ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน คืออนาคตของการทำงาน? | พสุ เดชะรินทร์

ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน คืออนาคตของการทำงาน? | พสุ เดชะรินทร์

โควิดทำให้รูปแบบการทำงานในองค์กรเปลี่ยนไป ผู้บริหารและองค์กรต่างๆ ก็พยายามเรียนรู้และปรับตัวหารูปแบบการทำงานใหม่กันมากขึ้น

หนึ่งในแนวทางที่กำลังเป็นกระแสในหลายๆ ประเทศ คือการลดจำนวนวันทำงานลงเหลือสัปดาห์ละ 4 วัน หลังโควิดคลี่คลาย พนักงานในหลายประเทศเรียกร้องถึงรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น สามารถทำให้มีชีวิตที่สมดุลขึ้น และสามารถเลือกรูปแบบและวิธีการทำงานได้ 

แนวคิดการลดจำนวนวันทำงานในสัปดาห์ลงจาก 5 เหลือ 4 วัน ก็กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง และได้ทดลองทั้งในระดับประเทศและระดับบริษัท เพื่อดูว่าการลดจำนวนวันทำงาน โดยไม่ลดค่าตอบแทน จะส่งผลต่อผลิตภาพหรือผลลัพธ์ในการทำงานอย่างไรบ้าง

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่าที่อังกฤษกำลังทดลองให้พนักงานมากกว่า 3,300 คนจาก 70 ธุรกิจ ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน และมีนักวิจัยจากทั้ง Cambridge และ Oxford เข้าร่วมเก็บข้อมูล เพื่อดูว่าเมื่อจำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์ลดลง จะส่งผลต่อผลิตภาพของพนักงาน รายได้ของบริษัท สุขภาพและอัตราการลาออกของพนักงานหรือไม่

ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการทดลองในรูปแบบคล้ายๆ กันมาหลายครั้ง เช่น Unilever ก็ได้ทดลองที่สำนักงานในนิวซีแลนด์ และได้ขยายเวลาออกไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยหวังว่าสุดท้ายจะสามารถขยายไปยังทุกประเทศทั่วโลก รัฐบาลสเปนก็ประกาศว่าจะเป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณให้บริษัทที่สนใจทดสอบแนวคิดนี้

นอกจากนี้ระหว่างปี 2558-2562 มีการทดลองกับพนักงานกว่า 2,500 คนที่ไอซ์แลนด์ ผลออกมาว่าตลอดช่วงระยะเวลา 4 ปีของการทดลองนั้น การทำงานของพนักงานไม่ได้ตกลงแต่ประการใด แถมในบางยังเพิ่มขึ้นในบางหน่วยงาน และพนักงานก็มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

ล่าสุด มีการนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในหน่วยงานภาครัฐของไอซ์แลนด์ โดยผู้บริหารท่านหนึ่งระบุว่าการที่พนักงานของรัฐจำนวนมากสามารถลดเวลาทำงานลงได้นั้น ตัวพนักงานเองก็ต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญของงานที่จะต้องทำ

พยายามประชุมให้สั้นและมีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งต้องลดสิ่งที่รบกวนสมาธิในระหว่างชั่วโมงการทำงานให้น้อยลง เช่น โทรศัพท์คุยส่วนตัว หรือเข้าสื่อสังคมออนไลน์

บริษัท Crowdfunding ชื่อดังอย่าง Kickstarter ก็อยู่ระหว่างการทดลองแนวคิดนี้และพบว่าผลิตภาพของพนักงานก็ยังเหมือนเดิมส่วน Engagement ของพนักงานก็สูงขึ้น โดยที่ Kickstarter ให้พนักงานทำงานจันทร์ถึงพฤหัส และพนักงานต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานขึ้น เช่น ลดเวลาในการประชุมที่ไม่จำเป็นลง

รูปแบบการลดจำนวนวันทำงานทำได้หลายแนวทาง นอกจากรูปแบบการหยุดในวันเดียวกันทั้งบริษัทแล้ว ก็ยังมีรูปแบบการสลับหมุนเวียนกันในหยุดในวันที่ต่างกันออกไปในสัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าในทุกวันจะมีคนมาทำงานและสามารถตอบสนองต่อลูกค้าได้

เชื่อว่าทุกคนคงเห็นด้วยกับข้อดีของการลดจำนวนวันทำงานลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร รวมถึงการดึงดูดพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถ

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกองค์กรจะสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ทันที เริ่มแรกคงต้องศึกษาก่อนว่าการทำงานสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมงนั้นเหมาะกับองค์กรเพียงใด และเหมาะกับพนักงานและผู้บริหารทุกระดับหรือไม่?

นอกจากนี้ตัวพนักงานจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานด้วย โดยจะต้องเรียนรู้ที่จะสามารถทำงานอย่างมีสมาธิมากขึ้น เนื่องจากมีเวลาทำงานน้อยลง โดยคาดหวังผลงานเท่าเดิม และต้องพยายามลดช่วงเวลาที่ไม่มีประสิทธิภาพลง เช่น การประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพ การใช้เวลางานทำธุระส่วนตัว หรือการรับประทานอาหารเที่ยงที่นาน ฯลฯ

สำคัญสุดคือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่มีบริษัทหลายแห่งทดลองทำกันมาแล้ว ซึ่งก็นำไปสู่การเรียนรู้และรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป ดังนั้น ถ้าองค์กรของท่านอยากจะลดจำนวนวันทำงานลงก็ควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น จากนั้นออกแบบระบบและแนวทางให้เหมาะสมกับองค์กรตนเอง แล้วควรจะเริ่มจากการทดลองก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบายถาวร.
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]