เร่งโหมดฟื้นฟู “เศรษฐกิจ”

เร่งโหมดฟื้นฟู “เศรษฐกิจ”

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเปราะบาง รวมถึงทิศทางการลงทุนมีความเสี่ยง อาจต้องปรับเปลี่ยน นโยบายการเงินการคลังประเทศ

สถานการณ์​เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย อยู่ในภาวะเปราะบาง เนื่องด้วยความผันผวนของราคาพลังงานโลก อัตราเงินเฟ้อ ที่อยู่ในสถานะที่ไม่น่าไว้วางใจ ราคาพลังงาน ที่ไต่ระดับเพิ่มขึ้น กระทบค่าครองชีพ การขนส่ง การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนทำให้หลายๆ ประเทศหามาตรการเยียวยา และแนวทางป้องกันเพื่อบรรเทาผลกระทบ

งานสัมมนา “ส่องหุ้นไทย ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต" ที่จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ดึงนักวิเคราะห์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านตลาดเงิน ตลาดหุ้นรวมถึงบิ๊กคอร์ปชั้นนำ ถกประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย การลงทุน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนสูง

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังมองว่า ทิศทางการลงทุนยังมีความเสี่ยง ที่อาจมีผลกระทบเชื่อมโยงกับตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยให้น้ำหนักมากที่สุดกับความเสี่ยงใหม่ที่รุนแรงขึ้น คือ เรื่องของ “นโยบายการเงินและสภาพคล่องที่ลดลง“ จากการเพิ่มดอกเบี้ย ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ รวมถึงความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครน ที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก นำไปสู่การปรับตัวของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ กระทบต่อราคาพลังงาน และเงินเฟ้อ และต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น

ขณะที่ เวิลด์แบงก์ ออกมาประมาณการเศรษฐกิจไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจขยายตัวได้ 2.9% ลดลงจากคาดการณ์เมื่อสิ้นปี 2564 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปีคาดการณ์เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ในระดับก่อนโควิด และ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.3%ในปีหน้า และ 3.9% ในปีถัดไป ส่วนในมุมการขึ้นดอกเบี้ยนั้น เวิลด์แบงก์ แนะว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควรดำเนินการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว 

ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบายควรปรับเพิ่มได้เร็วๆ นี้ ซึ่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดในช่วงปลายปี 2565 การว่างงานก็จะลดลง เมื่อบวกกับนโยบายการคลังที่เข้ามาเสริม

ขณะที่ ถ้าดอกเบี้ยนโยบายทยอยขึ้นไปทุกรอบในช่วงที่มีการประชุมกนง. ฉะนั้น ดอกเบี้ยก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปีหน้า ซึ่งจะล้อไปกับเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว

ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างล่าช้า คือ การท่องเที่ยว ซึ่งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ สถานการณ์ โควิด-19 ในไทย แนวโน้มอาจมีการกลับมาแพร่ระบาดมากอีกครั้ง การฉีดวัคซีน ยังเป็นสิ่งจำเป็น การติดตามประเมินสถานการณ์ และการเปิดให้มีการเดินทางจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

ที่สำคัญ นโยบายการเงินการคลังประเทศ อาจต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน และตอบโจทย์การเข้าสู่โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง