สามคําถามเงินบาทอ่อนค่าและคำตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

สามคําถามเงินบาทอ่อนค่าและคำตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้วเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 6 ปี ทะลุระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ตลาดกังวลในทิศทางของค่าเงินบาทและมีคําถามมากทั้งจากภาคธุรกิจและนักลงทุน

สํานักข่าว ซีเอ็นบีซี (ประเทศไทย) ได้ขอสัมภาษณ์ผมเรื่องนี้และตั้งคำถามดีมากเกี่ยวกับ ค่าเงินบาทซึ่งผมก็ให้ความเห็นไป วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นที่ผมให้ไปให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

1. อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าในรอบนี้

สาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าคราวนี้เป็นผลทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายนอกคือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากและต่อเนื่องในการประชุมเดือนนี้เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่เงินสกุลหลักอื่น ๆ อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

เพราะความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอ โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่กังวลว่าอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยจากอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่อาจสูงต่อเนื่อง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก และเงินสกุลอื่นๆรวมถึงสกุลเงินในภูมิภาค เช่นเงินบาทที่อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นี่คือปัจจัยภายนอก

ส่วนปัจจัยภายในคือพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเอง คือ การฟื้นตัวที่เพิ่งเริ่มต้น ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและมีอัตราเงินเฟ้อในเกณฑ์สูง

ในเดือนมิถุนายนอัตราเงินเฟ้อไทยสูงสุดในเอเชีย ขณะที่เรายังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อแก้เงินเฟ้อ ทําให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศกว้างมาก กดดันให้เงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า

เดือนที่ผ่านมา เงินบาทจึงอยู่ในกลุ่มสกุลเงินเอเชียที่อ่อนค่ามากสุดเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และบาทเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากสุดในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้

สามคําถามเงินบาทอ่อนค่าและคำตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

2.สัญญาณการอ่อนค่าคราวนี้แตกต่างกับการอ่อนค่าปี40อย่างไร

เป็นสองกรณีที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ปี 2540 เป็นกรณีของการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว

ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนระบบ อัตราแลกเปลี่ยนก็จะอ่อนลงมาก เพื่อปรับเข้าสู่ระดับใหม่ที่จะสอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงแรกอัตราแลกเปลี่ยนมักจะเคลื่อนไหวแรงและอ่อนตัวมากเกิน คือ overshoot ก่อนที่จะปรับเข้าสู่ระดับดุลยภาพที่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ 

เราจึงเห็นในปี 2540 อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าจากระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับของอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ อ่อนไปมากกว่า 37-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะแข็งค่ากลับมาที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจากนั้นก็เคลื่อนไหวในระดับนี้เป็นส่วนใหญ่ นี่คือกรณี ปี 2540

แต่คราวนี้เราอยู่ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ที่ค่าเงินเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดขับเคลื่อนโดยปัจจัยทางเศรษฐกิจและการดําเนินนโยบายของทางการโดยเฉพาะนโยบายการเงิน คืออัตราดอกเบี้ย 

สามคําถามเงินบาทอ่อนค่าและคำตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทคราวนี้ จึงสะท้อนการปรับตัวของเงินบาทต่อเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอ อัตราดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อโลกที่สูง

เศรษฐกิจเราที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศที่ขาดดุล เงินทุนไหลออกจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังไม่ปรับขึ้น เป็นการปรับตัวของค่าเงินตามปัจจัยเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของประเทศ

และถ้าปัจจัยเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายยังไม่เปลี่ยน เงินบาทก็คงถูกกดดันให้อ่อนค่าต่อไป

3. หลักการบริหารค่าเงินบาทในช่วงเศรษฐกิจการเงินโลกผันผวน

โดยปรกติค่าเงินจะเคลื่อนไหวจากพลวัตของสามปัจจัย คือ หนึ่ง ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ สองนโยบายซึ่งสำคัญสุดคือ นโยบายการเงินหรืออัตราดอกเบี้ย และสาม ความรู้สึกหรือ Sentiment ของตลาดและนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศ ซึ่งรวมถึงเสถียรภาพทางการเมือง แนวโน้มของเศรษฐกิจ และคุณภาพของการทํานโยบาย

และในกรณีที่เศรษฐกิจโลกผันผวน มีความไม่แน่นอนมาก ทั้งสามปัจจัยนี้ก็จะผันผวน ทำให้ค่าเงินของประเทศจะผันผวนตามไปด้วย

สามคําถามเงินบาทอ่อนค่าและคำตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

หลักในการบริหารค่าเงินในภาวะที่เศรษฐกิจการเงินผันผวน คือ

1.ให้ค่าเงินปรับตัวตามภาวะตลาด เพราะการปรับตัวของค่าเงินคือการปรับตัวของเศรษฐกิจต่อความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าเงินบาทจะอ่อนก็เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง

หรือ การดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า เช่นไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับต่างประเทศมีมากผลักดันให้เงินทุนไหลออก

หรือนักลงทุนไม่มั่นใจในการเมืองและคุณภาพของการดำเนินนโยบายของประเทศ ถอนการลงทุนหรือขายทิ้งสินทรัพย์เงินบาทเป็นต้น

ตรงกันข้าม การไม่ยอมให้ค่าเงินปรับตัวโดยเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้เงินอ่อนค่าตามปัจจัยที่เกิดขึ้นจะใช้ทรัพยากรหรือทุนสํารองของประเทศมาก และจะไม่สามารถทัดทานการอ่อนค่าของเงินได้ถ้าปัจจัยที่เป็นต้นเหตุให้เงินอ่อนค่ายังไม่มีการแก้ไข ทำให้ประเทศจะสูญเสียทุนสำรองมาก

2.การแทรกแซงเพื่อพยุงการอ่อนค่าของเงินควรทําเท่าที่จําเป็น เพื่อลดความผันผวนของการอ่อนค่าให้อยู่ในระดับที่ภาคธุรกิจจะปรับตัวได้ ไม่ใช่แทรกแซงเพื่อเปลี่ยนทิศทางของค่าเงิน

3.ธนาคารกลางควรสื่อสารกับตลาดในภาวะที่ค่าเงินเปลี่ยนแปลงเร็วหรือมาก เพื่อลดความวิตกของผู้ร่วมตลาดและสร้างความมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเป็นไปตามภาวะตลาดและอยู่ในขอบเขตที่จะไม่เป็นปัญหาต่อภาคธุรกิจในการปรับตัว

นี่คือความเห็นที่ผมให้ไป.

สามคําถามเงินบาทอ่อนค่าและคำตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]