‘นักธุรกิจ’ หวังรัฐบาลมีเสถียรภาพ ดันนโยบายสู้วิกฤติเศรษฐกิจทรัมป์

‘นักธุรกิจ’ หวังรัฐบาลมีเสถียรภาพ ดันนโยบายสู้วิกฤติเศรษฐกิจทรัมป์

“นักธุรกิจ” หวังการเมืองมีเสถียรภาพดันนโยบายสู้วิกฤติเศรษฐกิจทรัมป์ “หอการค้า” อยากเห็นพรรคร่วมหนุนแก้ปัญหาประเทศ ส.อ.ท.ขอทุกฝ่ายโฟกัสเศรษฐกิจชาติอย่ากดดันการเมืองมากเกินไป ห่วงสงครามการค้ากระทบหนัก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวอยากให้ทุกฝ่ายโฟกัสเรื่องของเศรษฐกิจประเทศมากกว่า จึงอยากให้รัฐบาลมีสมาธิในการแก้ปัญหาเพราะมีหลายคนให้ความเห็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองมามากพอแล้ว 

ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีสมาธิ โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าซึ่งการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่หลวงมาก และไทยก็ยังได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่สูง

ดังนั้น ตอนนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องมีสมาธิ และร่วมใจร่วมแรงแก้ปัญหา ทำอะไรจากนี้ต้องคิดคำนึงให้รอบคอบทุกด้าน พร้อมกับหามาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น ตรงจุดในสิ่งที่เอกชนเรียกร้องเสนอแนะมาโดยตลอดเวลา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในประเทศ และจะยิ่งทะลักเข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แม้ว่าการชะลอขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ 90 วัน ตอนนี้เหลือประมาณ 50 วัน นั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญตรงจุดนี้อยู่มาก ซึ่งในระยะเวลาที่เหลือก็ยังไม่รู้ว่าผลของการเจรจาจะเป็นอย่างไร จึงอยากให้รัฐบาลมีสมาธิร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศเหมือนกับหลายประเทศ แม้แต่สหรัฐ เองก็ลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเอง จึงถึงเวลาที่ไทยต้องรีบเร่งในการปฏิรูปประเทศไทยเช่นกัน” นายเกรียงไกร กล่าว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการเห็นความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาลในการรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่านโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ สถานการณ์ของรัฐบาลในปัจจุบันเจอการบริหารงานที่ยากขึ้นจากเดิมที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเมื่อจบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องมาเจอความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายสงครามการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐที่ทำให้อุปสรรคเพิ่มมากขึ้น

“ที่ผ่านมาไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค และภาพที่ออกไปในต่างประเทศเป็นภาพของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้อยากเห็นเสถียรภาพรัฐบาลที่สนับสนุนกันร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ และรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้า” นายวิศิษฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งแผนรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะสั้นจะต้องเร่งเจรจากับทางการสหรัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า โดยประเทศไทยอาจไม่ใช่กลุ่มแรกที่จะได้เจรจากับสหรัฐ แต่มีเรื่องน่ายินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ยอมรับว่าข้อเสนอของรัฐบาลไทย 5 ข้อ เป็นข้อเสนอที่ดี

สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเรื่องปกติของรัฐบาลที่จะปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละช่วง โดยปัญหาหรืออุปสรรคในแต่ละช่วงต้องการคนทำงานที่แตกต่างกัน โดยบุคคลใดที่ทำประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินได้เหมาะกับสถานการณ์ก็ให้ทำหน้าที่ต่อ และถ้าปรับแล้วก็ควรมีบุคคลอื่นที่เข้ามาแล้วบริหารงานดีขึ้นหรือทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น

"ตำแหน่งรัฐมนตรีมีจำกัดถ้านายกรัฐมนตรีเห็นว่าใครทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยได้ควรให้ทำงานต่อ" นายวิศิษฐ์ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์