คิดนโยบาย:กว้างxยาวxลึก (ถึงใจประชาชน) | ประกาย ธีระวัฒนากุล

คิดนโยบาย:กว้างxยาวxลึก (ถึงใจประชาชน) | ประกาย ธีระวัฒนากุล

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่สะท้อนความไม่สมดุล ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เราจึงเผชิญหน้ากับปัญหาหลากหลายมิติ

ปัญหาที่เราเผชิญมีทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การจ้างงาน ช่องว่างทางเทคโนโลยี รวมไปถึงความท้าทายในการพัฒนาด้านกำลังคนของประเทศไทย ความท้าทายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาทิ ภัยจากสุขภาพ ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยจากความมั่นคง เป็นต้น

ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อเอาชนะปัญหาต่างๆได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ออกแบบนโยบายที่แก้ปัญหาได้ตรงเป้า และสามารถเชื่อมต่อไปถึงกลไกการขับเคลื่อน   เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องการวิธีคิดใหม่ๆ และวิธีปฏิบัติใหม่ๆ 

เพราะโลกอนาคตยุคใหม่มีความซับซ้อน ความไม่แน่นอนสูง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วฉับพลันและมีผลกระทบสูง ดังเช่น วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่เราเห็นผลกระทบรุนแรงในระดับโลก   ความท้าทายในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญ และความท้าทายอย่างรุนแรงของโลกอนาคตทำให้เราอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว 

สำหรับภาครัฐเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  การปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานของภาครัฐจึงสามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปลี่ยน Mindset   วิธีการทำงานยิ่งต้องเปลี่ยน  หรือจะพูดว่าต้องเปิดใจให้กว้าง และเปิดพื้นที่การทำงานร่วมกันให้กว้างขึ้นนั่นเอง  

 เรื่องนี้ยังรวมถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้นำเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ  การมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆ จึงสำคัญยิ่ง  การสร้างผู้นำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกระบวนทัศน์ ทัศนคติที่เปิดกว้าง  เสริมสมรรถนะบุคลากรให้แข็งแกร่งด้วย ทักษะและสมรรถนะที่สำคัญจึงเป็นสิ่งจำเป็น

แพลตฟอร์มนโยบาย และกระบวนการออกแบบนโยบาย เป็นหัวใจสำคัญในการร่วมสร้างนโยบายสาธารณะที่ดี ตอบโจทย์ประชาชน อย่างฉับพลันทันการณ์  

การบูรณาการงาน เป็นหัวใจสำคัญแห่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง  การบูรณาการอาจฟังดูเกือบเชยไปแล้วเพราะพูดถึงคำนี้กันมานาน แต่จะเปลี่ยนไปใช้คำอื่นก็ได้ แต่ขอให้หมายถึงทำอะไรก็แล้วแต่ที่รวมใจกันได้ ร่วมกันทำจับมือกันทำแบบไม่แบ่งฝั่งแบ่งฝ่าย ทว่าเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

 เพราะปัญหาหรือความท้าทายต่างๆ หรือแม้กระทั่งเชื้อโรคในยุค COVID-19 ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้เลือกมาติดต่อกับแค่บางกระทรวง วาระ (Agenda) การพัฒนาที่สำคัญของประเทศไทย  ที่มีความซับซ้อนข้องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงไม่ควรเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรเพียงเพราะมีเส้นแบ่งระหว่างกรมกระทรวงเท่านั้น

การทำงานภาครัฐแบบใหม่จากนี้ไปจึงต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง  เลือกสิ่งที่จะเปลี่ยน ถ้าอยากให้การเปลี่ยนแปลงเห็นผล ก็ต้องเลือก  ทั้งเลือกที่จะทำ และเลือกที่จะไม่ทำบางอย่างด้วย เพราะในเชิงยุทธศาสตร์แล้วเราทำทุกอย่างไม่ได้ เราต้องเลือก  นี่รวมไปถึงการทลายกำแพง ปลดล็อคข้อติดขัดทั้งหลาย  ปรับกลไกการทำงาน การเปิดเวทีการทำงานร่วมกัน เสริมด้วยนวัตกรรมและวิธีการแบบสร้างสรรค์

คิดนโยบาย:กว้างxยาวxลึก (ถึงใจประชาชน) | ประกาย ธีระวัฒนากุล

การบูรณาการงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรัดให้เกิด  ภาครัฐต้องเดินหน้าด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลที่ถูกต้องและเหมาะสมมาใช้  เร่งผลักดัน Open Government  

นอกจากนี้ แม้ว่าการคิดเร็วทำเร็วจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ก็อย่าลืมว่า คิดได้แล้วต้องทดลองทำก่อนด้วย ก่อนที่จะประกาศใช้นโยบายระดับประเทศ เพื่อลดโอกาสความผิดพลาดจากการคิดไม่รอบด้านหรือได้ทดลองฟังเสียงประชาชน

คิดนโยบาย:กว้างxยาวxลึก (ถึงใจประชาชน) | ประกาย ธีระวัฒนากุล

การทดลองขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ด้วยการทำงานเชิงบูรณาการ  (Sandbox) พร้อมกับสรุปบทเรียน สร้างกลไกในการขยายผลจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ  หลังจากออกแบบนโยบายใหม่ คิดสร้างสรรค์โครงการหรือไอเดียใหม่ๆแล้ว ต้องนำต้นแบบนโยบายไปทดลองปฏิบัติจริงในพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะช่วยลดการทำงานแบบแยกส่วน (Silo)

ในขณะที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ   จากนั้นก็ขยายผลโมเดลการพัฒนาที่สำเร็จให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง  

เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับกระบวนทัศน์และกระบวนการทำงานร่วมกัน ร่วมกันค้นหาโมเดลการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลได้จริง
ทุกอย่างกำลังถาโถม เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทวีคูณ   

ดังนั้น เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าตอบโจทย์อนาคตและความท้าทาย  การคิดและขับเคลื่อนนโยบายนั้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างน้อย 3 ประการ 

ประการแรก เปลี่ยนไปใช้นโยบายบนฐานของข้อมูล (Data-Driven Policy)  ตัดสินใจเชิงนโยบายไปข้างหน้าได้อย่างดี เราต้องมีข้อมูล คิดและตัดสินใจอย่างรอบด้าน

ประการที่สอง เปลี่ยนวิธีคิดและออกแบบนโยบาย โดยหันไปมองข้างหน้า  มองภาพอนาคตมากขึ้น ไม่เน้นแค่แก้ปัญหารายวัน ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น  แต่ออกแบบนโยบายโดยคำนึงถึงปัจจัยขับเคลื่อนอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะมองการณ์ให้ไกลเข้าไว้

ประการที่สาม เปลี่ยนไปสู่นโยบายที่อยู่บนฐานความเข้าอกเข้าใจ (Empathy-Based Policy)  มีนโยบายที่ฟังไปยังส่วนลึกของใจประชาชน

ไม่มีเวลาไหนจะเหมาะสมที่จะเปลี่ยนแปลง เท่าเวลานี้อีกแล้ว
และเมื่อเราคิดที่จะเปลี่ยน....ขอให้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบมองให้กว้าง มองให้ยาว และมองให้ไกลลึกลงไปถึงในใจประชาชน.