“ค่าเงินบาท” ผันผวน “ธุรกิจ” ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง ?

“ค่าเงินบาท” ผันผวน “ธุรกิจ” ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง ?

สรุป 6 ทางเลือก ป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์ “ค่าเงินบาท” ที่ผันผวน สำหรับภาคธุรกิจไทย จากคำแนะนำของ “แบงก์ชาติ”

"ค่าเงินบาท" รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการนำเข้า-ส่งออก หรือมีความเชื่อมโยงกับภาคต่างประเทศ

แม้ว่าธุรกิจจะไม่สามารถควบคุมความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่ก็สามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสมในการป้องกันความเสี่ยง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการรายได้และต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดย “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ได้เปิดเผยข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของ "ค่าเงินบาท"  6 วิธี สำหรับภาคธุรกิจและภาคเอกชน ดังนี้

 6 วิธีรับมือความผันผวนของค่าเงิน 

“ค่าเงินบาท” ผันผวน “ธุรกิจ” ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง ?

 1. Forward การล็อกเรทอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้ากับธนาคาร 

สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) คือ สัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคตด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ (ล็อกเรท) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน ผ่านอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าที่เรียกว่า forward rate

วิธีนี้เหมาะกับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกที่ต้องการล็อกเรทอัตราแลกเปลี่ยนและต้องการความยืดหยุ่นของรูปแบบการทำสัญญา

ข้อดีคือ สามารถรับรู้จำนวนรายได้รายจ่ายในรูปเงินบาทได้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาวางแผนบริหารต้นทุนและผลกำไรได้รวมถึงสามารถใช้งานได้ง่ายฟรีค่าทำเนียมและมีความยืดหยุ่นเนื่องจากสามารถกำหนดช่วงเวลารับจ่ายเงินตราต่างประเทศได้รวมถึงสามารถเลื่อนวันรับจ่ายเงินตราต่างประเทศได้ด้วย

อย่างไรก็ตามข้อจำกัดคือต้องมีวงเงินสินเชื่อและบัญชีกับธนาคารก่อน หรืออาจต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมหากเป็นผู้ประกอบการรายย่อย

“ค่าเงินบาท” ผันผวน “ธุรกิจ” ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง ?

 2. Options การประกันค่าเงิน 

การประกันค่าเงิน (Options) คือ การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคตด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้ากับธนาคาร หรือเรียกง่ายๆ ว่าการซื้อสิทธิ์ในการล็อกเรท 

โดยผู้ซื้อ Options (ลูกค้า) จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า Option Premium ให้กับธนาคาร ซึ่งทำให้ผู้ซื้อ Options อาจไม่จำเป็นต้องได้รับวงเงินในการทำธุรกรรมจากธนาคารและไม่ต้องวางหลักประกันก่อนทำธุรกรรม

Options เหมาะกับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ที่ต้องการปิดความเสี่ยงการขาดทุน แต่เปิดโอกาสในการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 

ข้อดีคือ ปิดโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเลือกใช้สิทธิ์และเปิดโอกาสในการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยไม่ใช้สิทธิ์ต้นทุนสูงสุดเท่ากับค่าธรรมเนียม โดยไม่จำเป็นต้องวางหลักประกันกับธนาคาร

ทั้งนี้ข้อจำกัดคือ มีค่าธรรมเนียมหรือเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย ณ วันทำสัญญา ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ หรือบางธนาคารอาจกำหนดเงื่อนไข เช่น มูลค่าสัญญาขั้นต่ำหรือต้องมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร เป็นต้น

“ค่าเงินบาท” ผันผวน “ธุรกิจ” ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง ?

 3. Futures การทำสัญญาล็อกเรทล่วงหน้าผ่านตลอดอนุพันธ์แห่งประเทศไทย (TFEX) 

สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures) มีลักษณะคล้ายกับสัญญา Forward คือ เป็นการล็อกเรทสำหรับการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต แต่มีความแตกต่างตรงที่สัญญา Futures เป็นสัญญามาตรฐาน และจะทำการซื้อขายในตลาดซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเป็นตลาดกลาง โดยในประเทศไทยคือ Thailand Futures Exchange (TFEX)

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าผ่าน TFEX ได้เฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD Futures) เท่านั้น โดยต้องทำการซื้อขายผ่านตัวกลาง (Broker) ที่ได้รับอนุญาต เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และต้องวางหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ตามเกณฑ์ที่ TFEX กำหนด 

นอกจากนี้ จะมีการคำนวณกำไร/ขาดทุนเป็นประจำทุกวันทำการ หรือที่เรียกว่า Mark to Market ซึ่งอาจทำให้ต้องวางหลักประกันเพิ่มเติม หากขาดทุนจนทำให้หลักประกันในบัญชีต่ำกว่าระดับหลักประกันขั้นต่ำ, ผู้ที่ต้องการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในอนาคต (หรือผู้นำเข้า) จะอยู่ในสถานะซื้อ (Long Position), ผู้ที่ต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐในอนาคต (หรือผู้ส่งออก) จะอยู่ในสถานะขาย (Short Position)

สำหรับข้อดีของ Futures เช่น ไม่ต้องมีวงเงิน โดยสามารถเปิดบัญชีผ่าน Broker ได้เอง, มูลค่าขั้นต่ำในการทำสัญญาน้อย ใช้เงินจำนวนน้อย จ่ายแค่ Initial Margin, ไม่จำเป็นต้องส่งมอบดอลลาร์สหรัฐจริง, ลักษณะสัญญาเป็นมาตรฐาน และมีวันครบกำหนดของสัญญาที่ชัดเจน โดยผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสามารถเลือกรับมอบหรือส่งมอบเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้จริงกับธนาคารกรุงไทย (KTB) ในทุกๆ วันก่อนวันที่สัญญาครบกำหนด

ทั้งนี้มีข้อจำกัด เช่น ลักษณะของสัญญาเป็นมาตรฐาน ไม่สามารถปรับได้ตามต้องการ ดังนั้น วันหมดอายุของสัญญาและจำนวนเงินอาจไม่ตรงกับวันและจำนวนที่ต้องการใช้เงิน/ส่งมอบดอลลาร์สหรัฐ

รวมถึงต้องติดตามมูลค่าสัญญาทุกวัน เพราะมีการคำนวณกำไร/ขาดทุนเป็นประจำทุกวันทำการ อาจถูกเรียกให้วางหลักประกันเพิ่มเติม เพื่อรักษาระดับหลักประกันขั้นต่ำ ตลอดจนมีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อขายด้วย

“ค่าเงินบาท” ผันผวน “ธุรกิจ” ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง ?

 4. Foreign Currency Deposit การจับคู่รายรับและรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (FCD) 

บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) คือ บัญชีเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ต้องการฝากเงินไว้ในรูปแบบเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยูโร (EUR) เยน (JPY) เป็นต้น 

การทำ FCD เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นประจำอย่างเช่น ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า โดยสามารถฝากได้ทั้งแบบกระแสรายวัน ออมทรัพย์ และฝากประจำ จึงเหมาะกับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกที่มีรายได้รายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกัน, ประชาชนที่มีเงินเย็นและต้องการเก็บเงินเป็นเงินสกุลต่างประเทศสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคต เช่น ค่าเทอมรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเหมาะกับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ข้อดีคือ สามารถพักเงินตราต่างประเทศในบัญชีได้โดยไม่ต้องรีบแลกเงินประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนต่างและค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนหากรับจ่ายเป็นสกุลเงินเดียวกัน สามารถกำหนดการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในจังหวัดและราคาเหมาะสมได้ด้วยตนเอง อีกทั้งการฝากเงินได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยของสกุลเงินต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วเช่นบัญชีเดียวทำได้หลายวัตถุประสงค์ฝากเงินได้แบบไม่จำกัดจำนวนสามารถทำทุรกรรมผ่าน Internet Banking หรือ Mobile Application ได้ ขณะที่ข้อจำกัดมีเพียงอย่างเดียวคือ มักมีค่าธรรมเนียม การฝาก ถอน โอน

“ค่าเงินบาท” ผันผวน “ธุรกิจ” ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง ?

5. Natural Hedge การจับคู่รายรับและรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 

Natural hedge คือการบริหารรายได้ และรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลต่อทั้งรายได้และรายจ่ายในทิศทางเดียวกัน จึงสามารถชดเชยกันได้ เช่น หาก "เงินบาทอ่อนค่า" จะทำให้ต้นทุนในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 

ขณะเดียวกันรายได้ในรูปเงินบาทก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้ประกอบการสามารถบริหารให้รายได้และรายจ่ายเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น เนื่องจากจะทำให้รายได้และรายจ่ายที่มีมูลค่าเท่ากันหักล้างกันได้ลงตัว นั่นคือ ช่วยให้ไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน  

Natural hedge จึงเหมาะกับผู้ประกอบการที่มีทั้งรายรับและจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ประกอบธุรกิจทั้งนำเข้าและส่งออก ซึ่งหากสามารถบริหารกระแสเงินสดทั้งขารับและขาจ่ายให้พอดีกันก็จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ 

โดย Natural hedge มีข้อดีคือ เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายน้อยเมื่อเทียบกับการใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยง จึงช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีทั้งรายได้และรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ

6. Local Currency การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกัน 

ปัจจุบันเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังเป็นสกุลเงินที่ใช้กำหนดราคากลางชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศมากที่สุด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐ มีความผันผวนมากขึ้น ในขณะที่ตลาดการค้าของไทยไม่ได้พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ มากเท่าในอดีต หากแต่มีตลาดการค้าใหม่ๆ ที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น 

โดยเฉพาะจีน และอาเซียนเป็นต้น ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ของตลาดการเงินโลกในปัจจุบัน การกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ในการค้าขายระหว่างประเทศ จึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถช่วยผู้ส่งออกและผู้นำเข้าลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินหลัก อย่างเงินดอลลาร์สหรัฐได้ เนื่องจากเงินบาทและเงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาคเหล่านี้มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

ข้อดีของการลดความเสี่ยงลักษณะนี้คือการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีความผันผวนสูง และสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเจรจาต่อรองกับคู่ค้าเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มการผลิตได้เนื่องจากฝ่ายหนึ่งไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารพาณิชย์ไทยให้บริการธุรกรรมเงินสกุลท้องถิ่นในหลายด้าน โดยครอบคลุมเงินสกุลท้องถิ่นหลายสกุล เช่น เงินหยวน เงินริงกิต และเงินรูเปีย ซึ่งรายละเอียดและเงื่อนไขการให้บริการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร ผู้ที่สนใจใช้บริการสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ธนาคารโดยตรง

“ค่าเงินบาท” ผันผวน “ธุรกิจ” ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง ?

________________________________

อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย