อาร์เจนตินา กำลังจะใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลหลัก | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

อาร์เจนตินา กำลังจะใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลหลัก | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ในบทความที่แล้ว ผมได้พูดถึงนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ไซม่อน คูสเน็ตส์ (Simon Kuznets) ที่เคยออกบทวิเคราะห์ว่า บนโลกนี้มีเศรษฐกิจอยู่ทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา ญี่ปุ่น และอาร์เจนตินา

ถ้าใครอ่านบทความผมเมื่อเดือนที่แล้ว คงนึกสงสัยเหมือนผมอย่างแน่นอน นั่นคือเกิดอะไรขึ้นกับอาร์เจนตินา ทำไมถึงนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ถึงเอาอาร์เจนตินาแยกออกมาจากประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา 

ทั้งๆที่อาจจะมีประเทศที่น่าเอามาเป็นเคสอื่นๆที่น่าสนใจ ทั้งเวเนซูเอลา ตุรกี หรือแม้กระทั่งประเทศอย่างศรีลังกา ที่ได้ประกาศว่าประเทศไม่มีเงินชำระหนี้ตามกำหนดของ IMF เสียแล้ว ในบทความนี้ผมจึงจะพูดถึงประเทศอาร์เจนตินา ว่าเกิดอะไรขึ้นและทำไมถึงเป็นประเทศที่ไซม่อน คูสเน็ตส์ แยกออกมาจากกลุ่ม

หากย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่เติบโตและน่าจับตามองประเทศหนึ่งของโลกเลย ถึงขนาดว่าติด 10 อันดับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยเม็ดเงินที่ไหลเทมาจากประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา 

เกษตรกรรมของอาร์เจนตินาอยู่ในอันดับต้นๆของโลก และสามารถนำเอาเทคโนโลยีทางการปลูกที่นำสมัยมาใช้กับผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนั้นอาร์เจนตินาก็เป็นประเทศที่มีชาวยุโรปต่างพากันอพยพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รายได้ต่อหัวของชาวอาร์เจนตินาในสมัยนั้นสูงพอๆกับชาวฝรั่งเศษ อังกฤษ และ เยอรมัน 

แต่ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมของอาร์เจนตินาตั้งแต่สมัยนั้นคือ ปัญหาคอร์รัปชันในแวดวงนักธุรกิจและนักการเมืองสูงมากตั้งแต่สมัยนั้น ประกอบกับจำนวนของรายได้ของชาวอาร์เจนตินาเริ่มมีความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถือว่า เป็นจุดสำคัญของประเทศอาร์เจนตินา เพราะถึงแม้ว่าอาร์เจนตินาเองไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนเป็นหลัก แต่ในเมื่อชาวยุโรปที่ต่างพากันอพยพเข้าไปก็ทำให้ เป็นช่วงระยะเวลาที่ลำบากสำหรับพวกเขา 

พอสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง ประเทศร่ำรวยในแถบยุโรปที่เคยนำเข้าสินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์จากอาร์เจนตินาก็พากันถังแตกจากสงคราม ทำให้ประเทศนี้เข้าสู่โหมด Stagnation เป็นที่เรียบร้อย หรือภาวะนิ่งและไม่มีการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะประเทศพึ่งการส่งออกเป็นหลัก 

เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาย่ำแย่ลงหลังจากช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่สุดในปี ค.ศ. 1929 พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ประชาชนชั้นกลางของอาร์เจนตินาเริ่มไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาที่ทำให้รายได้เขาต่ำลง 

อาร์เจนตินา กำลังจะใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลหลัก | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

รัฐบาลจึงพยายามกอบกู้เศรษฐกิจ โดยการทำสัญญาทางการค้ากับประเทศในแถบฝั่งยุโรป แต่สัญญาเหล่านี้เป็นสัญญาที่เอนเอียงไปฝั่งยุโรปเป็นอย่างมาก ถ้าเรากลับไปดูรายละเอียดของสัญญาเหล่านี้จะเห็นได้เลยว่าสัญญาเหล่านี้ถูกเซ็นไปเพราะนักการเมืองที่ต้องการจะเอาเปรียบประเทศ

หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการทำรัฐประหารและการปฏิวัติขึ้นหลายๆ ครั้งในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดมุมมองที่ไม่ดีกับประเทศนี้จากสายตาของชาวต่างชาติ ทำให้การส่งออกที่เป็นหัวใจหลักของประเทศนี้ย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม 

ทุกๆอย่างได้เปลี่ยนไปหลังจากเข้ามามีอำนาจของประธานาธิบดี ฮวน เปอรอน ประธานาธิบดีคนนี้พยายามที่จะเข้ามาแก้ปัญหาโดยการทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศมาอยู่ในมือของรัฐบาลอีกครั้ง หรือการทำ Nationalization

 สิ่งนี้เองก็ทำให้ประเทศกลับมามีรายได้แค่เพียงช่วงแรกเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศย่ำแย่จนถึงจุดที่ต่ำที่สุดคือการที่ ฮวน เปอรอน เปิดรับผู้นำของนาซีเยอรมันให้มาอพยพอยู่ในประเทศนี้ได้ ที่ทั้งโลกพยายามจะเอาชนะและปราบปราม สิ่งนี้เป็นตัวจุดชนวนที่ทำให้ประเทศนี้ไม่มีการเติบโตไปอีก 1 ถึง 2 ทศวรรษเลยทีเดียว

อาร์เจนตินา กำลังจะใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลหลัก | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ประเทศอาร์เจนติน่าได้มีการทำปฏิวัติและรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่สถานการณ์และเศรษฐกิจของประเทศกลับย่ำแย่ลงเรื่อยๆเป็นต้นมา ซึ่งนั้นนำมาสู่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์สงสัยว่าทำไมถึงประเทศอาร์เจนตินาถึงย่ำแย่ได้ขนาดนี้ 

ในเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศยังแข่งขันกับประเทศอย่างออสเตรเลีย และแคนาดาอยู่เลย แล้วทำไมถึงพอผ่านไป 100 ปีประเทศอาร์เจนตินาถึงหยุดอยู่กับที่และไม่ไปไหน มีสองทฤษฎีที่นักเศรษฐศาสตร์จากทั่วโลกตั้งข้อสันนิฐานไว้ 

อันที่หนึ่งคือ ประเทศอาร์เจนตินามีการทำการเกษตรก็จริงแต่ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าอีกสองประเทศ ด้วยความที่ว่าประเทศอาร์เจนตินาตั้งอยู่ในเทือกเขาอันเดส การทำการเกษตรนั้นทำได้ยากเมื่อเทียบกับอีกสองประเทศ และ ด้วยความที่ประเทศมีขนาดเล็กกว่าอีกสองประเทศจึงทำให้การเกษตรกระจุกตัวอยู่แค่คนกลุ่มเดียว

ทฤษฎีที่สองคือ ประเทศอาร์เจนตินามีการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางทำให้ประเทศไม่ไปไหนมาไหน ด้วยความที่ประเทศออสเตรเลียและแคนาดาเคยถูกปกครองโดยอังกฤษ จึงทำให้รัฐธรรมนูญและกฎหมายสอดคล้องกับระบอบของอังกฤษทำให้ทุกๆอย่างเป็นไปตามกฎหมาย 

แต่อาร์เจนตินาถูกปกครองโดยสเปนมาก่อน ซึ่งเป็นระบอบที่มีการเอายุทธวิธีทางทหารมาใช้ทำให้ประเทศสามารถล้มรัฐธรรมนูญได้ทุกเมื่อ ทำให้ประเทศอาร์เจนตินามีการทำรัฐประหารและปฏิวัติบ่อยครั้ง

 ข้อหนึ่งที่เป็นเรื่องน่าสนใจมากคือประเทศที่เคยปกครองโดยอังกฤษมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว สูงกว่า ประเทศที่เคยปกครองโดยสเปนสูงกว่าเกือบร้อยละ 50 เลย

ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอาร์เจนตินากลับซ้ำร้ายลงไปกว่าเดิม คือปัญหาในเรื่องสกุลเงินของประเทศ สกุลเงินเปโซของอาร์เจนตินาในสมัยก่อนถูกตั้งไว้ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 3 เปโซ ตอนช่วงค.ศ. 1990 ตอนนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 112 เปโซ เรียกได้ว่าค่าเงินตกลงไปกว่าร้อยละ 98 

ทำให้ตอนนี้ประเทศอาร์เจนตินา กลายเป็นประเทศที่รับสองสกุลเงินคือทั้งดอลลาร์สหรัฐและเปโซ ทุกวันนี้เรื่องการใช้เงินในชีวิตประจำวันเช่น การนั่งแท็กซี่ ซื้อกับข้าว คนอาร์เจนตินายังใช้สกุลเงินเปโซเป็นหลักอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องอย่าง เช่น การผ่อนรถ การซื้อบ้าน หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินเดือน ล้วนแล้วแต่ใช้เงินดอลลาร์ทั้งสิ้น  

เมื่อเวลาผ่านไป ประกอบกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ การใช้เปโซในอาร์เจนตินาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายจะเป็นการใช้ดอลลาร์แทนอย่างสมบูรณ์ และจะทำให้ประเทศอาร์เจนตินาเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดบนโลกใบนี้ที่ไม่สามารถควบคุมสกุลเงินของตัวเองได้เลย. 
คอลัมน์ คุยให้... “คิด”
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ApolloX Solutions
[email protected]