ความเป็นธรรมของภาษีเงินได้คู่สมรส | กิตติยา พรหมจันทร์

ความเป็นธรรมของภาษีเงินได้คู่สมรส | กิตติยา พรหมจันทร์

ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยานั้น กำหนดให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากกันและแบ่งเงินได้พึงประเมินที่สามีและภริยาทำร่วมกัน หรือสามีและภริยาจะตกลงเลือกยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันก็ได้

แต่เดิมนั้นภริยาจะต้องนำรายได้พึงประเมินไปรวมคำนวณกับสามี ส่งผลให้เป็นเกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและความเสมอภาค ชายหญิงที่สมรสกันต้องรับภาระในการเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น  (เนื่องจากถูกจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า) ในที่สุดจึงมีการแก้ไขให้สามีและภริยามีสิทธิเลือกว่าจะรวมกันหรือแยกกันยื่นรายการและเสียภาษีในส่วนของตนอย่างชัดเจนและทั้งหมด (ทั้งนี้ เป็นผลมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555)

อย่างไรก็ตาม แม้สามีและภริยาจะตกลงเลือกยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันก็ได้ แต่ก็ยังมีความแตกต่างในบางรายการซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงกับสภาวะสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน และไม่ส่งเสริมต่อความมั่นคงของการใช้ชีวิตคู่และสถาบันครอบครัวอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคม เช่น

1. การหักค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) และ (2) 
กรณีแยกคำนวณ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดคนละไม่เกิน 100,000 บาท (รวมเป็น 200,000 บาท) แต่ในกรณีรวมคำนวณ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดคนละ ไม่เกิน 50,000 บาท (รวมเป็น 100,000 บาท) เท่านั้น 

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การแยกคำนวณกับรวมคำนวณของคู่สมรสแตกต่างกัน แม้จะให้เลือกได้แต่ผลคือผู้เสียภาษีที่เป็นคู่สมรสโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ย่อมเลือกที่จะแยกคำนวณมากกว่าเพราะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า อีกทั้งหากเลือกรวมคำนวณก็ไม่ได้สะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง

เพราะการหักค่าใช้จ่ายในกรณีดังกล่าวกำหนดว่าต้องหักแบบการเหมาเท่านั้น ไม่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงและสมควรเหมือนเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นได้    

2. การหักค่าลดหย่อนกรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47(1)(ซ) 
กรณีแยกคำนวณ หากคู่สมรสกู้ร่วมกัน จะลดหย่อนได้ตามที่จ่ายดอกเบี้ยจริงคนละครึ่งแต่ไม่เกิน 50,000 บาท

กรณีกู้ร่วมกันแต่มีเงินได้ฝ่ายเดียว สามารถใช้สิทธิของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ (รวมเป็นไม่เกิน 100,000 บาท) หากต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างสมรส ต่างฝ่ายต่างลดหย่อนได้ตามจริงสำหรับส่วนของตนเองแต่ไม่เกิน 100,000 บาท (รวมเป็นไม่เกิน 200,000 บาท) และหากคู่สมรสมีเงินได้ฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่มีเงินได้เป็นผู้กู้คนเดียวก็ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ 

กรณีรวมคำนวณ หากคู่สมรสกู้ร่วมกัน จะลดหย่อนได้คนละครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 50,000 บาท (รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท) หากต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างสมรส ใช้สิทธิของตนเองแต่ไม่เกิน 100,000 บาทและใช้สิทธิของคู่สมรสได้อีกไม่เกิน 100,000 บาท (รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท)

หากคู่สมรสมีเงินได้ฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่มีเงินได้เป็นผู้กู้คนเดียวก็ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แม้จะเลือกรวมคำนวณแล้วก็ตาม

จะเห็นได้ว่า กรณีแยกคำนวณหรือรวมคำนวณ จำนวนเงินที่ให้หักค่าลดหย่อนไม่ได้แตกต่างกัน แต่การใช้สิทธิกรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืม หากกู้ร่วมกันจะหักค่าลดหย่อนได้น้อยกว่าการที่ต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าจะแยกคำนวณหรือรวมคำนวณก็ตาม

ความเป็นธรรมของภาษีเงินได้คู่สมรส | กิตติยา พรหมจันทร์

ทั้ง ๆ ที่ตามหลักความเป็นธรรมทางภาษีระหว่างบุคคลทั่วไปกับคู่สมรสควรจะให้สิทธิในการบรรเทาภาระภาษีสำหรับคู่สมรสมากกว่า ในการเริ่มต้นชีวิตคู่และการมีทรัพย์สินที่อยู่อาศัยร่วมกัน อันเป็นการส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันของสถาบันครอบครัว 

ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายกับการหักค่าลดหย่อนนั้นแตกต่างกันเพราะค่าใช้จ่ายนั้นเป็นต้นทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินได้ แต่ค่าลดหย่อนเป็นการบรรเทาภาระภาษีของผู้เสียภาษีโดยเฉพาะจากเงินได้ทั้งหมดที่หักค่าใช้จ่ายไปหมดแล้ว

ทั้งนี้ ภาษีเงินได้ของคู่สมรสในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จะใช้หลักการเฉลี่ยเงินได้ (income splitting) ในการคำนวณภาษีโดยให้รวมเงินได้ของสามีและภริยาเข้าด้วยกันแล้วนำยอดรวมเงินได้มาหาร 2 ก่อนคำนวณภาษีด้วยอัตราก้าวหน้าแล้วจึงกลับคูณจำนวนภาษีที่หารได้นั้นด้วย 2 

ความเป็นธรรมของภาษีเงินได้คู่สมรส | กิตติยา พรหมจันทร์

หรือในประเทศเยอรมนี กำหนดให้คู่สมรสที่นำเงินได้มารวมกัน สามารถหักค่าลดหย่อนส่วนบุคคลได้สองเท่าของค่าลดหย่อนส่วนบุคคลสำหรับคนโสด (ซึ่งคล้ายกับประเทศไทย) แต่ต่างตรงที่ประเทศเยอรมนีจะมีการหารเงินได้สุทธิของคู่สมรสด้วย 2 ก่อนแล้วจึงนำไปคำนวณตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด  (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ศึกษากรณีการหักลดหย่อนภาษีของสามีและภรรยา, วารสารกระบวนการยุติธรรม, 2563) 

จากความแตกต่างของภาษีเงินได้คู่สมรสดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสนอว่าควรกำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. กรณีการหักค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) และ (2) กรณีคู่สมรสให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ยื่นแบบแยกคำนวณหรือรวมคำนวณตามกฎหมาย คือ ไม่เกินจำนวน 200,000 บาท (หรือมากกว่านั้น) และให้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงและสมควรได้    

2. กรณีการหักค่าลดหย่อนกรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47(1) (ซ) กรณีคู่สมรสไม่ว่าจะกู้ร่วมหรือกู้แยกให้สามารถหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยได้ตามจริง ทั้งนี้ ไม่เกินจำนวน 200,000 บาท แม้คู่สมรสจะมีเงินได้ฝ่ายเดียวหรือไม่ก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีของคู่สมรส 

สุดท้ายนี้ หากรัฐต้องการจะส่งเสริมสถาบันครอบครัวอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของสังคม อาจจะต้องกลับมาพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมของภาษีเงินได้คู่สมรสอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของสมาชิกในสังคม โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้.