การดูแลสุขภาพ≠การรักษาโรค (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การดูแลสุขภาพ≠การรักษาโรค (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

วันที่ 17 พ.ค.2565 หน้าแรกของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ พาดหัวว่า “ชิงเดือดตลาดยา 2 แสนล้าน” โดยหัวข่าวรองความว่า “คนแก่พึ่งสวัสดิการ ดันโรงพยาบาลรัฐซื้อยาเพิ่ม”

ขยายความว่า ตลาดยาในประเทศไทยจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และ “ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้บริโภคกว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยา” 

นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวที่กล่าวถึงบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น Com7 ร่วมทุนกับโรงพยาบาล BDMS เปิดร้านขายยาใหม่ ตั้งเป้า 3 ปี 50 สาขา (ปัจจุบันมีร้านขายยา 17,000 แห่ง ลดลงจาก 20,000 แห่งในปี 2562 เพราะผลกระทบจาก โควิด-19) 

บริษัท ทรู ดิจิทัล ก็จะลุยแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะชูแอป “หมอดี” หาหมอออนไลน์ รับยาพร้อมเคลมประกัน ตลอดจนบริษัทลูกของ ปตท. คือ บริษัท อินโนบิด (เอเชีย) ก็มีแผนการพัฒนายารักษาโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง เบาหวาน ระบบประสาท รับสังคมผู้สูงวัย

สาระของข่าวดังกล่าวดูเสมือนว่า เป็นเรื่องที่มีที่มาที่ไปและมีเหตุผล เพราะเมื่อเกิดแล้วแก่ตัวก็ย่อมเจ็บไข้ได้ป่วยก่อนที่จะต้องตายจากไป

แต่ผมจะขอนำเสนอแนวคิดที่มองต่างมุม เพราะผมจะให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่าง Health care คือการรักษาสุขภาพกับ Medical care คือการรอไปหาแพทย์และรับยาในการรักษาโรค 

ในเชิงส่วนตัว ทุกคนย่อมต้องอยากให้สุขภาพแข็งแรงจนวันสุดท้ายของชีวิต และหวังว่าจะต้องพึ่งพาการรักษาพยาบาลให้น้อยที่สุดในบั้นปลายของชีวิต

 

แต่แนวคิดข้างต้นสะท้อนว่าทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุและสังคมผู้สูงอายุคือจะต้องพึ่งหมอ-พึ่งยา ดังนั้น จึงคิดลงทุนขยายการกระจายและขายยาประเภทต่างๆ

ได้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามชี้ประเด็นปัจจัยต่างๆ ที่มีผลสำคัญต่อการดำรงสุขภาพและการมีอายุยืน ผมขอนำเสนอข้อสรุปเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อสถานะของสุขภาพดังนี้

1.การดำเนินชีวิต (การกินอาหาร เครื่องดื่ม ยา สูบบุหรี่ และออกกำลังกาย) 35%

2.สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (การศึกษา การงาน และรายได้) 25%

3.ยีนและพันธุกรรม 20%

4.การแพทย์และการรักษาโรค 15%

5.สิ่งแวดล้อม (เช่น คุณภาพอากาศ) 10%

การดูแลสุขภาพ≠การรักษาโรค (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าระบบสาธารณสุข (public health) ปัจจุบันไม่มีประโยชน์อะไร ตรงกันข้าม ระบบสาธารณสุขปัจจุบันที่พัฒนามาประมาณ 120 ปีเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการทำให้อายุคาดเฉลี่ยจากวันเกิด (life expectancy at birth หรือ LEB) เพิ่มขึ้น

เช่น ในสหรัฐเมื่อปี 2443 LEB ของผู้ชายเท่ากับ 46.3 ปี และของผู้หญิงเท่ากับ 48.3 ปี แต่ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 76 ปีสำหรับผู้ชาย และ 81 ปีสำหรับผู้หญิง (การระบาดของโควิด-19 ทำให้ LEB ลดลงประมาณ 1 ปี)

ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีในช่วง 120 ปีที่ผ่านมา ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้ลงอย่างมาก 

1.การเสียชีวิตของเด็กเกิดใหม่ (infant mortality) ในปี 2458 พบว่าเด็ก 1 ใน 3 คนเสียชีวิตก่อนอายุถึง 5 ขวบ ตัวเลขในปี 2558 อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 4.3% ซึ่งย่อมฉุดให้ LEB ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การดูแลสุขภาพ≠การรักษาโรค (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

2.ระบบสุขาภิบาล (sanitation) ที่ทำให้มีน้ำสะอาดใช้อย่างพอเพียง การกำจัดน้ำเสียและการฆ่าเชื้อโรค (hygiene) มีบทบาทอย่างมากในการลดความเสี่ยงจากอหิวาตกโรค เป็นต้น

3.การพัฒนายาเพื่อรักษาโรคติดต่อ (communicable disease) ได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งยาปฏิชีวนะก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการลดการเสียชีวิตจากโรคติดต่อลงไปจนอยู่ที่ระดับต่ำมาก

4.การเสียชีวิตของมารดาจากการคลอดบุตร (maternal mortality) ก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน ประมาณ 600 คนต่อ 100,000 คนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว มาเป็น 15 คนต่อ 100,000 คน ณ ปัจจุบันที่สหรัฐ

5.การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ลดลงอย่างมาก เช่น ที่สหรัฐจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ (motor vehicle fatality) ลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2459 ที่ 27.7 คนต่อประชากร 100,000 คน เป็น 12.9 คน ต่อประชากร 100,000 คน

การดูแลสุขภาพ≠การรักษาโรค (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประเด็นของผมคือ ณ ปัจจุบันนี้ ปรากฏว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั้นเกิดจากกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อ (non-communicable หรือ NCDs) เป็นหลัก ไม่ใช่โรคติดต่อหรือสาเหตุอื่นๆ ข้างต้น เพราะมนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีและยารักษาไปมากแล้ว 

การที่จะลดความสูญเสียจากสาเหตุดังกล่าวให้ลงไปอีกนั้นย่อมจะทำได้ แต่จะทำได้ไม่มากนัก แม้ว่าจะทุ่มเททรัพยากรลงไปอย่างมาก กล่าวคือ ผลตอบแทนต่อหน่วยที่ลงทุนไปในกิจกรรมดังกล่าวลดลงไปอย่างมาก (diminishing returns)

แต่ในอีกด้านหนึ่ง NCDs นั้น จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เช่น ข้อมูลจาก WHO สำหรับปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2543

1.ผู้เสียชีวิตจาก NCDs คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในปี 2562 คือ มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 55.6 ล้านคน และเป็นการเสียชีวิตจาก NCDs จำนวน 41.2 ล้านคน (มนุษย์เสียชีวิตจากโควิด-19 ไป 6.3 ล้านคนใน 2 ปีที่ผ่านมา)

การดูแลสุขภาพ≠การรักษาโรค (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

2.สาเหตุของการเสียชีวิต 7 อันดับจาก 10 อันดับแรกคือ NCDs ซึ่งประกอบด้วย 7 โรคที่พบมากในคนไทย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง และโรคอ้วนลงพุง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 44% ของการเสียชีวิตทั้งหมด

จึงมองได้ว่า 7 โรค NCDs คือความท้าทายหลักของการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ

3.ทั้งนี้ เพราะ 7 อันดับโรค NCDs นั้นเป็นโรคที่เกิดมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นโรคที่รักษาได้ด้วยการดำเนินชีวิต (lifestyle) มากกว่าการกินยาหรือการผ่าตัด เช่น โรคอันดับ 1 คือโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ (cardio vascular disease) รวมทั้งการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (stroke) 

โดยในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 8.9 ล้านคน (มากกว่าเสียชีวิตจาก โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา) และเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคนในปี 2543 ตามมาด้วย stroke ที่ทำให้เสียชีวิตมากถึง 6.2 ล้านคนในปี 2562

4.สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เสียชีวิตคือโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งคือการสูบบุหรี่ ตรงนี้ตัวเลขดีขึ้นคือมีผู้เสียชีวิต 2.6 ล้านคนในปี 2562 ลดลงจาก 3.0 ล้านคนในปี 2543

การดูแลสุขภาพ≠การรักษาโรค (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

สำหรับสาเหตุอื่นๆ (ภาพประกอบ) ซึ่งเป็นภาพสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้สูง กล่าวคือ กลุ่มที่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

ประเด็นของผมคือ โรคดังกล่าวนี้เป็นโรคซึ่งการป้องกัน (prevention) โดยการดำเนินชีวิตน่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน และมีประสิทธิผลในเชิงเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมากกว่าการลงทุนในการผลิต และขายยาซึ่งต้องรอให้เป็นโรคก่อนจึงจะได้ใช้ประโยชน์

ตอนต่อไป ผมจะเขียนถึงเทคโนโลยีล้ำหน้าที่ให้ความสำคัญกับพันธุกรรม (genetics) ในการรักษาสุขภาพซึ่งอนาคตน่าจะเป็นที่มาของ personalized medicine และ precision healthcare ที่น่าจะ disrupt ระบบการแพทย์และการรักษาพยาบาลในปัจจุบันได้อย่างมีนัยสำคัญ.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
ลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร