สหกรณ์ต่างประเทศทำหลายอย่างที่แข่งกับธุรกิจเอกชนได้ | วิทยากร เชียงกูล

สหกรณ์ต่างประเทศทำหลายอย่างที่แข่งกับธุรกิจเอกชนได้ | วิทยากร เชียงกูล

ระบบสหกรณ์ที่สมาชิกเป็นเจ้าของการผลิตสินค้าและบริการร่วมกัน เป็นระบบที่ดีกว่าระบบธุรกิจเอกชน ถ้าสมาชิกเอาจริงและช่วยกันทำให้สหกรณ์มีประสิทธิภาพ

สหกรณ์ช่วยให้คนงานมีงานทำ และปันผลให้สมาชิกรวมทั้งผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม  สหกรณ์ที่ก้าวหน้าสนใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย  ให้ผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้มากกว่าระบบทุนนิยมที่สนใจแต่การหากำไรของเจ้าของทุน

สหกรณ์ที่ก้าวหน้าสนใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย  ให้ผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้มากกว่าระบบทุนนิยมที่สนใจแต่การหากำไรของเจ้าของทุน

ในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ สหกรณ์การเกษตรเข้มแข็งมาก การผลิตนมในสวีเดนอยู่ในระบบสหกรณ์ 99 % ในประเทศยุโรปอื่นอีก 8 ประเทศ และสหรัฐฯ มีการผลิตนมในระบบสหกรณ์สัดส่วนการตลาดมากกว่า 70%  การเก็บเกี่ยวข้าว 95% ในญี่ปุ่นอยู่ในระบบสหกรณ์

 สหกรณ์การเกษตรในต่างประเทศ ทำกิจกรรมเช่น ขายปัจจัยการผลิตให้สมาชิก (การรวมกันซื้อทำให้มีอำนาจต่อรองมากกว่าต่างคนต่างซื้อ)  ให้บริการการผลิต การคลังสินค้า การขนส่ง การประกัน การแปรรูปอาหาร 

การขายสินค้าเกษตรที่อยู่ในระบบสหกรณ์เป็นสัดส่วนสูง  มีทั้งข้าว เป็ด ไก่ ผัก ผลไม้ ถั่วเหลือง ฝ้าย กาแฟ การประมง ทั้งในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เกาหลีใต้ บราซิล สหกรณ์การเกษตรในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมีธนาคารของตัวเองซึ่งให้บริการอื่นๆ เช่น การประกันภัย การรับส่งเงินไปต่างเมืองหรือต่างประเทศด้วย

สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์ค้าส่งค้าปลีก ก็มีสัดส่วนที่สำคัญ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ การค้าเครื่องชำ (สินค้าอุปโภค บริโภค) 54% ในยุโรปอยู่ในระบบสหกรณ์ ในญี่ปุ่น ครัวเรือนชาวญี่ปุ่น 1 ใน 5 เป็นสมาชิกสหกรณ์ค้าปลีกในท้องถิ่น นอกจากสหกรณ์จะช่วยลดพ่อค้าคนกลางแล้ว 

สหกรณ์ยังสามารถดูแลเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย การไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่เอาเปรียบผู้ผลิต ได้ดีกว่าธุรกิจเอกชนในระบบทุนนิยมด้วย เพราะสหกรณ์เป็นเจ้าของโดยสมาชิกในชุมชน จึงสนใจผลประโยชน์ของชุมชนมากกว่านายทุนเอกชนซึ่งสนใจแต่ผลกำไรส่วนตัว และเป็นคนที่อยู่นอกชุมชน หรือแม้แต่เป็นนายทุนต่างชาติ

สหกรณ์เพื่อที่อยู่อาศัย มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนจนในเมืองในหลายประเทศมีที่อยู่อาศัย จะเป็นแบบผ่อนซื้อหรือเช่าก็แล้วแต่ ระบบสหกรณ์สามารถทำให้ประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่าระบบนายทุนเอกชน เพราะไม่ต้องไปแบ่งปันผลกำไรให้บริษัทเอกชน ทำให้ราคาต่ำลง และประชาชนสามารถผ่อนส่งระยะยาวได้ 

ในสหรัฐฯ และแคนาดามีสหกรณ์หอพักนักศึกษา ช่วยให้นักศึกษามีที่พักที่เหมาะสม และได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเป็นกลุ่ม

สาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ก็มีการบริหารจัดการในรูปสหกรณ์สาธารณูปโภค ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ละตินอเมริกาและที่อื่นๆ ระบบสหกรณ์สามารถให้บริการสาธารณูปโภคได้ดีกว่าระบบรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน  เพราะรัฐวิสาหกิจมักมีปัญหาด้านการขาดประสิทธิภาพและฉ้อฉล ขณะที่บริษัทเอกชนมุ่งหากำไรของเจ้าของที่เป็นเอกชนมากไป

ในเวเนซุเอลา บราซิล อาร์เจนตินา โบลิเวีย เปรู ในช่วงที่พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าได้รับเลือกเป็นรัฐบาล มีการพัฒนาระบบสหกรณ์อย่างแพร่หลาย เช่น รัฐบาลเวเนซุเอลาสนับสนุนในแง่การออกกฎหมายช่วยสหกรณ์ การจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืม การจัดการศึกษาอบรมวิชาการ บริหารจัดการสหกรณ์ให้บัณฑิตใหม่และประชาชนที่ต้องการจัดตั้งสหกรณ์ 

รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันขอจัดตั้งสหกรณ์ได้ง่าย สมาชิกสหกรณ์เลือกผู้บริหารและควบคุมดูแลกันเอง มีการแปรรูปโรงงานของธุรกิจเอกชนที่เผชิญปัญหาหนี้เสีย หยุดดำเนินการ หรือทำท่าจะไม่รอดให้เป็นระบบสหกรณ์  โดยคนงานเข้าไปถือหุ้นและบริหารเอง รัฐบาลให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำและปลอดดอกเบี้ยในปีแรกๆ เพื่อฟื้นฟูกิจการใหม่ 

สหกรณ์ที่คนงานเข้าไปเป็นเจ้าของสามารถฟื้นฟูกิจการและดำเนินได้ดีกว่ าบริษัทเอกชน เพราะคนงานเมื่อได้ถือหุ้นเป็นเจ้าของเอง รู้สึกว่าเป็นของเขา ถ้าเขาตั้งใจทำงานให้ดี สหกรณ์มีกำไร เขาก็จะได้รับปันผลมากขึ้น ทำให้พวกเขาตั้งใจทำงาน คอยดูแลตรวจสอบกันทำให้การทุจริตรั่วไหลลดน้อยลง บางประเทศมีสหกรณ์โรงพยาบาลที่หมอ พยาบาลประชาชนร่วมกันจัดตั้ง ที่ให้บริการได้ถูกกว่ารพ.เอกชน และไม่แออัดมากเหมือนรพ.รัฐ

ที่เมืองมอนดรากอน (MONDRAGON) แคว้นบาสก์ ประเทศสเปน ผู้สำเร็จอาชีวศึกษา 5 คน ได้จัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตเตาจากน้ำมันก๊าดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันเติบโตเป็นสหพันธ์สหกรณ์ที่มีเครือข่ายมากกว่า 150 แห่ง เป็นสหกรณ์การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและให้บริการ ฯลฯ ในหลายสาขา รวมทั้งธนาคารและมหาวิทยาลัยของตนเอง 

มีพนักงานที่เป็นสมาชิก คือเจ้าของสหกรณ์ด้วยรวมทั้งหมด 70,000 คน เป็นองค์กรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นบาสก์ และมีเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทสเปน เป็นสหพันธ์สหกรณ์ที่มียอดขายสูงราวอันดับ 10 ของสหพันธ์สหกรณ์ทั่วโลก (ปีละกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์)

การจะทำให้ระบบสหกรณ์ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการปลูกฝังแนวคิดอุดมการณ์ให้ประชาชนเห็นว่า แนวทางการพัฒนาธุรกิจแบบสหกรณ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกดีกว่าระบบทุนนิยมอย่างไร และต้องมีการฝึกอบรมด้านการเป็นผู้บริหารจัดการและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งในหลายประเทศมีโรงเรียน มีวิทยาลัยที่ส่งเสริมด้านสหกรณ์นี้โดยเฉพาะ สหกรณ์ขนาดใหญ่บางแห่งเป็นผู้ลงทุนดูแลเรื่องนี้เอง 

ที่สำคัญคือ สมาชิกสหกรณ์ต้องสนใจดูแล เลือก และตรวจสอบผู้บริหาร ปัจจุบันสหกรณ์ยังมีบทบาทช่วยเหลือกันและกันสูง เช่น ในอิตาลี รัฐบาลออกกฎหมายให้สหกรณ์ต้องแบ่งปันผลกำไร 3% เข้ากองทุนเพื่อช่วยจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ๆ ในเขตที่ยากจน 

ในระดับระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาการสหกรณ์ระหว่างประเทศ (ICA) องค์กรแรงงานสากล (ILO) สหประชาชาติ (UN) สนใจให้ความช่วยเหลือพัฒนาสหกรณ์ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะนักวิชาการ นักวิชาชีพที่เป็นนักประชาธิปไตยเริ่มเห็นว่าสหกรณ์เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศและปัญหาเศรษฐกิจ สังคมอื่นๆ ได้ดีกว่าการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม

 กลุ่ม/สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่เข้มแข็งในประเทศไทยมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่เป็นแค่องค์กรเล็กๆ หรือขนาดกลางที่มองไม่เห็นภาพใหญ่ หรือขยายตัวไม่ออก เพราะติดกรอบใหญ่ คือ ระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารทุนต่างชาติ กฎหมายที่ล้าหลัง และชาวสหกรณ์ไทยยังไม่กล้าคิดพึ่งตนเอง ไม่กล้าพัฒนานอกกรอบที่ขวางทางอยู่ รัฐบาล ,ฝ่ายค้าน ชนชั้นนำไทยไม่สนใจสนับสนุนมากพอ

เราควรจะรื้อฟื้น ประยุกต์ใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมในชนบทที่ประชาชนเคยตั้งกลุ่มช่วยเหลือกัน  เช่น กลุ่มเหมืองฝาย องค์กรประชาชน กลุ่มต่างๆ จัดตั้งกลุ่มสมัยใหม่แบบสหกรณ์ได้ผลักดันปฏิรูปขบวนการสหกรณ์ให้เป็นอิสระและมีโอกาสเติบโต ทำให้สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจที่มีสัดส่วนที่สำคัญ นี่คือแนวทางเลือกใหม่ที่มีทั้งประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน มากกว่าการคิดและทำอยู่ในกรอบทุนนิยมอุตสาหกรรม.