ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตเกิน 5 % (ตอน 1) | วิกรม กรมดิษฐ์

ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตเกิน 5 % (ตอน 1) | วิกรม กรมดิษฐ์

วันนี้เรื่องเล่าจากวิกรม จะมาบอกกล่าวเรื่องราวที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ วิธีคิดในฐานะของประชาชนพลเมืองคนหนึ่ง ที่กังวลและเป็นห่วงอนาคตของบ้านเมือง ในยามที่สถานการณ์ของโลกกำลังสับสนอลหม่านกันอยู่ ทั้งปัญหาสงครามที่ยังมีอยู่และวิกฤตโควิดที่ยังไม่หายไป

ไทยเราจะต้องทำตัวอย่างไร ผมจะมาสะท้อนมุมมอง ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และทัศนคติที่เป็นความคิดของคนไทย

ลำดับแรกขอปูพื้นด้วยการมองโลกใบนี้ ด้วยการยกตัวอย่างและที่มาของประเทศที่มีการเติบโตมากที่สุดว่ามีอะไรกันบ้างในปี 2564 เริ่มจากประเทศไอร์แลนด์มีจีดีพีเติบโตถึง 13% ชิลี 11% อินเดีย 9.5% ตุรกีโต 9% จีน 8% ตามมาด้วย โคลัมเบีย 7.6% อาร์เจนตินา 7.5% อิสราเอล 7.1% โรมาเนีย 7% อังกฤษ 6.8% และประเทศไทยโตอยู่ที่ 1.4%

จะสังเกตได้ว่า สถิติการเติบโตของตัวเลขจีดีพีของประเทศอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างมา ถือได้ว่ามีการเติบโตที่สูงมากกว่าประเทศไทยมากนั้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศในรูปแบบใด

จากการศึกษาพบปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขจีดีพีของประเทศมีการเติบโต อย่างที่เราเห็นกันแล้วนั้นมีการลงทุนด้านการค้นคว้าวิจัยเป็นจำนวนมาก เพราะการค้นคว้าวิจัย ส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่นในปี 2564 ประเทศอิสราเอลลงทุนด้านการวิเคราะห์วิจัย สูงถึง 4.2% ของตัวเลขจีดีพี

ขณะที่ประเทศเกาหลี ลงทุนอยู่ที่ 3.8% และญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 3.2% สวิตเซอร์แลนด์ 3.2% เยอรมนี 2.8% อเมริกา 2.7% แต่ที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์ มีตัวเลขการลงทุนด้านค้นคว้าวิจัยประมาณ 1.9% ของตัวเลขจีดีพี ในขณะที่ประเทศไทยมีตัวเลขที่มีการลงทุนด้านการวิเคราะห์วิจัยอยู่ที่ประมาณ 0.7%

ประเทศที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่ ประเทศจีนมีตัวเลขการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ตามด้วยอเมริกาและอินเดีย หากลองถอดแผนแม่บทการพัฒนาประเทศออกมาดูว่า ทำไมประเทศเหล่านี้จึงมีตัวเลขการเติบโตของจีดีพี และได้รับการลงทุนจากนักลงต่างประเทศสูง จะเห็นได้ชัดเจนสิ่งที่ช่วยสนับสนุนคือ เรื่องของการศึกษา

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีหลายประเทศมีความพยายามในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศของตนจนสามารถเห็นพัฒนาได้อย่างชัดเจน 

ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงใน 10 ประเทศที่พัฒนาระบบการศึกษาได้รวดเร็วจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลกจากฐานข้อมูของปี 2564 ได้แก่ มหาวิทยาลัยในประเทศอาร์เจนตินจากเดิมที่เคยอยู่ลำดับ 230 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 66 ของโลก มหาวิทยาลัยในประเทศจีนเคยอยู่ที่ลำดับ 170 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 53 ของโลก 

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซียที่เคยอยู่ลำดับที่ 156 ขยับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 59 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยได้รับการยอมรับอยู่ในลำดับที่ 201 แต่ปัจจุบัน อยู่ในลำดับที่ 208 ของโลก ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดลเคยอยู่ในลำดับที่ 255 ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 252 ซึ่งถือว่าในรอบ 10 ปี มีพัฒนาการที่ไม่มาก

ตรงนี้สามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่า คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะฉะนั้นเมื่อคุณภาพของคนหรือบุคลากรในประเทศไม่ได้รับการพัฒนาจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มากเท่าที่ควรและการพัฒนาจึงยังไม่เดินหน้า

ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตเกิน 5 % (ตอน 1) | วิกรม กรมดิษฐ์
วิกรม กรมดิษฐ์

ตัวอย่างที่โดดเด่นของการพัฒนาด้านการศึกษาและบุคลากร ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างต่อเนื่องคือ สิงคโปร์ เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงถึง 2 แห่ง

ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ที่มีการพัฒนาด้านการศึกษาจากลำดับที่ 47 มาสู่ลำดับที่ 13 ของโลก และมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ที่ขยับจากลำดับที่ 25 มาเป็นลำดับที่ 11 ของโลก ทำให้บุคลากรมีคุณภาพ 

สามารถสรุปได้ว่า ประเทศที่จะสามารถเติบโตไปได้ มีความเข้มแข็งทางด้านการลงทุน แน่นอนว่าย่อมเกี่ยวข้องกับการศึกษาเพราะการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพของคน

มีตัวอย่างประเทศที่มีการพัฒนาไปในทางที่ดีและน่าหยิบยกมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาประเทศไทย ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เพราะมีการพัฒนาประเทศจากเกษตรสู่อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่เรียกว่า นวัตกรรม 

ส่วนสิงคโปร์เป็นประเทศที่เป็นต้นแบบด้านคุณภาพความโปร่งใส และความปลอดภัย ส่วนประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในทุกๆ ด้านในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของประเทศจีนสามารถเติบโตได้มากกว่า 9% อีกหนึ่งประเทศที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดคือประเทศเวียดนามที่มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

หากตั้งข้อสังเกตจะพบว่า ปัจจัยที่ทำให้การเติบโตการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบของประเทศเหล่านี้คือ ความมั่นคงทางด้านสังคม ทางด้านความคิดของบุคลากรและผู้นำของประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งกันเอง แตกต่างจากประเทศไทยที่หากสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกับประเทศที่ยกตัวอย่างมานี้ได้

เชื่อว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงเช่นเดียวกัน