“ทีพีไอ”ดันอุตฯแห่งอนาคต ต่างชาติสนลงทุนโปรเจค “จะนะ”

“ทีพีไอ”ดันอุตฯแห่งอนาคต  ต่างชาติสนลงทุนโปรเจค “จะนะ”

ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้มีอัตราสัดส่วนคนจนสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 11.84% รายได้ต่อหัวในปี 2561 เท่ากับ 147,115 บาทต่อปี ถือว่าน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยทั้วประเทศที่ 236,815 บาทต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้ต่อหัวต่ำมาก

ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้มีอัตราสัดส่วนคนจนสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 11.84% รายได้ต่อหัวในปี 2561 เท่ากับ 147,115 บาทต่อปี ถือว่าน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยทั้วประเทศที่ 236,815 บาทต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้ต่อหัวต่ำมาก โดย จ.นราธิวาส อยู่ที่ 61,765 บาทต่อปี ปัตตานี 88,442 บาทต่อปี และยะลา 96,867 บาทต่อปี และหนึ่งในแนวทางที่จะยกระดับเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การดึงดูดการลงทุน เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นแหล่งจ้างงานและสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาน้อยและมีรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับภาคอื่น โดยปี 2561 มีรายได้ต่อหัวเพิ่มเพียง 1.7% เทียบกับภาคอื่นที่ขยายตัว 2.8-7.0% หากปล่อยเช่นนี้เศรษฐกิจภาคใต้จะถดถอยลงและมีช่องว่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจนมีปัญหาสังคมตามมา

ช่วงที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับทีพีไอเพื่อเป็นหัวหอกพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบทำให้ไปสำรวจและวางแผนลงทุน “สวนอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเหมาะสมเพราะติดทะเล มีสถาบันการศึกษาสร้างบุคลากรรองรับ จึงเตรียมพื้นที่โครงการนี้ 1.7 หมื่นไร่ (25 ตารางกิโลเมตร)

สำหรับอุตสาหกรรมที่จะมาลงทุนเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น โรงงานแบตเตอรี่ โรงงานรถยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตส่วนประกอบกังหันลมและอุปกรณ์พลังงานทดแทน รวมถึงโรงงานผลิตเครื่องมือการแพทย์ครบวงจร เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชียและของโลก 

นอกจากนี้จะต่อยอดผลผลิตประมงและเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ ยางพารา น้ำมันปาล์ม โดยดึงการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรชั้นสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการสร้างโรงงานแปรรูปผลผลิตเป็นกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป จะยกระดับชุมชน ไม่ก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและสร้างงาน 1 แสนคน

“ทีพีไอลงนามเอ็มโอยูกับบริษัทรายใหญ่ของโลกทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าจาก LNG, ลม, แสงแดด, ชีวมวล, ขยะเทศบาล จากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และผู้ผลิตโซลาร์เซลและกังหันลมจากจีน รวมนิวซีแลนด์สนใจลงทุนอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ประมง การเลี้ยงปลาและปศุสัตว์ และจะแปรรูปการเกษตรด้วยนวัตกรรมให้มีมูลค่าสูง เช่น ยา เคมีชีวภาพ”

161936132847

นอกจากนี้ แบ่งพื้นที่ 500 ไร่ สร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ Mixed Use เพื่อเป็นศูนย์การค้า การเงิน การท่องเที่ยว แหล่งที่พักอาศัยเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยประกอบด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย 5จี เพื่อการสื่อสารที่รวดเร็ว การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการบริหารจัดการที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำ ซึ่งได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญอังกฤษมาพัฒนาสมาร์ทซิตี้ โดยตัวแทนการค้าของรัฐบาลฮ่องกง, จีน, เบลเยี่ยม, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลี, สิงคโปร์ สนใจร่วมโครงการ

การผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รองรับ คือ โครงการท่าเรือน้ำลึก ศูนย์กระจายสินค้า การสื่อสาร คมนาคมทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และทางอากาศ พร้อมโรงไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและน้ำประปา เพราะภูมิศาสตร์ได้เปรียบที่ติดทะเลและไม่ห่างจากหาดใหญ่ หรือด่านนอกสะเดา

“หากท่าเรือน้ำลึกสงขลาเกิดขึ้นจะย่นเวลาส่งสินค้าไปจีนได้ 1 วัน เมื่อเทียบกับการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และลดพึ่งพาท่าเรือปีนังของมาเลเซียทำให้ลดต้นทุนการขนส่งได้มาก”

นอกจากนี้ ต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดใหญ่รองรับภาคอุตสาหกรรมและอีวี ที่จะเพิ่มขึ้นล้านคันในอนาคต เพราะหากอีวีชาร์ตไฟฟ้า (แบบ 5-6 ชั่วโมง) จะใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 3 หมื่นเมกะวัตต์ และหากใช้เทคโนโลยีการชาร์ตเร็วจะใช้ไฟฟ้ามากกว่านี้ โดยเฉพาะภาคใต้ขาดแคลนไฟฟ้า 2-3 พันเมกะวัตต์

ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดนักลงทุน ทีพีไอ มีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด รวมถึงก๊าซธรรมชาติ 8 พันเมกะวัตต์ รองรับ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งระยะแรกมีโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานก๊าซแอลเอ็นจี 1,700 เมกะวัตต์ พลังงานลม 800 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานชีวมวลและขยะ 200 เมกะวัตต์

“ที่ผ่านมาลงนามเอ็โอยูกับบริษัทใหญ่จากเกาหลีใต้ 2 ราย ได้แก่ โคแก๊ส บริษัทซื้อขายแอลเอ็นจีใหญ่ที่สุดในโลก และบริษัทโคเรียนเวสเทิร์นเพาเวอร์ พร้อมที่ลงทุนโรงไฟฟ้าและท่าเรือแอลเอ็นจี ส่วนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้ลงนามเอ็มโอยูกับบริษัทจากจีน และมีอีกหลายบริษัทสนใจ”

161936135263

โครงการนี้จะสำเร็จต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเต็มที่ โดยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเท่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมีภาษีนำเข้าใกล้เคียงสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อดึงต่างชาติตั้งสำนักงานการค้าในไทย ยกระดับเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงิน รวมทั้งพื้นที่นี้อยู่ในการดูแลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ออกกฎระเบียบได้ยืดหยุนจึงออกกฎระเบียบอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนได้ทันที

“หากโครงการนี้สำเร็จจะทำให้ไทยพัฒนาก้าวกระโดดและปัญหาความยากจนในภาคใต้จะหมดไป ส่งผลให้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คลี่คลายด้วย”

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท และหากรวมลงทุนภาคอุตสาหกรรมจะไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี สร้างการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน และจะจ้างงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 2-3 แสนคน ช่วงก่อสร้างจะจ้างงานทันทีอีกหลายหมื่นคน 

“หากรัฐสนับสนุนจะสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้ประเทศมากกว่าการปล่อยให้เป็นไปอย่างปัจจุบันที่มีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ผู้คนทิ้งถิ่นฐานไปที่อื่น และมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการพัฒนา”