การดูแลสุขภาพ ≠ การรักษาโรค (3) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การดูแลสุขภาพ ≠ การรักษาโรค (3) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญระดับแนวหน้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพโดยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าคนหนึ่งของโลกคือ Dr. David Sinclair ซึ่งชื่ออาจไม่คุ้นหูเท่าไหร่

 แต่หากกล่าวถึงคนที่ค้นพบว่าในไวน์แดงนั้นมีสารที่ทำให้อายุยืนคือ Resveratrol หลายคนคงจะนึกออกว่าเรื่องนี้ทำให้การดื่มไวน์มีความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว

    Dr. Sinclair ให้คำแนะนำในหนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2019 (ชื่อว่า Lifespan: Why we age and Why we don’t have to) สำหรับผู้ที่ต้องการมีอายุยืนยาวว่า จากการทำงานวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการแก่ตัวลงของคน (aging) มาเป็นเวลา 25 ปีและได้อ่านบทความทางวิชาการในด้านนี้เป็นหลายพันฉบับ

ผมสามารถให้คำแนะนำได้อย่างมั่นใจว่า การมีสุขภาพที่ดีให้นานที่สุดและทำให้มีอายุยืนที่สุดนั้นจะต้องทำสิ่งนี้เป็นหลักคือ ‘eat less’ ซึ่งผมต้องยอมรับจากประสบการณ์ในการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพกับผู้คนมาเป็นเวลาหลายปีนั้น

พบว่าหากคุยถึงเรื่องการกินอาหารเพื่อสุขภาพ ก็จะมีปฏิกิริยาในเชิงให้ความสนใจสอบถามเพื่อขยายความมากมาย แต่หากคุยเรื่องการให้ออกกำลังกายก็มักจะพูดคุยได้เพียงเวลาสั้นๆ และมักจะไปในทิศทางที่บ่งชี้ว่าต้องการทำให้น้อยที่สุด เพราะเป็นห่วงผลกระทบต่างๆ มากกว่า

ดังนั้นผมจึงจดจำคำแนะนำของ Dr. Sinclair ว่า bottom line คือเราควรจะลดการกินมากกว่าพยายามแสวงหาอาหารที่กินเข้าไปแล้วทำให้สุขภาพดีและอายุยืน ในทางตรงกันข้ามก็จะพยายามออกกำลังกายอย่างเป็นประจำไม่แตกต่างจากการกินอาหารอย่างเป็นประจำทุกวัน

    มาถึงเรื่องของเทคโนโลยีล้ำสมัยที่จะช่วยยืดอายุให้กับมนุษย์ในลักษณะที่จะทำให้ยังหนุ่ม-สาว จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต กล่าวคืออาจไม่ต้องอายุยืนถึง 120 ปี แต่ขอให้ในวันสุดท้ายของการมีชีวิตตอนอายุ 95-100 ปีก็ยังออกไปเดินเล่นและกินอาหารจานโปรดได้เหมือนกับที่เคยทำมาตลอดชีวิต

เทคโนโลยีที่ผมเชื่อว่าน่าจะมีศักยภาพดังกล่าวมีอยู่ 3 ด้านคือ
1.    mRNA
2.    Partial induced pluripotent stem cells (iPSCs)
3.    Crispr-Cas 9 gene editing

1.mRNA: เทคโนโลยีนี้เราคุ้นเคยกันแล้ว เพราะวัคซีนที่พบว่าป้องกันการติด COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือวัคซีนประเภท mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีกระบวนการนำส่ง (messenger) คำสั่งให้เซลล์ของเราผลิตโปรตีนที่ต้องการออกมา โดยคำสั่งดังกล่าวคือ RNA

ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่า mRNA คือเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อยอดในอนาคตให้เซลล์ของเรากลายเป็นโรงงานเพื่อผลิตยารักษาโรคได้ทุกชนิด โดยสามารถเป็นยาที่ผลิตขึ้นมาตรงตามความต้องการของตัวเรา (personalized medicine)

ในต้นปีนี้ National Cancer Institute ของสหรัฐรายงานว่ามีการทำการทดลอง (clinical trials) ยา mRNA เพื่อใช้รักษามะเร็งประเภทต่างๆ กว่า 10 งานทดลอง เช่น การรักษามะเร็งในตับอ่อน มะเร็งในลำไส้และมะเร็งที่ผิวหนัง เป็นต้น

ซึ่งแนวทางที่ใช้คือการ “สอน” ให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์รู้จักเซลล์มะเร็งเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ที่ก้าวหน้าไปมากถึงขั้นการทำ clinical trial ขั้นที่ 2 คือการทดลองโดยทั้งบริษัท BioNTech (ที่ผลิตวัคซีน mRNA ร่วมกับ Pfizer) และบริษัท Moderna เพื่อรักษามะเร็งที่ผิวหนัง (Melanoma)

2.Partial iPSCs: เมื่อปี 2012 ศ.Shinya Yamanaka ได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบว่าเขาสามารถใช้ยีนส์ 4 ชนิด (Yamanaka factors) เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ของหนูทดลองแปลงสถานะไปเป็น stem cell

กล่าวคือเซลล์ปกติในมนุษย์หรือสัตว์นั้นจะ “รู้ชาติเกิด” แล้วว่า (เช่น) ต้องเป็นเซลล์ผิวหนัง แต่การใช้ Yamanaka factor จะกระตุ้น (induce) ให้เซลล์กลับไปอยู่ที่สถานะแรกเกิดของทารกในท้องมารดาที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะต้องเป็นเซลล์ประเภทใด ดังนั้นในหลักการจึงจะสามารถปรับตัวไปเป็นเซลล์ประเภทใดก็ได้

ต่อมาจึงได้มีความพยายามผลิต stem cell ขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถทำได้ในปริมาณและต้นทุนที่คุ้มค่า (จึงได้มีการหา stem cell จากแหล่งต่างๆ มาฉีดเพื่อการรักษาโรคต่างๆ) แต่ในช่วงประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมาก็ได้มีการทดลองกระตุ้นให้หมุนเวลาเซลล์กลับไปเพียงครึ่งทาง กล่าวคือให้เซลล์ที่อายุมากกลายเป็นเซลล์อายุน้อย (partial induced pluripotent stem cell)  

การทดลองดังกล่าวที่ได้ทำกับหนูทดลองนั้นประสบความสำเร็จบ้างและไม่สำเร็จบ้าง (ในกรณีดังกล่าวการกระตุ้นทำให้เซลล์กลายเป็นมะเร็ง) แต่ประเด็นสำคัญคือเมื่อต้นปีนี้มีมหาเศรษฐีกลุ่มหนึ่งได้ลงขันเป็นทุนทั้งสิ้น 3 พันล้านเหรียญ (กว่า 1 แสนล้านบาท) เพื่อตั้งบริษัทชื่อว่า Altos Labs

Altos Labs รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในด้าน iPSCs และด้านอื่นๆ มาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้ได้มาซึ่ง “Fountain of youth” ผมจึงจะติดตามลุ้นว่า Altos Labs จะประสบความสำเร็จหรือไม่ใน 4-5 ปีข้างหน้า 

3.Crispr-Cas 9 gene: เป็นเทคโนโลยีที่ผู้คิดค้นได้รับรางวัลโนเบลไปเมื่อปี 2020 โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีกลไกนำพา (คือ Crispr เป็น guide RNA) อุปกรณ์ตัด DNA (คือ Cas9) ไปที่หมายคือส่วนของ DNA ของสัตว์หรือพืชที่ต้องการตัดต่อ (edit) แล้ว เมื่อตัดส่วนของ DNA ที่ไม่ต้องการออกไปก็จะนำเอา DNA ใหม่มาใส่แทน

อ่านดูแล้วเหมือนนิยายแต่ทำได้ไม่ยากมากและต้นทุนต่ำ จึงมีกรณีอื้อฉาวเมื่อปี 2018 ที่นักวิจัยของจีนคนหนึ่ง (He Jian Kui) ทำการตัดต่อยีนของฝาแฝดเกิดใหม่ให้มีภูมิต้านทานโรคเอดส์ ซึ่งเข้าใจว่าเด็กทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ แต่นักวิจัยดังกล่าวถูกลงโทษติดคุกและได้ออกจากคุกเมื่อไม่นานมานี้

ณ ปัจจุบันมีการทำการทดลองเป็น Clinical trail มากมายทั้งในสหรัฐและยุโรปในการนำเอาเทคโนโลยีนี้มารักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของยีนและที่รุดหน้าไปมากจนถึงขั้นการทดลองกับมนุษย์

ซึ่งปรากฏผลสำเร็จอย่างดีในเบื้องต้นคือการรักษาโรคเลือด 2 โรคคือโรค thalassemia และ sickle cell นอกจากนั้นก็ยังอยู่ในขั้นทดลองเพื่อใช้ Crispr Cas 9 รักษาโรคตาบอดตั้งแต่เด็กและการรักษามะเร็งเนื้องอก (solid tumors) ตลอดจนโรคตับคือ transthyretin amyloidosis 

นอกจากแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นก็ยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Chimeric Antigen Receptor-T cells (CAR-T cells) คือการนำเอาเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้คือ T-cell ออกมาแล้วพัฒนาศักยภาพ (bio-reengineer) ให้สามารถเข้าไปปราบเซลล์มะเร็งประเภทมะเร็งในเม็ดเลือด  (leukemia) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma)

แต่เทคโนโลยีนี้ยังมีต้นทุนที่สูงมาก เช่น บริษัท Novartis คิดค่ารักษาประมาณ 475,000 เหรียญและบริษัท Gilead Sciences คิดค่ารักษา 373,000 เหรียญ แต่เป็นเทคโนโลยีที่ Sheba Medical Center

ในประเทศอิสราเอลพบว่าการรักษาโดยใช้ CAR-T cell ให้ผลสำเร็จประมาณ 85-90% สำหรับเด็กและ 70% สำหรับประชากรโดยรวม. 
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
ลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร