กรอบคิดจาก VUCA สู่ BANI | วรากรณ์ สามโกเศศ

กรอบคิดจาก VUCA สู่ BANI | วรากรณ์ สามโกเศศ

หลายสิ่งในโลกถูกทดแทนเพราะเวลาไม่เคยหยุดเดิน ดังเช่นกรณีของนักกีฬา นักร้อง ดารานักแสดง ฯลฯ ซึ่งต่างมี “แผนที่เวลา” ของตนเองตามสังขารและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

 ในทางวิชาการ นอกจากผู้คนที่แก่หมดยุคไปแล้วก็มีกรอบความคิด ทฤษฎี ความเชื่อ สมมติฐาน ฯลฯ ที่ถูกทดแทนเช่นกัน ดังเช่น VUCA  ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย BANI

VUCA เป็นประเภทของคำที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า acronym (synonym คือคำพ้องความหมาย ส่วน antonym คือคำที่มีความหมายตรงกันข้าม)  ซึ่งหมายถึงคำย่อที่ประกอบด้วยอักษรแรกจากคำอื่นๆ เช่น ASEAN/USA/AIDS/ 

V มาจาก Volatility (การลื่นไหลฟุ้งกระจาย)  / U มาจาก Uncertainty (ความไม่แน่นอน) / C มาจาก Complexity (ความซับซ้อน) / และ A มาจาก Ambiguity (ความคลุมเครือ)

 กรอบคิด  VUCA มาจากมันสมองของสองนักเศรษฐศาสตร์ คือ Warren Bennis และ Burton Nanus ดังปรากฏครั้งแรกในปี 1985 ในหนังสือ Leaders :  The Strategies For Taking Charge 

VUCA เป็นกรอบคิดในการอธิบายและพยากรณ์เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกดังนี้  
V อธิบายการขาดเสถียรภาพและการไม่สามารถพยากรณ์ได้ดังเช่นการลื่นไหลฟุ้งกระจายของกาซ    
U อธิบายความไม่แน่นอนจนไม่สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ที่กำลังมาถึง   
C  คือความซับซ้อนที่ทำให้เกิดสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญไม่เคยเห็นมาก่อน   
A คือความคลุมเครือของสิ่งที่เกิดขึ้นจนเป็นปัญหาในความเข้าใจ และทำให้ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

ตลอดเวลาเกือบ 40 ปี ที่ผ่านมา    VUCA เป็นกรอบคิดในการอธิบายและพยากรณ์เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก   VUCA เป็นที่นิยมในองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และวงการทหารอเมริกัน  

ตัวอย่างที่ VUCA สามารถอธิบายได้ดีก็เช่นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต   การสลายไปของ “หนึ่งกลุ่มศัตรู” จากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก   ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐและโลกในปี 2008    ฯลฯ  

กรอบคิดจาก VUCA สู่ BANI | วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่อง V /  U  / และ C นั้น อาจเห็นกันชัดว่าได้เกิดขึ้นจริงดังคำพยากรณ์ของ VUCA แต่ A นั้นอาจเห็นไม่ชัดเจน     ตัวอย่างของความคลุมเครือจนทำให้ยากต่อการตัดสินใจได้แก่เรื่องกัญชา      ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกานั้นการปลูกและบริโภคกัญชาไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป    

คนอเมริกันจำนวนมากเห็นว่าเป็นเรื่องของความบันเทิง   การหย่อนใจ     คล้ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  แต่คนอีกส่วนหนึ่งยังคงเห็นว่าเป็นยาเสพติด ในบ้านเราก็เช่นกัน  สรุปแล้วกัญชาเป็นยารักษาโรค หรือยาเสพติด  จะปลูกหลังบ้านได้เมื่อใด  หากมีไว้ในครอบครองจะถูกจับไหม

เมื่อ Covid-19 ปรากฏขึ้นในปลายปี 2019 และอาละวาดไปทั่วโลก     แวดวงวิชาการก็หันไปมองอีกกรอบคิดที่พยายามทำสิ่งเดียวกันนั่นก็คือ BANI ที่มีผู้เสนอไว้ไม่นานก่อน Covid-19  และเห็นว่า VUCA อาจล้าสมัยไปแล้ว  ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา      ข้อวิจารณ์ก็คือ VUCA ไม่อาจอธิบายเรื่องอัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลง     ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่อง Covid-19 ได้  ซึ่งต่างจาก BANI

กรอบคิดจาก VUCA สู่ BANI | วรากรณ์ สามโกเศศ

B มาจาก Brittle (แตกสลายได้ง่าย)  /  A   มาจาก  Anxious (วิตกหวั่นไหว) /  N มาจาก Nonlinear  /  และ I มาจาก Incomprehensible (ไม่อาจเข้าใจได้)    

BANI เป็นผลงานของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน  Jamais Cascio  ซึ่งปรากฏในข้อเขียนในงานสัมมนาของ IFTF (Institute of the Future เป็น Think Tank หรือองค์กรเสนอความคิดต่อสังคม) ในปี 2016 

BANI เป็นกรอบคิดในการอธิบายและพยากรณ์โดยเสนอว่า หลายสิ่งในโลกแตกสลายได้ง่าย (B) และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก     ความเปราะบางนี้มีผลต่อความมั่นคงขององค์กรต่าง ๆ  

ตัวอย่างชัด ๆ ก็คือ Covid-19    เราเห็นการแตกสลายอย่างง่ายดายในทุกระดับ    ปัจจุบันไม่มีอะไรมาประกันความมั่นคงของงาน      การเปลี่ยนแปลงลักษณะของงานก็ไม่หยุดนิ่ง   และสิ่งนี้นำไปสู่ความวิตกหวั่นไหว (A) ขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คน   

เราเห็นการฟิวส์ขาดง่ายของคนไทยจำนวนไม่น้อยจากสาเหตุเล็ก ๆ      อาการนี้หนักหนาในภาคธุรกิจที่ตัดสินใจได้ยาก และมักนำไปสู่การตัดสินใจที่ล่าช้าเพราะเกรงว่าจะตัดสินใจผิดพลาด

กรอบคิดจาก VUCA สู่ BANI | วรากรณ์ สามโกเศศ

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะไม่เป็นเส้นตรง (N)   กล่าวคือสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นสัดส่วนที่คงที่   บางครั้งสาเหตุเล็กก็นำไปสู่ผลใหญ่โตได้  ซึ่งตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลงเชิงเส้นตรง ที่ความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลเป็นสัดส่วนคงที่เสมอ

(linear คือ เส้นตรงซึ่งมีความชันคงที่  หมายถึงสาเหตุและผลไปอย่างควบคู่กัน) ลักษณะที่ไม่เป็นเส้นตรงจะทำให้ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าสาเหตุจะนำไปสู่ผลใหญ่โตเพียงใดในอัตราความเร็วเท่าใด  พูดอีกอย่างว่าอดีตไม่อาจเป็นเครื่องชี้อนาคตได้เสมอไป   

อุปมาดั่งขับรถที่ทาสีบนกระจกหน้าและกระจกข้างด้วยสีดำทั้งหมด ยกเว้นกระจกหลัง  ถ้าถนนข้างหลังมีลักษณะคล้ายคลึงกับถนนข้างหน้าก็พอขับประคับประคองรถไปบนถนนได้ด้วยการดูกระจกหลัง   แต่ถ้าเป็นกรณีของ non-linear ก็ไม่อาจทำได้เพราะถนนข้างหน้ากับถนนข้างหลังอาจไม่มีอะไรเหมือนกัน เช่น ข้างหลังเป็นทางตรง แต่ข้างหน้าหักงอ

กรอบคิดจาก VUCA สู่ BANI | วรากรณ์ สามโกเศศ

      สุดท้ายคือ  I  หมายถึงไม่สามารถเข้าใจได้   หลายสิ่งที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นไม่อาจเข้าใจได้ เช่น เหตุใดโรคระบาดในคนที่ติดมาจากสัตว์จึงมีจำนวนมากขึ้นและรุนแรงมาก/ เหตุใดภาวะเศรษฐกิจโลกหลังโควิดจึงเป็นไปอย่างตรงข้ามกับการคาดคะเน/ เหตุใดผลกระทบของเศรษฐกิจเชิงดิจิตอลในด้านการเงินจึงแพร่กระจายเร็วและจะนำชาวโลกไปสู่สวรรค์หรือนรก /   ทิศทางของผลกระทบจาก Climate Crisis  จะเป็นไปในลักษณะใด  ฯลฯ

BANI ดูจะสอดคล้องกับความเป็นไปของโลกปัจจุบันและอนาคตในเรื่องการแตกสลายได้ง่าย  การมีความวิตกหวั่นไหวขององค์กรและผู้คน  การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างไม่อาจพยากรณ์ได้อีกทั้งยากต่อการเข้าใจอีกด้วย   

 BANI นั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการอธิบายหรือพยากรณ์สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งดูจะเป็นไปในทางลบพอควร  

อย่างไรก็ดีอย่าปล่อยให้ BANI ครอบงำความรู้สึกของเราจนเกิดความไม่เป็นสุข     สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายนอกที่ไม่อาจทำอะไรกับมันได้มากนักในระดับบุคคล    ถ้าเราคิดว่า “อะไรจะเกิดมันก็เกิด”  อาจทำให้รู้สึกทุกข์ใจได้น้อยลงบ้างกระมัง.