คุณลักษณะของ เจ้านายที่แย่ | พสุ เดชะรินทร์

คุณลักษณะของ เจ้านายที่แย่ | พสุ เดชะรินทร์

 ตามสื่อต่างๆ จะมีตัวอย่างของผู้นำหรือเจ้านายดีๆ อยู่มากมาย ในทางกลับกันตัวอย่างของเจ้านายที่แย่นั้นกลับไม่ได้มีมากเท่า

ท่านเคยสังเกตบ้างไหมว่าผู้นำหรือเจ้านายที่แย่นั้นจะมีคุณลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างไรบ้าง? บางครั้งในสถานการณ์ปกติธรรมทั่วๆ ไปเจ้านายที่แย่นั้นก็ไม่แสดงคุณลักษณะที่แย่ๆ นั้นออกมา แต่เมื่อพบเจอกับความเครียด หรือ ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เจ้านายที่แย่ก็จะเริ่มแสดงพฤติกรรมแย่ๆ ออกมา

    เจ้านายจำนวนหนึ่ง ภายใต้สถานการณ์ปกตินั้นก็จะเหมือนกับผู้นำหรือเจ้านายทั่วๆ ไปที่มีความมุ่งหวัง ความปราถนาดี ความอยากจะให้งานประสบความสำเร็จ และองค์กรบรรลุเป้าหมาย

แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นใจ หรือ ตกอยู่ภายใต้ความเครียด เจ้านายที่มีความเป็นปกติจำนวนไม่น้อยก็จะเริ่มผันตัวเองเป็นเจ้านายที่แย่ เรียกได้ว่าความเครียดและความไม่ปกติสามารถชี้นำตัวตนที่แท้จริงของผู้นำออกมาได้เลย ตัวอย่างของพฤติกรรมที่มักจะประกอบไปด้วย

    1.  ลังเลไม่กล้าตัดสินใจ เป็นเจ้านายที่เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่สำคัญและไม่เคยเผชิญมาก่อน จะเกิดอาการลังเลและไม่กล้าตัดสินใจ เจ้านายเหล่านี้ในสถานการณ์ปกติก็สามารถตัดสินใจได้ดี

แต่เมื่อเผชิญสิ่งที่ไม่คุ้นเคยแล้วมักจะไม่ชอบตัดสินใจ และชอบที่จะผัดผ่อนการตัดสินใจไปก่อน โดยไม่สนใจถึงความจำเป็นและเร่งด่วนที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งก็จะสร้างความหงุดหงิดให้กับลูกน้องที่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป

 2. ไม่ชอบเผชิญความขัดแย้ง เป็นเจ้านายที่ชอบประนีประนอม ไม่ชอบเผชิญกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องขัดแย้งกับบุคคลอื่น เจ้านายประเภทนี้จะยอมตามใจหรือประนีประนอมเพื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหาตลอด

    ในสถานการณ์ปกติก็พอยอมรับได้ แต่เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่สำคัญ การหลีกเลี่ยงจากความขัดแย้งและไม่กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้องก็จะทำให้ผู้นำดูอ่อนแอ สูญเสียความไว้วางใจจากลูกน้องและคนรอบข้าง

    3. จู้จี้จุกจิก หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ Micromanagement เจ้านายเหล่านี้จะติดตาม คอยซักถาม ดูในรายละเอียดของงานที่ได้มอบหมายให้ลูกน้อง การเข้าไปจุกจิกกับงาน ทำให้ลูกน้องเชื่อว่าเจ้านายขาดความไว้วางใจ และทำให้พนักงานที่เก่งและชอบงานที่ท้าทายไม่สนุกกับการทำงานและหาทางไป ส่วนพนักงานที่ยังอยู่กับเจ้านายที่จุกจิกได้คือพวกที่รอคำสั่งหรือบอกเล่าว่าต้องทำอะไรและไม่กล้าที่จะทำอะไรเอง 

    4. ฉุนเฉียวง่าย เป็นเจ้านายที่เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ จะมีอารมณ์ที่ฉุนเฉียวและอารมณ์ร้อนง่ายกว่าปกติ เจ้านายประเภทนี้มักจะชอบให้ข้ออ้างกับตัวเองว่า “ต้องการงานที่ดีและสมบูรณ์แบบและการแสดงอารมณ์ออกมานั้นก็เพื่อทำให้งานออกมาดีขึ้น”

แต่เจ้านายเหล่านี้ก็มักจะลืมไปว่าอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของตนเองนั้น ทำให้ลูกน้องเกิดความเกรงกลัว อยากจะอยู่ห่างๆ ทำให้ไม่กล้าที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หรือบอกเล่าถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

    5. ไม่ใส่ใจคนในทีม เป็นเจ้านายที่เน้นผลงานที่ต้องการมากกว่าโดยไม่สนใจต่อสมาชิกในทีมหรือลูกน้องของตน เจ้านายเหล่านี้ก็มักจะมีข้ออ้างเสมอว่าผลงานคือตัวบ่งบอกความสำเร็จของทีม ซึ่งถ้ามองในเชิงของผลงานนั้นก็จริง แต่สมาชิกในทีมหรือบรรดาลูกน้องจะมีความรู้สึกว่าเจ้านายไม่ได้สนใจหรือใส่ใจต่อลูกน้องเลย

ดังนั้น ลูกน้องก็อาจจะรู้สึกในทางกลับกันว่าไม่ต้องสนใจเจ้านายหรือผลงงานของเจ้านายก็ได้ เจ้านายเหล่านี้มักจะลืมไปว่าผลงานของตนหรือของทีมนั้นจะต้องเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของทุกๆ คน ดังนั้นจึงมักจะละเลยและไม่ใส่ใจต่อคนในทีม

    ทั้งห้าประการเบื้องต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของเจ้านายที่แย่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็นำมาจากบทความของ Diana Kander และ Ashley Good ซึ่งทั้งสองกำลังอยู่ระหว่างการตระเวนสัมภาษณ์เจ้านายที่แย่กว่า 50 คน เพื่อเขียนเป็นหนังสือเกี่ยวกับผู้นำหรือเจ้านายที่แย่ ก็หวังว่าท่านคงจะไม่ได้มีพฤติกรรมที่ตรงกับข้อใดข้อหนึ่งในห้าข้อข้างต้นนะครับ.
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]