ภูมิทัศน์ความเหลื่อมล้ำในไทย | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ภูมิทัศน์ความเหลื่อมล้ำในไทย | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นปัญหาที่ยากและซับซ้อน มีลักษณะที่เป็นทั้งปัญหาเชิงปัจเจกชนและปัญหาเชิงโครงสร้าง

ในด้านที่เป็นปัจเจกชน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้จากการเลือกของปัจเจกชนที่แตกต่าง เช่น คนสองคนที่มีพื้นฐานชีวิตทุกอย่างเท่ากันหมด แต่มีความชอบและได้เลือกอาชีพที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีรายได้และฐานะที่แตกต่างกัน

 นอกจากนี้ ความพยายามและความตั้งใจที่ใส่ลงไปในการทำงานที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อผลตอบแทนที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น ในเชิงปัจเจกชนแล้ว ความชอบ ทางเลือก และความพยายามล้วนมีส่วนที่ทำให้ระดับรายได้ของบุคคลแตกต่างกัน 
 

ความเหลื่อมล้ำเริ่มกลายเป็นปัญหาเมื่อโอกาสและพื้นฐานของปัจเจกบุคคลไม่เท่าเทียมกัน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ดี แม่มีสุขภาพกายและใจที่ดี เด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด สอดรับกับการพัฒนาตามช่วงวัย ได้เข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพ ย่อมมีศักยภาพที่แตกต่างกับเด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาสเหล่านั้น 

เด็กที่เกิดและเติบโตในเมืองหลวงย่อมมีโอกาสมากกว่าเด็กที่เกิดและเติบโตในจังหวัดเล็กๆ ที่ขาดโอกาสและโครงสร้างพื้นฐาน ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำจะกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศเมื่อความแตกต่างเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นมากจนเกินจะรับได้  

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทยพิจารณาได้ในหลายมิติ ในมิติของรายได้ พบว่าความแตกต่างด้านรายได้ (Income) ระหว่างกลุ่มประชากรไทยอยู่ในระดับสูง รายได้เฉลี่ยของประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำสุด 10% (Bottom 10%) กับกลุ่มที่มีฐานะดีที่สุด 10% (Top 10%) ยังคงห่างกันถึง 16 เท่า 

ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน กลุ่มรายได้สูงที่สุด (Top 10%) มีส่วนแบ่งมูลค่าสินทรัพย์สูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ด้วยโครงสร้างเมืองที่มีลักษณะโตเดี่ยว ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของภาคอีสานและภาคเหนือที่ต่ำกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลถึงประมาณ 4-5 เท่า 

นักเศรษฐศาสตร์ได้คำนวณค่าดัชนี Gini เพื่อวัดความเหลื่อมล้ำของไทยพบว่านับตั้งแต่ปี 2548 ค่าดัชนี Gini มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยมาในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนี Gini ในมิติต่างๆ ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง กล่าวคือ ค่าดัชนี Gini ของความมั่งคั่ง (Wealth) ปี 2562 อยู่ที่ 0.65 ซึ่งแสดงว่าเหลื่อมล้ำสูงมาก ส่วนค่าดัชนี Gini ของรายได้ (Income) เท่ากับ 0.41 และค่าดัชนี Gini ของรายจ่าย (Expense) เท่ากับ 0.33 

ภูมิทัศน์ความเหลื่อมล้ำในไทย | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ในมิติของความมั่งคั่ง ยังพบว่าความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินของคนไทยมีสูงมาก งานวิจัยที่ได้ศึกษาข้อมูลผู้ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดิน ปี 2555 ซึ่งมีจำนวน 15.9 ล้านราย พบผู้ถือครองที่ดินกลุ่ม top 10% มีสัดส่วนการถือครองที่ดินถึงร้อยละ 61 ของที่ดินทั้งหมด 

ในภาคธุรกิจ พบผู้ถือหุ้นสูงสุด 500 คนแรกมีสัดส่วนมูลค่าทางบัญชีของส่วนผู้ถือหุ้นถึงร้อยละ 36 ของภาคธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลทั้งหมด  

คนไทยกว่าร้อยละ 56 มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่คนจำนวนมากมีเงินในบัญชีน้อย โดยครึ่งหนึ่งของผู้ฝากเงินมีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท ในขณะที่ผู้ฝากรายใหญ่สุดร้อยละ 10 มีเงินฝากรวมกันถึงร้อยละ 93 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ 

สำหรับในมิติการศึกษา การเข้าถึงการศึกษาของประเทศทั่วถึงดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ครอบครัวที่มีฐานะดีมีโอกาสเรียนต่อในระดับปริญญาตรีสูงกว่าครอบครัวที่ฐานะยากจน โดยอัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) ของกลุ่มยากจนที่สุด 10% มีเพียงร้อยละ 7.7 ในขณะที่กลุ่มรวยที่สุด 10% มีอัตราสูงถึง 65.5  

ภูมิทัศน์ความเหลื่อมล้ำในไทย | ธราธร รัตนนฤมิตศร

นอกจากนี้ นักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดีมักจะกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนไม่กี่แห่งที่มีคุณภาพดีกว่า ดังนั้น ทักษะทางวิชาการระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะดีสุดและจนสุด และระหว่างนักเรียนโรงเรียนประจำหมู่บ้านและนักเรียนในเมืองใหญ่จึงมีช่องว่างสูง 

ตัวอย่างคะแนนสอบ ONET ของนักเรียน ม.3 ของโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยพบว่าสูงกว่าและแตกต่างกันมากกับคะแนนของนักเรียนจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกวิชา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ คะแนนสอบเฉลี่ย 73.4 เทียบกับ 25.8 หรือต่างกัน 3 เท่า และวิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเฉลี่ย 65.1 เทียบกับ 34.1 หรือต่างกันเกือบ 2 เท่า

ส่วนในมิติสุขภาพ ประเทศสามารถจัดระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมให้แก่ประชาชนไทย ทำให้คนไทยร้อยละ 99.2 มีสวัสดิการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม ยังพบความแตกต่างของสิทธิประโยชน์และระบบการจ่ายเงินระหว่างแต่ละหลักประกันสุขภาพ

 นอกจากนี้ บุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ยังมีปัญหาการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและเมืองใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์ 1 คนในภาคอีสานดูแลประชากรจำนวนมากกว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 4-5 เท่า หรือเครื่อง CT Scan กรุงเทพ 1 เครื่องต่อประชากร 40,016 คนในขณะที่ในภาคอีสาน 1 เครื่องต่อ 143,025 เครื่อง หรือเครื่องล้างไต กรุงเทพ 1 เครื่องต่อ 3,631 คน อีสาน 1 เครื่องต่อ 11,210 คน ซึ่งแตกต่างกันหลายเท่า

ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจึงยังเป็นโจทย์เชิงนโยบายที่สำคัญ ซึ่งต้องการความเอาใจใส่และความมุ่งมั่นทางการเมือง (political will) จากผู้นำรัฐบาลทั้งในวันนี้และในวันข้างหน้าเป็นอย่างสูง.

คอลัมน์ คิดอนาคต
สถาบันอนาคตไทยศึกษา | ธราธร รัตนนฤมิตศร 
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/