ทำไมประเทศในตะวันออกกลางจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีน้ำมัน | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ทำไมประเทศในตะวันออกกลางจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีน้ำมัน | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ณ ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความเรื่องนี้อยู่ ราคาน้ำมัน 1 บาร์เรลเท่ากับประมาณ 110 ดอลลาร์ ส่งผลดีกับประเทศในแถบตะวันออกกลาง ที่พึ่งพาน้ำมันในการขับเคลื่อนประเทศ และสร้างรายได้หลักเข้าประเทศ

ทุกวันนี้จะมีการพึ่งพาน้ำมันดิบน้อยลง และจากรายงานในหลายๆ สำนักข่าวที่มองกันว่า น้ำมันทั่วโลก จะเริ่มทยอยลดน้อยลงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามน้ำมันคงไม่หายไปจากโลกในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน 

ประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ใน 10 อันดับแรกมีประเทศที่มาจากตะวันออกกลางถึง 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย ซาอุดิอะราเบีย ที่อันดับ 1 อิรัก ที่อันดับ 3 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่อันอับ 5 คูเวต ที่อันดับ 6 และ อิหร่าน ที่อันดับ 8

ถ้าเอาทั้ง 5 ประเทศมารวมกันจะมีการกักเก็บน้ำมันสำรองของทั่วโลกถึงร้อยละ 55 ของโลกเลย

ในปี 2563 ที่ผ่านมาได้มีรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ออกมาว่า ถ้าประเทศในแถบตะวันออกกลางยังไม่กระจายการพึ่งพาเศรษฐกิจจากน้ำมันดิบ เงินประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจะเริ่มหายไปอย่างเร็วที่สุดในปี 2577 

สิ่งที่แย่กว่านั้นคือ IMF คาดการณ์ว่าการใช้น้ำมันจะอยู่จุดที่สูงที่สุดในปี 2573 ซึ่งหลังจากนั้นการใช้น้ำมันจะเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ประเทศในแถบตะวันออกกลางมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนักในการพึ่งพาเศรษฐกิจทางด้านอื่น 

แต่ถ้าพูดกันตามความจริงประเทศเหล่านี้รู้ปัญหานี้มาสักพักแล้ว ซึ่งนี่คือเหตุผลที่เมื่อปี 2559 มกุฎราชกุมารซาอุ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิล ซัลมาน ทรงประกาศโปรเจกต์ “Saudi Vision 2030” โดยวางแผนเพื่อจะพัฒนาสามอย่างหลักๆ คือ สังคม เศรษฐกิจ และ การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

หนึ่งในแผนการทั้งหมดนั้นได้รวมไปถึงการพยายามเพิ่มรายได้จากทางอื่น ที่ไม่ใช่น้ำมันจาก 43.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 266.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6 เท่าจากตอนนี้ 

ซึ่งจะนำมาสู่การลงทุนในภาคเอกชน และสร้างงานให้คนประมาณร้อยละ 70 จากประชากรทั้งหมด 35 ล้านคนในประเทศที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี และเพิ่มสัดส่วนของจีดีพีในประเทศที่ไม่ได้มาจากน้ำมันจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 50

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการนี้คือ มกุฎราชกุมาร ได้เตรียมเงินถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับกองทุนระหว่างประเทศและให้สัญญาว่าภายในปี 2563 ประเทศจะกระจายการหารายได้อย่างสิ้นเชิงและหยุดพึ่งพาการหารายได้จากน้ำมัน ซึ่งสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้น 


แต่ปี 2564 ที่ผ่านมาหุ้นมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ของบริษัทของรัฐอย่าง ซาอุดิ อรามโก้ ได้ขายออกไปให้กับบริษัทต่างชาติ ในปีนี้เองหุ้นอีก 8 หมื่นล้านดอลลาร์ก็ได้ถูกโยกย้ายไปให้นายทุนจากต่างประเทศอีก เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นแต่ปัญหาที่แท้จริงก็ยังอยู่ และเมื่อเหลือเวลาไม่ถึง 10 ปีแล้ว โปรเจกต์นี้ก็ได้ล่าช้าออกไปเรื่อยๆ 

เรื่องแบบเดียวกันก็เกิดขึ้นในประเทศอย่าง “คูเวต” ที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันสูงถึงร้อยละ 95 ของรายได้ทั้งประเทศ และประมาณร้อยละ 40 ของจีดีพีของประเทศทั้งหมดก็มาจากน้ำมันอีกด้วย 

คูเวตมีน้ำมันอยู่ในคลังถึงประมาณ 1 แสนล้านบาร์เรล ประกอบกับประเทศอยู่ในพื้นที่ที่สามารถผลิตน้ำมันได้ง่าย มันก็เห็นชัดได้ว่าทำไมการกระจายการหารายได้ไปในรูปแบบอื่นถึงทำได้ยากมาก เมื่อเทียบกับการผลิตน้ำมันและขายน้ำมันต่อไป

แต่อย่างประเทศรุ่นพี่อย่างซาอุดิอะราเบีย คูเวตเองก็ออกโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า “Kuwait Vision 2035” ออกมา

แต่มาตรการของโปรเจกต์นี้แตกต่างออกไปจากซาอุดิอะราเบียอย่างชัดเจน คูเวตวางแผนว่าพัฒนาและพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีก คูเวตวางแผนว่าจะลงทุนอีก 5 แสนล้านดอลลาร์เพื่อจะทำให้การขุดเจาะน้ำมันมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 

คูเวตเลือกที่จะไม่มองข้ามการพึ่งพาน้ำมัน และเลือกที่จะเพิ่มการผลิตในขณะที่ยังมีเวลาเหลืออยู่ แล้วนำกำไรที่ได้มาพัฒนาประเทศอีกที 

ประเทศถัดมาที่ผมอยากพูดถึงคือ “โอมาน” ประเทศที่อยู่ภายระบอบราชาธิปไตย เป็นประเทศที่ไม่ได้โชคดีเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ในอีก 2 ทศวรรษหลังจากนี้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของโอมานจะหมด ซึ่งแปลว่าโอมานไม่มีทางเลือกและเหลือเวลาไม่มากนัก 

แต่ทุกวันนี้โอมานก็ยังพึ่งพารายได้จากน้ำมันมากถึงร้อยละ 68 ถึง ร้อยละ 85 ในตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และจีดีพีของโอมานก็ไม่ได้สูงนัก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำมัน 1 บาร์เรลสูงกว่าซาอุดิอะราเบียถึง 4 เท่า เผลอๆ สิ่งเดียวที่โอมานสามารถทำได้คือเพิ่มภาษีและลดสวัสดิการภาครัฐลง

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะว่าการขอเงินจากประชาชนก็หมายความว่าอำนาจก็จะอยู่ในมือประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ราชกุมารของโอมานทำได้ไม่ดีนักในช่วงที่ผ่านมา 

การกระจายได้จากเศรษฐกิจที่ดี โอมานต้องดูประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ซึ่งน่าจะเป็นประเทศที่คนทั่วโลกรู้จักและเดินทางไปมากที่สุดในตะวันออกกลาง ซึ่งนั่นมาจากความตั้งใจของประเทศด้วย

ถึงแม้ว่าประเทศจะส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่มากกว่าร้อยละ 95 ของจีดีพีของนครดูไบมาจากรายได้อื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน 

นครดูไบตั้งใจจะเป็นที่ตั้งของการท่องเที่ยว ไอที และ การเงินของโลก ดูไบนำรายได้จากน้ำมันมาพัฒนาเมืองและสร้างแหล่งท่องเที่ยวและกลายเป็นที่ท่องเที่ยว ความหรูหรา เทคโนโลยี ของโลก 

"สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" เป็นตัวอย่างที่ดีในการกระจายรายได้จากเศรษฐกิจที่นอกจากน้ำมัน และในการที่ประเทศในตะวันออกกลางลดการพึ่งพาน้ำมัน พวกเขาต้องเปิดประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พัฒนาภาคเอกชน และนำวัฒนธรรมจากตะวันตกมาในประเทศบ้างเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงต้องใช้เวลานาน และโปรเจกต์เหล่านี้อาจจะไม่ได้มาเร็วอย่างที่คิด แต่การกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่ควรทำอยู่ดี ไม่งั้นความรวยก็จะหายไปเร็วอย่างกับตอนมันมา.
คอลัมน์:  คุยให้... “คิด”
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ApolloX Solutions
[email protected]