ปริญญ์ vs เจ้าชายแอนดรูว์ คดีล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์

ปริญญ์ vs เจ้าชายแอนดรูว์  คดีล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์

อากาศที่ร้อนในเดือน เม.ย. น่าจะยังไม่ร้อนแรงเท่ากรณีการลาออกจากรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ จากข้อกล่าวหาทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิง และผลกระทบจากกรณีนี้

หากว่าผู้กล่าวหาทั้งหมดที่ล้วนเป็นผู้หญิงซึ่งรวมกันแล้วมีจำนวนมากถึง 15 รายถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจแล้ว แต่จะน่าตกใจมากกว่าหากข้อกล่าวหาเหล่านี้ที่กำลังจะถูกพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นเรื่องจริงเพราะหลายรายในจำนวน 15 คนนี้ยังเป็นผู้เยาว์

พูดได้ว่า กรณีการล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์นั้น เป็นคดีที่ร้ายแรง คดีเหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาที่ทับถมในสังคมที่อยุติธรรมต่อผู้หญิง ต่อเด็ก และต่อผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่า กรณีเหล่านี้เห็นได้จากรูปคดีที่ผู้กระทำมักจะเป็นผู้ชายที่มีอำนาจมากมีแต้มต่อทางการงานทางสังคมและมีเงินมาก

สังเกตได้ว่าเมื่อการกระทำชั่วเหล่านี้เป็นเรื่องแดงออกมามักจะมีเหยื่อมากกว่า 1 คนเสมอ เช่นกรณีของ 2 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บิล คลินตัน และโดนัลด์ ทรัมป์ หรือเจ้าชายแอนดรูว์แห่งอังกฤษ ที่ไปพัวพันกับเจฟฟรีย์ เอปสตีน นักการเงินชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลผู้ซึ่งฆ่าตัวตายในคุกระหว่างรอพิจารณาคดีค้าประเวณีเด็กหญิงจำนวนมาก

เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์คนั้น เป็นราชโอรสองค์ที่ 2 (และองค์โปรด) ของควีนเอลิซาเบธของอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงที่มีพระกรณียกิจต่าง ๆ แล้ว ยังเคยเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของราชนาวีอังกฤษ และเป็นผู้แทนรัฐบาลสหราชอาณาจักรด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ ด้วยหน้าที่และกรณียกิจเหล่านี้เอง ทำให้เจ้าชายต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ

ข้อกล่าวหาของ เวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ (จุฟเฟร) ระบุว่า เธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับเจ้าชายแอนดรูว์ถึง 3 ครั้ง ระหว่างปี 2544 ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุ 17 ปี และในปี 2545 ในกรุงลอนดอน นครนิวยอร์ก และเกาะส่วนตัวของเอปสตีนพระสหายของเจ้าชายในทะเลแคริบเบียน ซึ่งยังถือเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้นตามกฎหมายรัฐฟลอริดา ทำให้เจ้าชายแอนดรูว์ตกเป็นจำเลยต้องไปขึ้นศาลที่สหรัฐ

กรณีการฟ้องร้องที่อื้อฉาวนี้กระทบอย่างหนักต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษและกระเทือนหนักขึ้นเมื่อเจ้าชายประทานสัมภาษณ์กับ BBC ในปี 2553 และยอมรับว่ายังได้ไปพักที่บ้านของเอปสตีนจริง แม้ว่าขณะนั้นเอปสตีนจะตกเป็นจำเลยคดีกระทำผิดทางเพศแล้ว

คดีอื้อฉาวเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเหยื่อเท่านั้น แต่ผลกระทบต่อผู้ถูกกล่าวหาและวงศ์วาน สังกัดและสถาบันก็รุนแรงเช่นกัน เช่นเดียวกับสำนวนไทยที่ว่าปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้องฉันใด คนรอบตัวของผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องพลอยแปดเปื้อนกับคำวิจารณ์ฉันนั้น 

ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สามารถพิสูจน์ในชั้นศาลได้ แต่ในความเป็นจริงสังคมก็ได้เห็นภาพรวมความเป็นไปได้และคนในสังคมก็มีสิทธิที่จะคิดและเลือกที่จะเชื่อเองได้

ผลกระทบทางสังคมเหล่านี้เองคือแรงกดดันที่แท้จริงที่จะป้องปรามเตือนใจหากมีผู้คิดกระทำชั่วแบบนี้ อย่างกรณีของเจ้าชายแอนดรูว์นั้น ถูกถอดยศนายพลเรือและทรงงดการใช้พระยศ HRH ตลอดจนยุติกรณียกิจต่าง ๆ

และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คคีเหล่านี้หลายคดีไม่เคยถึงที่สุดเพราะเหยื่อและผู้ถูกกล่าวหามักจะตกลงยอมความกันได้ อย่างกรณีคดีของเจ้าชายแอนดรูว์กับเวอร์จิเนียก็เช่นกัน ที่บรรลุการเจรจาระงับข้อพิพาทนอกศาลเมื่อเดือน ก.พ.นี้เอง โดยเจ้าชายจะบริจาคเงินจำนวนหนึ่งให้มูลนิธิในนามของเวอร์จิเนีย

คดีของเจ้าชายแอนดรูว์จึงไม่ใช่กรณีศึกษาแรกอันแสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วคดีเหล่านี้ก็มักจบลงด้วยการยอมความ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรและสถาบันที่ผู้ถูกกล่าวหาพัวพันเกี่ยวข้อง

ภาพลักษณ์ที่ดีนั้นสร้างยากและใช้เวลายาวนานแต่สามารถถูกทำลายได้โดยง่ายชั่วพริบตาโดยคน ๆ เดียว