จังหวะชีวิตของผู้ที่วัยเกิน 60 ปี | พสุ เดชะรินทร์

จังหวะชีวิตของผู้ที่วัยเกิน 60 ปี | พสุ เดชะรินทร์

ถ้าเอ่ยถึงผู้สูงวัย หรือผู้ที่เลยวัยเกษียณ ก็มักจะนึกถึงผู้อายุเกิน 60 ปี ซึ่งกลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขสถิติต่างๆ ล้วนยืนยันถึงความสำคัญของคนกลุ่มนี้

เมื่อต้นปีนี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ได้ออกมาระบุว่าในปี 2565 ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี เริ่มมีอีกมุมมองหนึ่งว่าการเหมารวมผู้ที่เกิน 60 ปี เป็นผู้สูงวัยนั้นอาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากพัฒนาการแพทย์ที่ดีขึ้น และการรู้จักที่จะดูแลสุขภาพของคนไทย ทำให้ทั้งอายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งถึงแม้จะเข้าสู่กลุ่มสูงวัยแล้ว บุคคลกลุ่มนี้จำนวนมากก็ยังใช้ชีวิตอย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง และมีคุณภาพ

สำหรับคนไทยที่ดูแลสุขภาพตนเองอย่างดีนั้นการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณอย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง อย่างน้อยอีก 20-25 ปีได้กลายเป็นเรื่องปกติ และจำนวนไม่น้อยที่ได้ใช้ช่วงเวลาหลังเกษียณในการเรียนรู้และทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสทำในช่วงของวัยทำงาน

 

จังหวะชีวิตของผู้ที่วัยเกิน 60 ปี | พสุ เดชะรินทร์

(ภาพถ่ายโดย RODNAE Productions)

 

ขณะเดียวกัน ทางภาคธุรกิจก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของคนกลุ่มนี้มากขึ้น บางบริษัทในต่างประเทศก็เริ่มจัดให้มีโครงการ Returnship (เป็นโครงการที่คล้ายกับ Internship แต่สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน)

เช่น โปรแกรม Re-Ignite ที่ Johnson & Johnson หรือ Reentry Program ที่ J.P. Morgan ซึ่งเป็นโครงการสำหรับผู้ที่เลยวัยเกษียณแต่ยังอยากจะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ และสามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นได้

ล่าสุด มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Stage (Not Age) เขียนโดย Susan Wilner Golden ได้นำเสนอแนวคิดว่าเพื่อทำความเข้าใจต่อกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 60 ปีนั้น แทนที่จะใช้ช่วงอายุมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ควรจะใช้สิ่งที่เรียกว่า Stage มาพิจารณาแทน (ขอใช้คำว่า “จังหวะชีวิต” เป็นคำแปลแทน)
 

 

จังหวะชีวิตของผู้ที่วัยเกิน 60 ปี | พสุ เดชะรินทร์

(ภาพถ่ายโดย Myr Za)

 

คุณ Susan ได้แบ่ง Stage ในชีวิตคนเราออกเป็น 18 จังหวะชีวิตด้วยกัน ประกอบด้วย 1. Starting 2. Growing 3. First launch 4. Experimenting 5. Continuous learning 6. Developing financial security 7. Parenting/family 8. Caregiving 9. Optimizing health 10. Repurposing 11. Relaunching 12. Resetting life priorities 13. Transition 14. Portfolio 15. Renaissance 16. Sidepreneur 17. Legacy 18. End of life

ในแต่ละช่วงอายุของคนก็จะสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งจังหวะชีวิต และจังหวะชีวิตหนึ่งอาจจะปรากฏในหลายช่วงอายุก็ได้ สำหรับผู้ที่อายุเกิน 60 ปีนั้น ถ้าเหมารวมว่าเป็นผู้สูงวัยก็อาจจะทำให้ไม่เห็นภาพที่ถูกต้องและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของการตลาด

ดังนั้น ในหนังสือเล่มนี้ก็ระบุไว้ว่าสำหรับผู้ที่อายุเกิน 60 ปีนั้นอาจจะมีจังหวะชีวิตที่หลากหลายและแตกต่าง เช่น อาจจะอยู่ในจังหวะของการ Repurposing ที่จะเลือกมุ่งเน้นทำในสิ่งที่ตอบสนองต่อค่านิยมและทัศนคติหลักของตนเอง โดยการทำงานเพื่อตอบแทนสังคมมากขึ้น แทนที่จะทำงานเพื่อผลตอบแทนเหมือนในอดีต

หรืออาจจะอยู่ในช่วงจังหวะ Sidepreneur ที่เมื่อเลยวัยเกษียณแล้วก็ต้องการจะเป็นผู้ประกอบการและเริ่มต้นธุรกิจของตนเองขึ้นมา หรือจังหวะของการเป็น Caregiving ที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ หรือหลานเล็กๆ หรือจังหวะของการ Continuous learning ที่เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในวัยเกษียณ เช่น ดนตรี ศิลปะ ดำน้ำ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ดังนั้น แทนที่ธุรกิจจะเซกเมนต์กลุ่มวัย 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่ใช้จังหวะชีวิตเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง Segmentation ของคนวัยนี้ ก็จะสามารถพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายในแต่ละเซกเมนต์ได้ดีขึ้น

เช่น แทนที่จะนึกถึงแต่เรื่องการดูแลสุขภาพของคนในวัยนี้ อาจจะมีบริการที่เน้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือบริการที่เพิ่มช่องทางในการให้คนกลุ่มนี้ได้ช่วยเหลือสังคมเพิ่มขึ้น หรือการให้บริการปรึกษาสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เป็นต้น

 

คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]