เตรียมพร้อมกลยุทธ์ เผื่อเศรษฐกิจถดถอย | พสุ เดชะรินทร์

เตรียมพร้อมกลยุทธ์ เผื่อเศรษฐกิจถดถอย | พสุ เดชะรินทร์

มีข่าวและบทวิเคราะห์ถึงความสุ่มเสี่ยงและความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นทั่วโลก ถ้าเกิดขึ้นจริง องค์กรในไทยก็ยากที่จะหลบพ้นจากผลกระทบนี้ คำถามคือ กรรมการและผู้บริหารองค์กรต่างๆ เริ่มเตรียมความพร้อมกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมาหรือยัง?

ถึงแม้การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็เนื่องมาจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง แต่เหตุการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน การขาดแคลนของวัตถุดิบ ต้นทุนสินค้าและบริการ ภาวะเงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ล้วนแล้วแต่ส่งสัญญาณไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในเขตเศรษฐกิจหลักของโลก

ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทย ประกอบกับต้นทุนที่สูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ย ฯลฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นเดียวกัน

คำถามชวนคิดคือ กรรมการและผู้บริหารได้เริ่มคิดและวางแผนไว้เพื่อรองรับในกรณีที่เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยขึ้นหรือยัง? กลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับต่อเศรษฐกิจถดถอยควรเป็นอย่างไร? และทำอย่างไรถึงจะสามารถรักษาองค์กรปลอดภัยในช่วงถดถอย และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีกครั้ง?

 

เตรียมพร้อมกลยุทธ์ เผื่อเศรษฐกิจถดถอย | พสุ เดชะรินทร์

(ภาพถ่ายโดย Nyomanalex Candra)

 

เศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอยมาหลายครั้งแล้ว และมีตัวอย่างของบริษัทที่ได้ฝ่าฟันช่วงวิกฤติ พร้อมทั้งสามารถเติบโตได้จำนวนไม่น้อย ใช่ว่าทุกองค์กรจะฝ่าฟันช่วงเศรษฐกิจถดถอยออกมาได้อย่างสำเร็จ

มีการศึกษาจากทั้ง Harvard, McKinsey, Bain ถึงผลการดำเนินงานของบริษัทหลังเศรษฐกิจถดถอย และพบว่ามีธุรกิจประมาณ 10% เท่านั้นที่สามารถกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีกครั้ง

คุณสมบัติสำคัญของบริษัทเหล่านี้คือ การเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า บริษัทเหล่านี้จะมีแผน มีกลยุทธ์ และการปรับตัวไว้ล่วงหน้ากรณีที่เศรษฐกิจถดถอย และเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงองค์กรเหล่านี้ก็ไม่ได้แตกตื่นตกใจ แต่มีกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานไว้รองรับ

ซึ่งจากงานเขียนของทั้ง Ranjay Gulati และ Walter Frick ที่ต่างได้ตีพิมพ์ลงใน Harvard Business Review ก็ได้ศึกษาแนวทางของบริษัทที่ได้มีการเตรียมพร้อมและเติบโตได้อย่างดีเมื่อเศรษฐกิจฟื้น 

  • สามารถสรุปกลยุทธ์สำคัญจากทั้งสองบทความออกเป็นสี่แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย

1. ลดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การลดต้นทุนในที่นี้ไม่ใช่การลดพนักงาน แต่เป็นการมุ่งเน้นลดต้นทุนการดำเนินงานด้วยวิธีการต่างๆ

ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นจะให้ผลดีกว่ากลุ่มที่ลดต้นทุนโดยการลดพนักงาน ถึงแม้การลดพนักงานจะทำให้ต้นทุนลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นก็ยากที่จะจ้างพนักงานที่มีความรู้ มีความสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

2. ลดหนี้ บริษัทที่มีหนี้ในระดับที่สูงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ยิ่งเมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจถดถอยนำไปสู่ยอดขายที่ลดลง กระแสเงินสดลดลง แต่หนี้สูง ต้นทุนทางการเงินก็สูง ทางเลือกของผู้บริหารในการอยู่รอดและเติบโตต่อไปก็จะน้อยลงและยากขึ้น

3. ลงทุนในดิจิทัลเทคโนโลยี ถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยก็ควรจะยิ่งรีบลงทุนดักหน้าไว้เลย เพราะเทคโนโลยีจะช่วยองค์กรอย่างมากในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุน อีกทั้งทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและลูกค้าที่รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนได้ดีและเร็วขึ้น

4. ลงทุนสำหรับการเติบโตในอนาคต ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเมื่อเศรษฐกิจฟื้น จะไม่ได้มองเฉพาะช่วงถดถอยเท่านั้น แต่จะมองต่อไปว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงถดถอยแล้วจะเติบโตต่อไปอย่างไร ดังนั้น จึงเลือกที่จะลงทุนไว้ล่วงหน้า

โดยใช้ประโยชน์ราคาที่ถูกอันเนื่องจากช่วงถดถอย ไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์หรือซื้อบริษัทอื่น ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้น องค์กรที่มีการลงทุนเตรียมพร้อมไว้ก็สามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

สรุป กลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับช่วงเศรษฐกิจถดถอยคือ กลยุทธ์ที่มีความสมดุล ทั้งระหว่างการลดต้นทุน การลดหนี้ กับการลงทุนในเทคโนโลยีและลงทุนสำหรับอนาคต แต่สำคัญที่สุดคือต้องอย่าลืมที่จะเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าเลย ไม่ใช่รอให้เกิดภาวะถดถอยแล้วค่อยมาคิด

 

คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]