‘ทักษะดิจิทัล’ จุดเปลี่ยนธุรกิจ ยุคแห่งเทคโนโลยี ดิสรัปชัน

‘ทักษะดิจิทัล’ จุดเปลี่ยนธุรกิจ ยุคแห่งเทคโนโลยี ดิสรัปชัน

การระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานขององค์กรธุรกิจทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ถูกดิสรัปครั้งใหญ่ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี...

จิบู แมทธิว รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โซโห (Zoho) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจ เปิดมุมมองว่า หลายบริษัทได้ปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลและนำรูปแบบการทำงานทั้งแบบไฮบริดและคลาวด์มาใช้ ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการกับความคาดหวังของพนักงานให้ลงตัวในสภาพการทำงานแบบนิวนอร์มอล

อย่างไรก็ดี พนักงานต่างปรับตัวกันได้ดี เด็กๆ สามารถเรียนผ่านออนไลน์ ทั้งพนักงานและลูกค้าต่างเป็นตัวเร่งให้กระบวนการทางธุรกิจเกิดการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ไปสู่ระบบดิจิทัล ด้วยเวลาที่ยิ่งกระชั้นเข้ามา ทุกคนเลยต้องจัดลำดับความสำคัญและปรับตัวเข้าสู่นิวนอร์มอลให้ได้

เสริมทักษะขจัดอุปสรรคการทำงาน

จิบูระบุว่า ความคล่องตัวในวงการธุรกิจหมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปทำหน้าที่อื่นและปฏิบัติงานในสายงานใหม่ สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ดังนั้นการเพิ่มทักษะและการเปลี่ยนทักษะพนักงานจะขจัดอุปสรรคในการทำงานและเอื้อให้บุคคลนั้นทำงานได้ตามระดับที่ต้องการซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเกิดความต่อเนื่อง

โดยทั้งหมดที่กล่าวมานั้นต้องใช้การสื่อสารและภาวะความเป็นผู้นำในการดำเนินการตามขั้นตอนจำเป็น เพื่อประเมินความสามารถของพนักงาน สร้างเป้าหมายเรื่องทีมงานที่คล่องตัว (Liquid Workforce) ร่วมกัน รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับพนักงานแต่ละคนอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาความรู้และชุดทักษะที่จำเป็น

หากเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการฝึกอบรมกับการจ้างพนักใหม่ที่มีชุดทักษะจำเป็นที่ตรงตามความต้องการจากงานวิจัยของ Gallup พบว่าต้นทุนในการหาบุคลากรใหม่มาทดแทนอยู่ประมาณ 150-200% ของเงินเดือนพนักงานหนึ่งคนทั้งปี

อีกทั้ง เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ยังประเมินต้นทุนของการเปลี่ยนทักษะให้พนักงานโดยอยู่ที่ประมาณ 24,000 ดอลลาร์หรือประมาณ 790,000 บาท นั่นหมายความว่าธุรกิจจะได้เปรียบทางธุรกิจมากกว่าถ้าสามารถเลือกการสร้างมูลค่าด้วยการเพิ่มทักษะและเปลี่ยนทักษะให้แก่พนักงานของตน 

ที่สำคัญควรพัฒนาบุคลากรที่ทำงานให้บริษัทมานาน เพราะพวกเขาตระหนักถึงคุณค่าและเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรมากกว่า บางสิ่งบางอย่างไม่สามารถบอกกันแล้วจะเข้าใจกันได้ง่ายๆต้องผ่านประสบการณ์และการเรียนรู้มาอย่างยาวนาน

พัฒนาคุณภาพ ‘ทุนมนุษย์’ ก่อน 

สำหรับธุรกิจไทยการจะปรับตัวให้ทันต่อดิจิทัลดิสรัปชัน จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์ก่อน เพราะจะส่งผลให้การเปลี่ยนทักษะใหม่และเพิ่มทักษะเกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถดึงศักยภาพจากแพลตฟอร์มคลาวด์ที่มีอยู่มาใช้ได้ 

อย่างไรก็ดี โลกหลังจบการระบาดต้องการชุดทักษะที่จำเป็นต่างไปจากเดิม เจ้าของธุรกิจควรต้องเริ่มมองว่าระบบคลาวด์เป็นกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และมอบประสบการณ์แปลกใหม่ที่ดีกว่าให้ลูกค้า

“การที่บริษัทมีกลยุทธ์ด้านระบบคลาวด์เป็นมากกว่าแค่ความมุ่งหวังที่จะเพิ่มทักษะและเปลี่ยนทักษะให้แก่บุคลากรแต่ยังเป็นความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ และเดินหน้าที่จะท้าทายวิธีการทำงานแบบเดิมๆ”

โดยการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มธุรกิจก็คือ การพิจารณาจุดแข็งและจุดอ่อนของกลยุทธ์และแนวทางทางธุรกิจของตนเองในปัจจุบัน โดยต้องพินิจพิเคราะห์และหันกลับมามองว่า แพลตฟอร์มเทคโนโลยีแบบรวมศูนย์ที่มีอยู่นั้นเอื้อให้ทีมทรัพยากรบุคคลสามารถวัดและตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานและความกระตือรือร้นในการทำงานของบุคลากรได้หรือไม่ 

โดยสรุป การสร้างทักษะที่จำเป็นอาจแตกต่างกันในแง่ของตลาดภาคส่วนและอุตสาหกรรมอีกประเด็นไม่อาจมองข้ามกลุ่มธุรกิจควรจะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถใช้ไปได้อีกยาวในโลกหลังการระบาดใหญ่จบลง ท้ายที่สุดการที่องค์กรและพนักงานเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัลจะต้องเกิดผลลัพธ์ที่สมจริง จับต้องได้ และวัดผลได้

ขณะเดียวกัน ธุรกิจไทยควรพิจารณาตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มุ่งผลักดันให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นด้วยการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ ตลอดจนการปรับโครงสร้างและเปลี่ยนให้ห่วงโซ่อุปทานเป็นดิจิทัลให้ได้