ราคาน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากการปรับเพิ่มการผลิต

ราคาน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากการปรับเพิ่มการผลิต

ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันโลก เพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์นี้ แต่ยังคงได้รับแรงกดดันจากการปรับเพิ่มของอุปทาน นักวิเคราะห์คาดราคายังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปในปีนี้

ราคาน้ำมันโลก รอยเตอร์ รายงานภาวะ ตลาดน้ำมันโลก วันศุกร์ ( 16 พ.ค.) ราคาน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ในวันศุกร์ โดยเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่คลี่คลายลง

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 88 เซ็นต์ หรือ 1.36% ปิดที่ 65.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (ราคาน้ำมันWTI) ล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 87 เซ็นต์ หรือ 1.41% ปิดที่ 62.49 ดอลลาร์

ราคาน้ำมันสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในทั้งสองตลาดร่วงลงมากกว่า 2% ในวันก่อนหน้า หลังจากมีการเทขายเนื่องจากแนวโน้มข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ในสัปดาห์นี้

ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯ ใกล้จะบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านแล้ว โดยเตหะราน "เกือบจะ" ตกลงตามเงื่อนไขแล้ว อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ทราบเกี่ยวกับการเจรจาดังกล่าวกล่าวว่ายังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก

นักวิเคราะห์ของธนาคาร ING เขียนในบันทึกว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ที่นำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจะช่วยลดความเสี่ยงด้านอุปทาน ทำให้อิหร่านสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันและหาผู้ซื้อที่เต็มใจซื้อน้ำมันได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีอุปทานเพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน

แม้จะมีแรงกดดันด้านอุปทาน แต่ราคาน้ำมันเบรนต์และดับเบิลยูทีไอกลับเพิ่มขึ้น ในสัปดาห์นี้ ความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากที่สหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันและเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุด 2 รายของโลก ตกลงจะหยุดสงครามการค้าเป็นเวลา 90 วัน โดยทั้งสองฝ่ายจะลดภาษีการค้าลงอย่างมาก การตั้งกำแพงภาษีศุลกากรระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สูงก่อนหน้านี้ทำให้เกิดความกังวลว่าการเติบโตและความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

 

คาดราคายังต่ำกว่า 70 เหรียญในปีนี้

นักวิเคราะห์จาก BMI ซึ่งเป็นหน่วยงานในเครือของ Fitch Solutions ยังคงคาดการณ์ราคาน้ำมันเบรนท์โดยเฉลี่ยที่ 68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2025 และ 71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2026 ลดลงจาก 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2024 โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าต่อ แนวโน้มราคาน้ำมัน

“แม้ว่าช่วงเวลาพัก 90 วันจะเปิดโอกาสให้มีความคืบหน้าเพิ่มเติมในการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งสองฝ่าย แต่ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในระยะยาวจะจำกัดการขึ้นของราคา” นักวิเคราะห์กล่าว

สิ่งที่เพิ่มความกังวลให้กับตลาดคือการคาดการณ์ว่าอุปทานส่วนเกิน

เมื่อวันพฤหัสบดี สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของอุปทานทั่วโลกในปี 2025 ขึ้น 380,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากซาอุดีอาระเบียและสมาชิกโอเปกพลัส (OPEC+)  ยกเลิกการลดการผลิต

IEA ยังคาดการณ์ว่าจะมีอุปทานส่วนเกินในปีหน้า แม้จะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2025 ขึ้นเล็กน้อย 20,000 บาร์เรลต่อวัน

นักลงทุนยังจับตาสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันได้

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐแสดงให้เห็นว่าคลังน้ำมันดิบสำรองเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกเพิ่มสูงขึ้น