ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำสหรัฐ เรื่องผิดพลาดหรือไม่ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำสหรัฐ เรื่องผิดพลาดหรือไม่ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

หลังจากเหตุการณ์วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ตอนปี 2551 ก็มีนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ คนพยายามจะหาวิธีเพื่อให้สหรัฐกลับมาใช้ “ระบบมาตรฐานทองคำ” หรือ Gold Standard คือการเอาเงินดอลลาร์มาผูกกับทองคำในระบบ

ระบบนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประชุมเบรตตัน วู้ดส์ ที่ให้ประเทศต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ได้ โดยใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน สิ่งนี้ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น แต่ระบบมีก็ยังมีปัญหาอยู่เหมือนกัน คือ สกุลเงิน ทำหน้าที่คล้าย “กันชน” ให้กับประเทศในการค้าระหว่างประเทศ

ถ้าสกุลเงินอ่อนค่าลงจะทำให้ทางทฤษฎีแล้วการส่งออกในประเทศจะดีขึ้น แต่ถ้าสกุลเงินแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้การนำเข้าหรือการลงทุนในประเทศอื่นดีขึ้นตามมา 

แต่ถ้าเกิดสกุลเงินในแต่ละประเทศผูกมัดกับอะไรก็ตาม อย่างเช่นทองคำในกรณีนี้ สกุลเงินก็ไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้  ซึ่งเงินดอลลาร์ในตอนนั้นได้ผูกมัดกับอีก 44 ประเทศรวมถึงทองคำ ทำให้ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตก็ควรที่จะทำให้สกุลเงินมีค่ามากขึ้น แต่เนื่องจากมันถูกผูกมัดในอัตราที่คงที่ ทำให้ค่าเงินของสหรัฐกลับคงที่
 

 

ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำสหรัฐ เรื่องผิดพลาดหรือไม่ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

(ภาพถ่ายโดย Kendall Hoopes)

 

แต่เพราะระบบนี้ก็ทำให้เงินดอลลาร์กลายเป็นสกุลเงินสำรองทั่วโลก แต่เมื่อสถานการณ์กลับกัน มันจะกลายเป็นชนวนอันใหญ่ของโลก การส่งกำลังเข้ารบในสงครามเวียดนามและปัญหาภายในประเทศก่อให้เกิดการยืมเงินครั้งใหญ่ของสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 

เมื่อหลายประเทศเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่ลงก็เลยเอาเงินดอลลาร์ที่อยู่ในคลังมาแลกกลับมาเป็นทอง ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่ขอแลกทองคำเยอะที่สุด จึงก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นสองอย่าง อย่างแรกทำให้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐอ่อนตัวลง แต่อย่างที่สองที่รุนแรงกว่าคือ สหรัฐไม่ได้มีทองคำมากพอที่จะคืนให้ประเทศเหล่านี้ เพราะว่าทองคำที่สหรัฐเก็บไว้ในคลังมีแค่ส่วนเดียวเท่านั้น 

ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าตราบใดประเทศต่างๆ คิดว่าการแลกเปลี่ยนทองคำสามารถทำได้เมื่อไรก็ตาม มันก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแลกเปลี่ยนในตอนใด ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสจะแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นทองคำแค่ช่วงสั้นๆ แต่ถ้าทุกประเทศเกิดทำตามขึ้นมาก็จะทำให้ระบบมาตรฐานทองคำล่มสลายอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น รัฐบาลของสหรัฐจึงยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำชั่วคราวในวันที่ 15 ส.ค.2514 ต่อมาก็ยกเลิกระบบนี้ถาวร

 

ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำสหรัฐ เรื่องผิดพลาดหรือไม่ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

(ภาพถ่ายโดย Kai Pilger)

 

นักวิเคราะห์เลยพยายามหาข้อดีข้อเสียของระบบมาตรฐานทองว่าควรนำกลับมาใช้ไหม สิ่งที่น่าจะเห็นประโยชน์ได้ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ 

ทองคำเป็นสิ่งหนึ่งที่คงสภาพได้นานและ 1 บาทของทองคำก็เท่ากันทุกประเทศ จึงเอื้ออำนวยกับการค้าระหว่างสองประเทศ ถ้าทั้งสองประเทศนี้มีทองคำอยู่ในเงินทุนสำรองเท่าๆ กัน แต่เพียงเพราะมันง่ายกว่าในการค้าระหว่างประเทศ ไม่ได้แปลว่ามันจะดีกว่า 

อย่าลืมว่าเพราะความผันผวนของสกุลเงิน จึงทำให้การค้าระหว่างประเทศน่าดึงดูดมากขึ้น อีกข้อดีที่ทำให้มาตรฐานทองคำน่านำกลับเอามาใช้คือ มันช่วยปกป้องค่าเงินให้กับประชาชนที่กำลังเกิดปัญหาในประเทศอย่าง ลาว ตุรกี และศรีลังกา ที่ค่าเงินอ่อนลงไปทุกวัน

สิ่งที่น่าจะเป็นข้อดีที่สุดของการมีระบบมาตรฐานทองคำน่าจะเป็น ราคาสินค้าที่สามารถควบคุมได้ การที่มีทองคำอยู่ในระบบเพียงแค่ส่วนเดียวก็จะทำให้การพิมพ์เงินอย่างมีนัยสำคัญยากขึ้นไปเป็นทวีคูณ ซึ่งไม่เหมือนกับทุกวันนี้ ความจริงแล้วนี่คือสิ่งที่ FED พยายามทำมาตลอด คือ การทำให้ราคาสินค้าควบคุมได้ โดยการเพิ่มและลดอัตราดอกเบี้ย และ ลดหรือเพิ่มเงินทุนสำรองในระบบ หรือ QE 

แต่ในโลกทุกวันนี้ เฟดจะเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยได้ตามที่ใจต้องการ เพื่อพยายามควบคุมราคาสินค้าบริโภคให้มากที่สุด ถามว่าเฟดทำหน้าที่ได้ดีที่สุดไหม ก็อาจจะไม่ขนาดนั้น แต่ก็ยังดีกว่าการกลับมาใช้มาตรฐานทองคำ

การใช้มาตรฐานทองคำ ความจริงแล้วมีข้อเสียมากมาย ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ช่วงปลายทศวรรษ 20 สาเหตุที่ย่ำแย่ได้ขนาดนั้นเพราะเฟดพยายามจะทำงานใต้ระบบมาตรฐานทองคำ และสิ่งที่เฟดกลัวมากคือการที่คนแห่ไปถอนทองคำออกจากธนาคาร ทำให้เกิดเหตุการณ์ bank run ทำให้เฟดมีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าทุกวันนี้ 

ระบบมาตรฐานทองคำเองถ้าจะทำให้มีประสิทธิภาพ ต้องทำให้แต่ละประเทศมีทองคำที่เท่าๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไม่ใช่ทุกประเทศที่จะสามารถมีทองคำให้ขุดได้ในประเทศตัวเองอย่างสหรัฐ จีน ออสเตรเลีย รัสเซีย และ กานา เป็น 5 ประเทศที่ผลิตทองมากที่สุดในโลก

ดังนั้น ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกถ้าอยากมีทองคำไว้ครอบครองก็ต้องพยายามส่งออกให้มากที่สุด และนำเข้าให้น้อยที่สุดเพื่อที่จะทำให้เงินดุลการค้าเยอะพอที่มีทองคำสำรองในประเทศ ซึ่งสิ่งนี้กำลังเป็นปัญหาอย่างบ้านเราที่ในช่วงที่ผ่านมา

ถ้าจะทำให้กลับมาใช้มาตรฐานทองคำได้อย่างสมบูรณ์ ราคาทองคำในตลาดจะพุ่งสูงขึ้นมาก เพราะ ณ ตอนนี้เงินดอลลาร์ในตลาดเยอะกว่าทองคำบนโลกนี้มหาศาล สิ่งที่พอเป็นไปได้คือการใช้มาตรฐานทองคำเพียงส่วนหนึ่ง แล้วค่อยพิมพ์เงินออกมา แต่ปัญหามันก็มาอีกตรงที่ว่าแล้วมันจะแตกต่างอะไรจากตอนนี้ 

เพราะการถือครองดอลลาร์ก็มาจากความเชื่อ เหมือนกันกับต้นตอของทองคำ ปัญหาสุดท้ายของระบบมาตรฐานทองคำคือ โดยปกติแล้วเมื่อเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเติบโตขึ้น เงินทุนในประเทศจะเพิ่มขึ้นตาม ตามทฤษฎีคือถ้าประเทศไหนสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น ก็ควรมีเงินที่เอามาใช้จ่ายสินค้าเหล่านั้นมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเงินต้องเอามาผูกกับทองคำก็ไม่สามารถผลิตเงินออกมาเพิ่ม สุดท้ายจะเกิดปัญหาอยู่สองอย่าง

อย่างแรกคือ ภาวะเงินฝืด หรือ Deflation ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจพังไปกว่าเดิม คือคนไม่จับจ่ายใช้สอย อย่างที่สองคือมันจะหยุดยั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ ถ้าเกิดแบบนั้นขึ้นจริง เศรษฐกิจก็จะเกิดการขาดสภาพคล่อง ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เพราะไม่มีเงินพอในการใช้ในเศรษฐกิจ 

ถ้าเราดูจีดีพีสหรัฐก่อนยกเลิกมาตรฐานทองคำ จะพบว่าจีดีพีสหรัฐเติบโตประมาณ 3 เท่าจากช่วงปี 2494-2514 แต่จากช่วง 2514-2534 เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นมาถึง 6 เท่าทีเดียว แน่นอนว่าในช่วงเวลานั้นก็มีการค้าเสรีมากขึ้น การออกนโยบายทางการคลังที่ง่ายขึ้น และเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ายังอยู่ในระบบมาตรฐานทองคำ

การเอามาตรฐานทองคำมาใช้เปรียบเสมือนคุณขี่จักรยาน 4 ล้อ แน่นอนว่ามันปลอดภัย แต่มันก็ไม่สามารถทำให้คุณไปได้รวดเร็ว ทองคำเหมือนอีก 2 ล้อในจักรยาน คุณก็ไม่สามารถทำให้คุณปลอดภัยได้ทั้งหมด และถ้าเมื่อใดที่คุณขี่จักรยานเป็นแล้ว การมีอีก 2 ล้อก็กลายเป็นเครื่องถ่วงคุณไม่ให้คุณได้ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วครับ

 

คอลัมน์:  คุยให้...“คิด”
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ApolloX Solutions
[email protected]