4คำถามท้าทายให้ขบคิด | วรากรณ์ สามโกเศศ

4คำถามท้าทายให้ขบคิด | วรากรณ์ สามโกเศศ

หลายคนคงอึ้งไปเหมือนกัน ถ้ามีใครมาถามว่า “ต้องการอะไรในชีวิต” “เมื่อจากไปแล้วอยากให้คนข้างหลังนึกถึงอย่างไร” “อะไรคือความสุข” และ “อะไรคือความทุกข์”

คำถามเหล่านี้สำคัญและท้าทายแต่ไม่ค่อยได้ขบคิดกัน เมื่อถูกถามทำให้ต้องคิดทบทวนชีวิตและปรับแก้ไขสำหรับเวลาที่ยังเหลืออยู่

สำหรับ “ต้องการอะไรในชีวิต” แวบแรกในความคิดน่าจะเหมือนคนทั่วไปคือเงิน ความมั่งคั่ง และความสุขสบาย เพราะคนมักคิดว่าเมื่อมีเงินแล้วก็สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง

แต่เมื่อคิดดูสักพักแล้วก็อาจรู้ว่ามันเป็นคำตอบที่เร็วเกินไป มนุษย์ไม่ตื้นขนาดนั้นหรอก มันมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นอยู่ในใจของทุกคน และอย่างแตกต่างกันด้วย

ในเชิงชีววิทยา มนุษย์แต่ละคนมีดีเอ็นเอซึ่งเปรียบเสมือนโค้ดคอมพิวเตอร์ที่สั่งให้ร่างกายทำงานแตกต่างกันประมาณ 0.1% หรือพูดอีกอย่างว่ามนุษย์โดยทั่วไปมีดีเอ็นเอที่เหมือนกันอยู่ 99.9% (กล้วยกับมนุษย์มีดีเอ็นเอร่วมกันอยู่ 44% ส่วนหนูมีดีเอ็นเอร่วมกับมนุษย์อยู่ 90%)

ซึ่งถือว่าแตกต่างกันมากพอควร เพราะดีเอ็นเอซึ่งมีอยู่ในแต่ละเซลล์นั้นบรรจุข้อมูลทั้งหมดกว่า 3,000 ล้านข้อมูล ดังนั้น 0.1% ก็เท่ากับประมาณ 3 ล้านข้อมูล

อย่างไรก็ดี ดีเอ็นเอมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยยีน 20,000-25,000 ตัว ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมประกอบ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าการอยู่อาศัย การบริโภค ความเครียด ฯลฯ ในการทำให้ร่างกายทำงานตามที่ยีนกำหนด ดังนั้น ถึงแม้มนุษย์มียีนเหมือนกัน แต่ร่างกายบางส่วนอาจทำงานอย่างแตกต่างกันได้ 

นอกจากมนุษย์แตกต่างกันในด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมสารพัดรูปแบบแล้ว ความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นผลพวงของหลายอิทธิพลยังแตกต่างกันอีกด้วย มนุษย์มีความฝันและความปรารถนาตลอดจนความสามารถในการเติมมันให้เต็มไม่เหมือนกัน ดังนั้น มนุษย์จึงมีแรงขับเคลื่อนในการต้องการบางสิ่งในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน

ในขั้นพื้นฐาน มนุษย์ทุกคนต้องการปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค นอกจากนี้ยังต้องการอีก 4 สิ่งเป็นขั้นๆ ขึ้นไปตามทฤษฎีของ Maslow อันได้แก่ (1) ความมั่นคง ปลอดภัย (2) ความรักและความผูกพันต่อเนื่องกับคนอื่น (3) ความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ เช่น ได้รับการยอมรับและการเคารพยกย่อง (4) การบรรลุความปรารถนาในการเป็นคนอย่างที่ตนเองต้องการ

ในโลกจริงภายใต้ดีเอ็นเอและสภาพแวดล้อมที่ได้รับมาแตกต่างกัน มนุษย์แต่ละคนจึงมีความแตกต่างกันมาก ทุกคนมิได้ไต่บันไดข้างต้นจากขั้นพื้นฐานขึ้นไปเรื่อยๆ และไปยืนที่บันไดขั้นเดียวกันทั้งหมด บางคนก็อยู่ที่ระดับปัจจัย 4 เท่านั้น

บางคนก็อยู่ที่บันไดของความปรารถนาของความมั่นคงในชีวิต บ้างก็มีความปรารถนาขึ้นไปถึงบันไดขั้นต้องการความรัก บ้างก็ต้องการมีความรู้สึกว่าเป็นคนมีความสำคัญ มีคนนับถือและยกย่อง ฯลฯ 

เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามสำหรับทุกคนว่า “ต้องการอะไรในชีวิต” จึงมีคำตอบที่แตกต่างกันอย่างน่าคิด บางคนมีชีวิตที่ขับเคลื่อนเพื่อการมีเงินและมีอำนาจ ซึ่งหมายถึงมีความมั่นคงในชีวิตด้วยการมีเงิน และใช้เงินให้บรรลุในสิ่งที่ตนเองต้องการ อีกทั้งมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ ได้รับความนับถือยกย่อง (ส่วนจะจริงหรือไม่นั้นเป็นคนละประเด็น)

มนุษย์มีความซับซ้อนในความต้องการของตนในชีวิต อันเนื่องมาจากการเป็นผลพวงของดีเอ็นเอ สิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ในชีวิต โดยอาจมีหลายเป้าหมายอย่างตนเองไม่เข้าใจก็เป็นได้ ถ้าคิดออกเร็วเท่าใดก็มีโอกาสวางแผน ปรับแผนและดำเนินการเพื่อให้บรรลุความปรารถนาตนเองได้เร็วและอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

สำหรับคำถามที่ว่า “ต้องการให้คนรุ่นหลังนึกถึงตนอย่างไร” ก็โยงใยกับคำถาม “ต้องการอะไรในชีวิต” หากสิ่งที่ต้องการในชีวิตและวิธีการให้ได้มันมานั้นขัดกับหลักจริยธรรม ก็คาดเดาได้ว่าลูกหลานจะนึกถึงอย่างไร 

แต่ถึงแม้ไม่รู้ชัดเจนว่าต้องการอะไรในชีวิต รู้แต่ว่าจะมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นจนทำให้ครอบครัวต้องเดือดร้อนด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับคุณธรรมแล้ว คนรุ่นหลังก็จะนึกถึงคุณความดีที่ได้ทำไว้เป็นตัวอย่าง จะว่าไปแล้วการหาคำตอบของคำถามข้อนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าตลอดชีวิตของการดำรงชีวิตนั้นได้ทำตนอย่างไร

คำถาม “อะไรคือความสุข” และ “อะไรคือความทุกข์” นั้น สำหรับคนส่วนหนึ่งตอบได้ยาก เพราะทำมาหากินในแต่ละวัน จนไม่รู้ว่าอะไรคือความสุขหรือความทุกข์ เพราะทำงานไปโดยมิได้นึกถึงอะไร เพียงตระหนักว่าความทุกข์และความสุขนั้นก็มีมาสลับกันไปโดยไม่คิดลงไปลึกๆ ว่าอะไรทำให้เกิดความสุขและความทุกข์ 

บางคนอาจตอบว่าการมีเงินคือความสุข หากไม่มีเงินก็เกิดความทุกข์ ยิ่งมีเงินมากยิ่งมีความสุขมาก แต่เมื่อคำนึงถึงว่าการมีสุขภาพดีและการมีครอบครัวที่มีความสุขอบอุ่นนั้นไม่ต้องพึ่งพาเงินทองมากมาย และเห็นคนรวยมากหลายคนสุขภาพย่ำแย่และไม่มีความสุขจากครอบครัวก็อาจทำให้เกิดคำตอบอื่นๆ ทั้งระยะสั้นและยาวได้ 

เช่น ในระยะสั้นความสุขคือ เห็นหลานเติบโต เห็นไม้ที่ปลูกออกดอก ได้ฟังเพลงเพราะ ได้กินอาหารอร่อย ได้ดูหนังซีรีส์สนุกๆ ฯลฯ หรือในระยะยาวความสุขคือเห็นสังคมของเราก้าวหน้า บ้านเมืองสงบไม่วุ่นวาย มีชีวิตที่ราบรื่นไม่ผันผวน ได้มีโอกาส “แจกของ-ส่องตะเกียง” (คนในวัยสูงอายุ “ให้ของ” และ “ให้ปัญญา” แก่ผู้อ่อนวัยกว่า) ฯลฯ

ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดสำหรับคำถามทั้ง 4 ข้างต้น เพราะมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกันทั้งประสบการณ์ในชีวิต วิธีคิดตลอดจนการมองโลก ตราบที่ได้ใคร่ครวญคำถามที่แสนธรรมดาแต่ลึกซึ้งนี้แล้วก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น 

ในชีวิตอันแสนสั้นของเราที่เข็มนาฬิกาไม่เคยหยุดเดินนั้น การรู้จักตนเองจากการพยายามคิดค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจผัดวันประกันพรุ่งได้.