พร้อมรับมือ Industry Transition? | ต้องหทัย กุวานนท์

พร้อมรับมือ Industry Transition? | ต้องหทัย กุวานนท์

หลายอุตสาหกรรมหลักในโลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป

อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังมุ่งสู่ยุคของ EV และ รถยนต์ไร้คนขับ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้พัฒนาไปสู่ยุคของผลิตภัณฑ์อัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และลดความสำคัญของผลิตภัณฑ์ในระดับกลาง เช่น แผงวงจรไฟฟ้าและเซมิคอนดัคเตอร์ 

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปกำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของมาตรฐาน และกฏหมายการค้าใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพแรงงาน ความปลอดภัยของอาหารและระบบตรวจสอบย้อนกลับ 

ข้อมูลจากการทำ Global Risk Survey  2022 ของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ระบุว่าแนวทางการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านของ ภาคอุตสาหกรรม ยังมีช่องว่างอยู่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเทคโนโลยี

5  อันดับแรกของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่าน แต่ยังอยู่ในจุดที่ทุกประเทศยังต้องเร่งพัฒนาก็คือ 

1) AI

2) เทคโนโลยีที่ตอบจทย์เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

3) เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ( Biodiversity)

4) เทคโนโลยีอวกาศและการนำทรัพยากรจากอวกาศมาใช้

5) เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์

พร้อมรับมือ Industry Transition? | ต้องหทัย กุวานนท์

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม มีสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เงินลงทุนในกลุ่ม Agtech โตขึ้นจาก 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 เป็น 5 พันล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา

กลุ่มเทคโนโลยี ยานยนต์ Mobility tech มีการลงทุนแตะจุดสูงสุดที่ 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโต 97% เทียบกับปีที่ผ่านมา 
 

ส่วนกลุ่ม IoT Connectivity ที่เป็นแรงขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมีมูลค่าการลงทุนถึงกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นเกือบ 80%  

ผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเช่น Toyota, Volkswagen, Hyundai, Bayer, GE, CISCO, QualComm คือกลุ่มนักลงทุนองค์กรที่แอคทีฟมากในการลงทุนกับสตาร์ทอัพในเทคโนโลยีหลักที่กำลังจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม

พร้อมรับมือ Industry Transition? | ต้องหทัย กุวานนท์

หันมามองสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมของไทย อุตสาหกรรม S-Curve ของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย

หลายอุตสาหกรรมที่เคยเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตร และ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร กำลังถูกดิสรัปท์ด้วยเทคโนโลยีและกลไกการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ  

อุตสากรรมเกษตรและอาหาร กำลังเจอกับความท้าทายใหม่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและ  Food Traceability อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังติดกับดักการพึ่งพาพันธมิตรรายเดิมๆที่ธุรกิจเริ่มถดถอย โดยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนใหม่ๆจากผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหม่

พร้อมรับมือ Industry Transition? | ต้องหทัย กุวานนท์

เพราะยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตอบโจทย์ยานยนต์ยุคใหม่ เช่น ด้านแบตเตอรี่ ด้าน Connectivity และ ซอฟท์แวร์ที่จะกลายเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ 

ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ยังขาดความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยังคงติดอยู่ในวังวนของการเป็นผู้รับจ้างผลิตระดับกลางน้ำที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม

         กลยุทธ์การรับมือการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมอนาคต จำเป็นที่จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมด้าน Deep Tech ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนทั้งในด้านการลงทุน การพัฒนาทักษะ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน

กระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการในประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech

 เพราะการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาจเป็นความหวังเดียวของการสร้างเศรษฐกิจอนาคต.
คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ 
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม