“ยื่นภาษี” วันสุดท้าย 8 เม.ย.65 "ยื่นไม่ทัน" โดนโทษอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร

“ยื่นภาษี” วันสุดท้าย 8 เม.ย.65 "ยื่นไม่ทัน" โดนโทษอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร

วันสุดท้ายของการ “ยื่นภาษี” ประจำปี 2564 ที่เดดไลน์ยื่นผ่านออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เม.ย.65 สำหรับใครที่ยื่นไม่ทัน เช็กรายละเอียดที่จำเป็นต้องรู้ พร้อมเปิดโทษปรับ ยื่นเกินกำหนด จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ส่งท้ายฤดูกาลยื่นภาษีประจำปี 2564 ซึ่งกำหนดยื่นภาษีผ่านออนไลน์ ได้จนถึงวันที่ 8 เม.ย.65 ยื่นภาษีวันสุดท้าย สำหรับใครที่ยังไม่ได้ยื่น หรือยื่นแล้วแต่ยังไม่ได้รับฟีดแบ็คกลับจากกรมสรรพากร แล้วกังวลใจว่า ถ้าเกิน 8 เม.ย.แล้ว จะมีผลอะไรหรือไม่

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” รวบรวมข้อมูลสำคัญ ควรรู้ สำหรับการยื่นภาษี ประจำปี 2564 โดยเฉพาะสำหรับคนที่ยังไม่ได้ยื่นภาษี ถ้า "ยื่นภาษีไม่ทัน" จะโดนโทษอะไรบ้าง

  • ใครบ้างต้อง "ยื่นภาษี" และ "เสียภาษี" 

เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนเลย คือ ผู้มีเงินได้มีหน้าที่เสียภาษีแก่รัฐ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มี "เงินได้" จะต้องเสียภาษี หรือ ยื่นภาษี 

โดยสำหรับ ผู้มีรายได้ทางเดียว จาก “งานประจำ” คนที่จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และเสียภาษีประจำปี มีดังนี้

- เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี
- เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินเดือนเกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี หักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องเสียภาษี

ยื่นภาษี

  • หน้าที่ตามกฎหมายของผู้มีหน้าที่เสียภาษี

ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้นนั้น สำหรับใครที่เข้าเกณฑ์ต้อง "ยื่นภาษี" แต่ไม่ได้ทำการยื่นแบบฯ ถือเป็น "การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร" นอกจากต้องรับผิดทางแพ่งแล้ว ยังต้องรับผิดทางอาญาอีกด้วย

สิ่งที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ตามกฎหมายโดยสรุปดังนี้

1. ยื่นแบบฯ และเสียภาษีอากรที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและครบถ้วน

2. ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และจดทะเบียนภาษีตามที่กฎหมายกำหนดแล้วแต่กรณี และหากมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ จะต้องแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง

3. จัดทำเอกสารหลักฐาน และบัญชีใดๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ใบรับ ใบส่งของ ใบกำกับภาษี บัญชีรายได้ รายจ่าย งบการเงิน บัญชีพิเศษ ฯลฯ แล้วแต่กรณี

4. ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน เมื่อได้รับหนังสือเชิญพบ หรือหนังสือขอให้ยื่นเอกสาร หรือหลักฐานใดๆ เพื่อประกอบในการเสียภาษีอากร ตลอดจนปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงาน

5. ชำระภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ภายในกำหนดเวลา หากมิได้ชำระภาษีหรือชำระไว้ไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานมีสิทธิยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร เพื่อนำไปชำระหนี้ภาษีได้โดยไม่ต้องฟ้องศาล

6. การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร นอกจากต้องรับผิดทางแพ่งแล้ว ยังต้องรับผิดทางอาญาอีกด้วย

ยื่นภาษี

  • ยื่นภาษีเกินกำหนดเวลา จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

สำหรับการยื่นภาษีประจำปีภาษี 2564 นั้น กรมสรรพากร ได้ยืดเวลาการยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ถึงเที่ยงคืน หรือ 24.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2565 โดยสำหรับใครที่ยื่นภาษีไม่ทัน หรือยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เมื่อพ้นกำหนดเวลา มีข้อกำหนดโทษปรับ แยกย่อยตามรายละเอียด ดังนี้

1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในกำหนด หรือ ยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา (ปกติ กำหนดวันสุดท้าย ที่ 31 มีนาคม ของทุกปี กรณีปีภาษี 2564 ยื่นออนไลน์ได้ถึง 8 เม.ย.65) ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้ 

2. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ

บางท่านอาจไม่ทราบว่า ไม่ใช่แค่ กำหนดวันยื่นภาษีวันสุดท้ายเท่านั้น ที่จะต้องใส่ใจ เพราะ กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ และไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่กำหนด ก็ถือว่า มีโทษเช่นกัน เพราะถือว่า ไม่ได้ยื่นแบบ โดยจะต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา

3.1) กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3.2) กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว

4.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ

4.1) กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ

4.2) กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ  ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

5.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี

หากท่านมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

6. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

ทั้งนี้ อย่าลืมว่า การยื่นภาษี และ เสียภาษี เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้มีเงินได้ โดยสำหรับใครที่เข้าเกณฑ์ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ได้ทำการยื่นแบบฯ หรือ ไม่ได้ชำระภาษี ถือเป็น "การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร" นอกจากต้องรับผิดทางแพ่งแล้ว ยังต้องรับผิดทางอาญาอีกด้วย

โดยข้อแนะนำ คือ อย่าหลีกเลี่ยงการกระทำข้างต้น และให้ติดต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพื่อขอคำแนะนำเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา เช่น การผ่อนจ่ายได้ เป็นต้น