โจทย์ใหญ่ 'เศรษฐกิจไทย' ต้องยืนได้บนขาตัวเอง

โจทย์ใหญ่ 'เศรษฐกิจไทย' ต้องยืนได้บนขาตัวเอง

เศรษฐกิจโลกหลังยุคโควิด-19ยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และอยู่ในสถานะเปราะบางหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครน – รัสเซีย ที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และยังมีความเสี่ยงที่จะขยายวงเป็นสงครามที่ใหญ่ขึ้น

ราคาพลังงาน และราคาสินค้าที่พุ่งสูง ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการดำรงชีวิต และต้นทุนของภาคธุรกิจความพยามของธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางหลายประเทศที่หาทางควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานสูงโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นำมาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายทางเศรษฐกิจ

มีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ “recession”โดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯซึ่งหากเกิด recession ขึ้นจริงก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไปทั่วโลก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าประเทศไทยกำลังเจอกับวิกฤตซ้อนวิกฤต เป็นเสมือนลมแรงที่พัดถาโถมอีกไม่นานอาจกลายเป็น“พายุ”จึงต้องมีการเตรียมพร้อมการรองรับวิกฤตต่างๆไว้ให้พร้อมมากที่สุด

..ที่ผ่านมาในทุกครั้งที่ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวพันกับวิกฤตต่างๆไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมสิ่งหนึ่งที่เรามักจะถอดบทเรียนออกมาได้ก็คือความจำเป็นที่จะต้องสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอก รวมถึงลดการพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว

ในช่วงที่เราเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้งรัฐบาลสมัยนั้นก็มี นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual TrackPolicy) คือทำเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และการลงทุนให้มีความแข็งแกร่งยังต้องทำเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแรงควบคู่กันไปด้วย

แนวคิดนี้ถูกถ่ายทอดมาเป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ 2 ขาที่สร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ และมีการบรรจุในการปฏิรูปประเทศต้องทำเรื่องเศรษฐกิจภายในอย่างจริงจังเช่นกัน

วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นถือเป็นบททดสอบสำคัญของเศรษฐกิจไทยผลกระทบที่รุนแรงทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากถึง6.1% ในปี 2561 รัฐบาลรกู้ยืมเงินมาใช้สู้วิกฤติถึง 1.5 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเกินเพดาน 60% เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเรายังไม่แข็งแรงพอ

มาวันนี้ก็วิกฤตซ้อนวิกฤตที่ถาโถมเข้ามาทำให้ไทยเราต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจภายในเข้มแข็ง ลดการพึ่งพิงภายนอกยืนบนขาเศรษฐกิจตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะในภาวะที่โลกเผชิญกับความเสี่ยงและมีการแบ่งขั้วข้าง และขัดแย้งมากขึ้น

การลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกคงต้องมาทบทวนกันอีกครั้งว่าเราต้องการสร้างรายได้เข้าประเทศด้วยวิธีการใดเช่น เม็ดเงินจากการท่องเที่ยว การลงทุน รวมทั้งการส่งออกในระยะยาวเราจะต้องสร้างเทคโนโลยีอะไรเป็นของตัวเองเพื่อลดการพึ่งพิงต่างชาติ

ที่สำคัญจะเป็นประเทศที่จะยืนบนขาตัวเองได้นั้นหมายความว่าเราต้องมีระบบบริหารจัดการทรัพยากรในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างโอกาสให้คนในประเทศเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างทั่วถึงและเกิดประโยชน์มากที่สุด

รัฐบาลก็ต้องไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคในการบริหารเสียเอง ต้องบริหารเศรษฐกิจเพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจมากกว่ามุ่งตอบโจทย์ทางการเมือง

หากสามารถทำได้เช่นนี้ความหวังในการยืนบนขาของตัวเองในทางเศรษฐกิจ คงไม่ใช่แค่ความหวังลมๆแล้งๆเหมือนที่ผ่านมา