เมื่อ "พนักงาน" ยุคโควิด ต่อต้านการทำงานที่ออฟฟิศ ทางออกแบบไหนดีที่สุด?

เมื่อ "พนักงาน" ยุคโควิด ต่อต้านการทำงานที่ออฟฟิศ ทางออกแบบไหนดีที่สุด?

การเรียก "พนักงาน" กลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศแบบเข้มงวด อาจสร้างจุดแตกหักระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยเฉพาะ "พนักงานสายเทคฯ" ฝีมือดี หากนายจ้างไม่อยากให้คนกลุ่มนี้หลุดมือไปจากบริษัท ควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

เมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลายความน่ากังวล ยอดผู้ติดเชื้อ-ยอดผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้หลายประเทศประกาศ "เปิดประเทศ" เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคส่วนขององค์กรต่างๆ พบว่าหลายบริษัททั่วโลก เริ่มแจ้งให้ "พนักงาน" กลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศตามปกติ

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แต่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ หรือบริษัทที่มีแนวคิดแบบหัวก้าวหน้า-มีความทันสมัย ที่น่าจะยืดหยุ่นให้พนักงานทำงานที่บ้านได้

แต่กลับมีโนบายบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศด้วยท่าทีแข็งกร้าว ทำให้พนักงานหลายคนไม่พอใจ เพราะดูไม่ใช่นโยบายหรือแนวทางที่ควรจะเป็นในแบบฉบับการทำงานในยุคปกติใหม่ (New Normal)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเจาะลึกประเด็นการบังคับ "พนักงานออฟฟิศ" ให้กลับเข้าที่ทำงานเหมือนเดิมอย่างไม่ผ่อนปรนใดๆ กรณีนี้จะกลายเป็นจุดแตกหักระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างหรือไม่? เนื่องจากมีข้อมูลจากหลายแหล่งบ่งชี้ว่า การใช้คำสั่งที่แข็งกร้าวเช่นนี้ อาจยิ่งส่งผลดีต่อพนักงานที่มีมูลค่าสูง (Top Tier) ในตลาดแรงงานด้วยซ้ำไป (เพราะพวกเขามีอำนาจและความสามารถที่เจ๋งพอจะเลือกบริษัทที่อยากทำงานได้ด้วยตัวเอง)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

การบังคับให้ "พนักงาน" เข้าออฟฟิศ อาจไม่ใช่เรื่องดี?

ประเด็นเรื่อง “การบังคับให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน” กำลังเป็นเรื่องที่สร้างความไม่พอใจให้บรรดา "พนักงานออฟฟิศ" ทั่วโลกอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม “พนักงานสายเทคโนโลยี” ที่มีคุณภาพระดับ Top Tier ซึ่งมีมูลค่าสูงในตลาดแรงงาน 

เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนักหน่วงแค่ไหน แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็ยังคงมีศักยภาพในการทำงานและใช้ความสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี 

จากเหตุและผลที่พูดมาข้างต้นจึงทำให้พนักงานส่วนใหญ่ที่ทำงานสายนี้ไม่พอใจกับนโยบายการกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ ในเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด โดยประเด็นสำคัญที่ควรต้องมีตามยุคปกติใหม่ (New Normal) นั่นคือ การมีความคล่องตัวในการทำงาน (Flexibility) ไม่ได้บังคับจนเกินไป เข้าบริษัทเมื่อมีประชุม-วาระสำคัญ หรือเข้าออฟฟิศเพียง 1-3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเป็นการเจอกันครึ่งทาง

ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ปรับแนวคิดใหม่ ก็อาจทำให้พนักงานระดับคุณภาพหลุดมือไปจากบริษัทได้ เพราะคนเหล่านี้พร้อมจะกดปุ่มสมัครงานและกระพือปีกหนีไปที่ใหม่ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องคิดมาก

บริษัทเทคฯ ระดับโลก มีสถานการณ์การทำงานอย่างไร?

หากลองพิจารณาในภาพรวมขององค์กรหรือบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่หลายๆ แห่งของโลก พบว่าส่วนใหญ่พนักงานเจอสถานการณ์วิกฤติในที่ทำงานคล้ายๆ กัน คือ มีการบังคับพนักงานกลับออฟฟิศ ซึ่งเสี่ยงโดนบริษัทคู่แข่งแย่งตัว, ประเด็นความยืดหยุ่นในการทำงาน และพนักงานที่ไม่มีทักษะสอดรับการทำงานยุคใหม่อาจโดนเลิกจ้าง

สำนักข่าว The Wall Street Journal รายงานว่า นับตั้งแต่เมษายน 2565 จนถึงปัจจุบันนี้ บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก อาทิ Alphabet, Google, Apple และ Microsoft ได้ประกาศและชี้แจงนโยบายการทำงานใหม่ว่า พนักงานจะต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างเคร่งครัด โดยอ้างเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญ

ประเด็นนี้ทำให้พนักงานบริษัทระดับ Top Tier เหล่านี้ต้องตัดสินใจว่าจะกลับมาทำงานตามนโยบายบริษัท หรือไปหางานที่ใหม่ที่มีนโยบายตอบโจทย์ความต้องการ 

แต่สิ่งนี้ดูจะไม่ได้เป็นปัญหาสักเท่าใด เพราะพนักงานสายงานนี้ส่วนใหญ่มีความคิดที่จะโบกมือลาออฟฟิศอย่างถาวรด้วยซ้ำ ไม่มีความกังวลว่าจะหางานไม่ได้ เพราะ

ความสามารถ-ทักษะของตนเอง มีมูลค่าในตลาดสูง ทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองเรื่องการทำงานได้

ล่าสุด เอียน กู๊ดเฟลโลว (Ian Goodfellow) ผู้อำนวยการด้าน Machine Learning ของบริษัท Apple ได้ประกาศลาออกภายในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ด้วยสาเหตุเรื่องนโยบายการให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งในโน้ตอำลาได้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า ยิ่งนโยบายมีความยืดหยุ่นมากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นผลดีกับทีมงานผมเท่านั้น 

ไม่เพียงเท่านั้น พนักงานกว่า 1,400 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 165,000 คนในบริษัท Apple ยังได้ลงนามจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารให้พิจารณานโยบายการทำงานใหม่อีกครั้งด้วย เพราะนโยบายล่าสุดบังคับให้พนักงานเข้าบริษัท 3 วันต่อสัปดาห์ 

ส่วนทางด้าน Airbnb, Twitter และ Zillow Group ยังคงมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ (Remote Working) ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำคัญในการช่วงชิงตัวพนักงานตัวเด็ดๆ จากบริษัทคู่แข่ง ที่มีนโยบายไม่สอดรับกับความต้องการของพนักงาน

นอกจากนี้อีกหนึ่งเรื่องที่อาจเกิดขึ้นกับหลายองค์กร ก็คือ “พนักงานบางกลุ่มอาจโดนเลิกจ้าง” เพราะทักษะเดิมที่มีอยู่ ไม่สอดรับกับความต้องการในตลาดงานปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ประกอบกับปัญหาใหญ่ที่บางบริษัทอย่าง Netflix หรือ Lyft Inc. เจอคือ ผลประกอบการไตรมาส 1/65 ไม่ค่อยดี (รายงานโดย The Wall Street Journal) ซึ่งอาจทำให้บริษัทตัวอย่างดังกล่าวใช้จังหวะเวลานี้ในการคัดกรองพนักงานออกในที่สุด

 

สาเหตุหลักที่พนักงาน "ลาออก" ในยุคโควิด-19

ข้อมูลจากงานวิจัยของสถาบัน ADP Research Institute ที่สำรวจความเห็นเรื่องการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา พบว่า 2 ใน 3 ของพนักงานออฟฟิศ “จะลาออกและหางานใหม่” หากมีการบังคับเรื่องนี้ (เก็บผลสำรวจจากพนักงานออฟฟิศ จำนวน 32,000 คน)

นอกจากนี้ศูยย์วิจัย Pew Research Center ได้เผยข้อมูลเรื่อง “10 สาเหตุสูงสุดที่ทำให้คนอยากลาออกจากงาน” มีข้อมูลดังต่อไปนี้ (เรียงจากมากไปน้อยที่สุด และสำรวจ ณ วันที่ 7-13 ก.พ. 65)

10 สาเหตุสูงสุดที่ทำให้คนอยากลาออกจากงาน

  • อันดับที่ 1 จ่ายค่าจ้างน้อยเกินไป
  • อันดับที่ 2 ไม่มีโอกาสเติบโต ไม่มีความก้าวหน้า
  • อันดับที่ 3 ไม่ได้รับความเคารพในที่ทำงาน
  • อันดับที่ 4 ปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูลูกที่บ้าน
  • อันดับที่ 5 ไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน
  • อันดับที่ 6 ผลประโยชน์ไม่ดี
  • อันดับที่ 7 อยากเปลี่ยนสถานที่
  • อันดับที่ 8 ทำงานเกินชั่วโมงการทำงาน
  • อันดับที่ 9 ใช้เวลาทำงานน้อยเกินไป
  • อันดับที่ 10 พนักงานต้องการวัคซีนป้องกันโควิด-19

---------------------------------------

อ้างอิงTech Hindustan TimesThe Wall Street JournalPew Research CenterADP Research InstituteWSJ Careers & Leadership