ไร้สุขทุกข์ใจเพราะ "มด” | วรากรณ์ สามโกเศศ

ไร้สุขทุกข์ใจเพราะ "มด” | วรากรณ์ สามโกเศศ

รู้จักและเรียนรู้ "มด” 9 พันธุ์ ที่ชอบเข้ามาเพ่นพ่านในสมองของเรา ถ้าไม่สู้กับมันให้ชนะ เราจะหาความสุขจากชีวิตได้ยาก

“ชีวิตผมหมดแล้วเพราะจะไม่มีวันคุ้นเคยกับนิวนอร์มัลแน่ ๆ”     “ความไม่แน่นอนในโลกมันมีมากจนผมสู้ไม่ไหว”      “ยังไง ๆ ชีวิตผมก็เป็นแค่นี้แหละผมรู้มานานแล้ว”    “เจ้านายเขาเกลียดผมมาก”     “ผมไม่มีวันได้งานใหม่ ๆ ดี ๆ อีกแน่นอน”    “ไอ้ผมมันคนขี้แพ้   ทำอะไรก็เจ๊งหมด”   ฯลฯ 

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่เข้ามาในสมองจนทำให้ทุกข์ใจ   ไร้สุข   วิตกกังวล และอาจถึงซึมเศร้าได้     ลักษณะการคิดเช่นนี้เกิดได้กับคนจำนวนมากเพราะมันมี “มด” อยู่ 9 พันธุ์ที่ชอบเข้ามาเพ่นพ่านในสมองของเรา ถ้าไม่สู้กับมันให้ชนะเราจะหาความสุขจากชีวิตได้ยาก

  

 “มด หรือ ANTs ซึ่งย่อมาจาก Automatic Negative Thoughts (ความคิดอัตโนมัติแง่ลบ)   เป็น “มด” ที่ Dr.Daniel G. Amen กล่าวถึงในหนังสือดังคือ “Change Your Brain Change Your Life”  ตีพิมพ์ในปี 1999  

ความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้นในสมองของเราอย่างอัตโนมัตินั้นเปรียบเสมือน “มด” หรือ ความคิดที่หลอกลวงตัวเราจนทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เป็นจริง   “มด” นั้นมี 9 พันธุ์ดังต่อไปนี้  

(1) “ทั้งหมด หรือเป็นศูนย์”    มดพันธุ์แรกคือการคิดว่าทุกสิ่งเป็นได้สองอย่างเท่านั้นคือดีกับเลว    /    ขาวกับดำ     /   ใช่หรือไม่ใช่  ฯลฯ  ดังนั้นถ้าเราทำอะไรผิดพลาดไปบ้างก็คือความล้มเหลวทั้งหมด     ความคิดเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกท้อถอย และอาจล้มเลิกความพยายามไปเลยเพราะโลกมีแต่ “สำเร็จ” กับ “ล้มเหลว” เท่านั้น    ไม่มีอะไรอยู่ตรงกลาง

    (2)  “คิดเหมารวม”     มดพันธุ์นี้ทำให้ความคิดหมกมุ่นอยู่กับคำว่า “เสมอ”     “ไม่เคยเลย”     “ทุกครั้ง”    “ทุกคน”   จนทำให้คิดว่า  “ฉันทำผิดพลาดเสมอ”     “ไม่เคยมีใครฟังฉันแม้แต่สักครั้ง”     “เขาไม่เคยพูดดีกับฉันเลย” ฯลฯ   ทุกอย่างจะคิดแบบเหมารวมว่าทุกคน   ทุกครั้ง   ทุกเวลาจะไม่ดีกับเราเสมอ      ความคิดแบบนี้สุดโต่ง   และทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดจากความคิดที่ผิด ๆ ของเรา      ในโลกจริงไม่มีอะไรที่อาจเหมารวมได้     มันมีทั้งการทำผิดบ้างถูกบ้าง    “มด” ตัวนี้จะทำให้รู้สึกท้อใจและล้มเหลวในชีวิต

    (3)  “มองเห็นแต่สิ่งที่เป็นลบ”    มดพันธุ์นี้ทำให้มองเห็นอะไรเป็นลบไปหมด     มองไม่เห็นสิ่งดี ๆ ที่อาจแอบซ่อนอยู่ในสถานการณ์เดียวกันได้  เช่น  หกล้มหัวแตกทำให้คิดว่าถูกแกล้งหรือโชคร้าย  โดยมองไม่เห็นว่ามันสอนให้เรารอบคอบมากยิ่งขึ้นในการเคลื่อนไหวร่างกายในอนาคต  คนที่มองเห็นแต่สิ่งที่เป็นลบนั้นจิตใจจะหดหู่   ฮอร์โมน  Cortisol จะหลั่งออกมาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

(4)  “คิดตามความรู้สึก”  มดพันธุ์นี้ทำให้เกิดความคิดว่าสิ่งที่รู้สึกอยู่นั้นเป็นจริง แต่ความจริงก็คือความรู้สึกก็คือความรู้สึก มิใช่ความจริงตามหลักฐานเช่น   คิดว่าคนไม่ชอบเรา    คิดว่าเราสู้คนอื่นไม่ได้   คิดว่าเพื่อนหักหลัง     คิดว่าเราเป็นส่วนเกินของที่ทำงาน  ฯลฯ    ทั้งหมดล้วนมาจากความรู้สึกที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ทั้งสิ้น

    (5)  “อ่านใจออก”    การทึกทักตามความรู้สึกของตนเองว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไรกับเรา เช่น จิตนาการว่าหมอที่ตรวจโรคจะพูดอะไรที่เป็นลบเกี่ยวกับสุขภาพของเรา  เจ้านายกำลังจะไล่เราออกจากงาน ฯลฯ

 “มด” พันธุ์ที่ชอบมาเพ่นพ่านเช่นนี้ทำให้เกิดความทุกข์ใจโดยไม่จำเป็นเพราะคิดไปไกลกว่าความเป็นจริง

    (6)  “หมอดูแม่น ๆ”    มดตัวนี้ทำให้คิดว่า “คนดูคงโห่เราให้ลงจากเวทีแน่ ๆ”    “เหตุการณ์เลวร้ายที่คาดไว้จะเกิดเป็นจริงแน่ ๆ”     “ต้องป่วยเป็นโรคร้ายแน่ ๆ จากผลการตรวจเลือด”     “จะพยายามแก้ไขความผิดพลาดอย่างไรก็ไม่เป็นผลแน่นอน”  

ไร้สุขทุกข์ใจเพราะ \"มด” | วรากรณ์ สามโกเศศ

 การคิดแบบนี้จะทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในใจ      และบ่อยครั้งมันก็อาจเกิดขึ้นจริงอันเป็นผลจากตัวเรา   เช่น  เมื่อคิดเช่นนี้ก็ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองและอาจถูกโห่ไล่ลงจากเวทีจริง ๆ ก็เป็นได้

    (7)  “หมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาด”    มดพันธุ์นี้ทำให้เราติดกับดักของสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในอดีต   คิดขึ้นมาคราใดก็เสียใจและเสียดาย   เช่น   “ถ้าเราไม่ตัดสินใจแบบนั้นป่านนี้เราก็สบายแล้ว”     “ไม่น่าแต่งงานด้วยเลย   ถ้าเลือกพี่เบื๊อกก็คงไม่ต้องปวดหัวแบบนี้”    “ไม่ควรพูดจาแบบนี้กับเพื่อนรักเราเลย”          สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในอดีตซึ่งเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้     เสียใจและเสียดายอาจนึกถึงได้  แต่ไม่ควรถูก “ขัง” ไว้กับความรู้สึกเช่นนี้อยู่ตลอดจนขาดความสุข

    (8)  “ติดป้ายตราหน้า”    หากเรา “ติดป้าย” ตัวเราเอง หรือคนอื่นในชื่อเชิงลบ    แสดงว่า “มด” พันธุ์นี้กำลังอาละวาดแล้ว    เช่น  “เราเป็นคนขี้แพ้”     “เราเป็นคนขี้เกียจแถมหัวทึบด้วย”    “เราเป็นคนอับโชค”    การตีตราหรือติดป้ายให้ตัวเราเองเช่นนี้     ทำให้เราขาดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเรา      พูดง่าย ๆ ก็คือยอมแพ้ก่อนที่จะลงมือสู้ด้วยซ้ำ    ส่วนการตีตราคนอื่น เช่น  “ไอ้พวกนี้มันงั่ง”   “พวกนี้มันเต่าล้านปี”  รังแต่จะทำให้เป็นผลเสียแก่ร่างกายของเรา

    (9)  “โทษคนอื่น”  มดพันธุ์นี้มีพิษร้ายแรงที่สุด     การโทษคนอื่นเสมอเมื่อประสบสิ่งไม่พึงปรารถนาโดยไม่เคยพิจารณาตนเองเลยว่าที่คิดนั้นถูกต้องหรือไม่    การไม่เคยคิดรับผิดชอบต่อสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นหากนานวันเข้าจะเป็นนิสัยถาวรที่ทำลายอนาคตของตนเอง

    ลองจินตนาการว่าหากตลอดเวลาของการใช้ความคิดมีมด 9 พันธุ์เพ่นพ่านอยู่เสมอแล้วจะเกิดอะไรขึ้น  ในเบื้องต้นคือความทุกข์ใจ   ไร้ความสุข   หากปล่อยไว้นาน ๆ อาจพัฒนาขึ้นเป็นการมีอาการวิตกกังวลเกินเหตุ   เกิดความบาดเจ็บทางจิตใจ   เกิดความเศร้าโศรก หรือ    เกิดภาวะซึมเศร้าได้   ทั้งหมดล้วนเกิดจากความคิดในสมองของเราทั้งสิ้น

    จะปราบ “มด” 9 พันธุ์นี้ได้มี 4 ขั้นตอน กล่าวคือ  
    (1)  รู้ทันทีว่าเป็น “มด” พันธุ์ใดเมื่อมันเกิดขึ้นในสมอง  จงพูดกับตัวเองว่าต้องปราบไอ้มดตัวนี้ให้ได้  
     (2)  ท้าทายตัวเองว่าสิ่งที่คิดนั้นมีความจริงอยู่หรือไม่ และมากน้อยเพียงใดโดยพิจารณาจากหลักฐาน    
    (3)  ขยายความคิดให้กว้างขวางขึ้นโดยพิจารณาว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับความคิดนั้นมากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับความคิดในเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นลบหรือไม่    
    (4)  ทดแทนความคิดที่ทำให้ทุกข์ใจด้วยความคิดเชิงบวก

จิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน    การบังคับความคิดและจิตใจตนเองให้ไปในทิศทางที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก   อย่างไรก็ดีในขอบเขตหนึ่ง หากเราไม่ต้องการความทุกข์ใจอันเกิดจากจินตนาการของตัวเราเองแล้ว    การรู้จักและเข้าใจลักษณะของ “มด” 9 พันธุ์นี้ก็จะสามารถช่วยได้.