเป็นจอมสั่งการ ขอให้หยุดอาการนั้นไว้ที่ระดับนั้น ทำใจแข็งๆ ไม่ติดอาการจอมสั่งการให้ได้ แล้วจะรู้ว่าคนรอบตัวจะช่วยคิดช่วยทำจากใจ ผลงานที่เกิดขึ้นให้เห็นจะเป็นรางวัลสำหรับความอดทนที่ไม่ยอมสั่งการอย่างพร่ำเพรื่อ

ถ้าต้องการให้สิ่งที่สั่งเกิดขึ้นได้จริง คนสั่งต้องบอกได้ว่าขั้นตอนไปสู่การบรรลุคำสั่งนั้นต้องกระทำอย่างไร ใครต้องทำอะไร ในช่วงเวลาใด วัดความสำเร็จอย่างไร ถ้ามีอุปสรรคใด ตนจะขจัดปัดเป่าให้อย่างไร ทำได้ดังนี้จึงจะเป็นผู้นำให้เกิดผลงานจริง ไม่ใช่เป็นแค่จอมสั่งการที่ทำได้แค่ออกคำสั่ง โดยปราศจากผลงานใดๆ.

 

คอลัมน์ : ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี