‘คลัง’ ขอแรงหนุน 5 แบงก์พาณิชย์ หั่นกำไรอุ้ม ‘ธุรกิจ’ สู้วิกฤติทรัมป์

‘คลัง’ ขอแรงหนุน 5 แบงก์พาณิชย์ หั่นกำไรอุ้ม ‘ธุรกิจ’ สู้วิกฤติทรัมป์

คลัง เตรียมแผนรับมือผลกระทบภาษีสหรัฐ และสินค้านำเข้า ถูกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อผลักดัน GDP ไทยให้เติบโตเกิน 3%

KEY

POINTS

  • คลัง เตรียมแผนรับมือผลกระทบภาษีสหรัฐ และสินค้านำเข้าถูก ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อผลักดัน GDP ไทยให้เติบโตเกิน 3%
  • แบงก์รัฐ 7 แห่ง ยอมลดเป้าหมายกำไรเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ส่งออก “ออมสิน” ออกซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท
  • หารือ ธปท. ขอให้ 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่กำไรสูง ร่วมแบ่งกำไรช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 19 พ.ค.2567 โดยกระทรวงการคลังจะเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ  

ทั้งนี้ มีแนวโน้มกระทบธุรกิจไทย 1-2 ปี โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก และซัพพลายเชน รวมถึงผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ทั้งนี้แม้จะมีปัจจัยกระทบเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดัน GDP เติบโตเกิน 3% โดยจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม และจะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องดูแลควบคู่กันเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น 

ดัน 7 แบงก์รัฐแบ่งกำไรช่วยผู้ส่งออก 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังรวมกับสถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง ออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank)  

ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  

ทั้งนี้ จะทบทวน และปรับลดเป้าหมายกำไรจากการดำเนินธุรกิจลง เพื่อนำเม็ดเงินงบประมาณที่ได้ไปจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการ ซึ่งต้องเข้ามามีบทบาทออกมาตรการช่วยเหลือ 

 

ออมสินจัดซอฟต์โลนแสนล้าน 

นายพิชัย กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจถึงกลุ่มผู้ส่งออกได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ส่งออกไปสหรัฐ รองลงมาเป็นกลุ่ม SMEs ที่ทำงานต่อเนื่องกับผู้ส่งออก รวมถึงกลุ่มพนักงาน และลูกจ้างที่เกี่ยวข้องที่จะมีมาตรการช่วยเหลือระยะต่อไป 

สำหรับธนาคารออมสินเตรียมออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% ให้สถาบันการเงินอื่นนำไปปล่อยกู้ต่อดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% โดยวงเงินดังกล่าวกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่จะได้รับความช่วยเหลือ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

1.ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้าไปตลาดประเทศสหรัฐ 

2.ผู้ประกอบการ Supply Chain ที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก 

3.ผู้ผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ และผู้ประกอบการ SME ในภาพรวม 

นอกจากนี้ เตรียมการลดดอกเบี้ย 2-3% ให้แก่ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ โดยจะเปิดให้ลูกค้าเข้ามาติดต่อธนาคารโดยตรงภายใน 1-2 วันนี้ 

ขณะเดียวกัน ได้มอบโจทย์ให้ EXIM Bank ที่มีลูกค้าผู้ส่งออก 3,000 ราย ประเมินสถานการณ์ และเตรียมมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องในกรณีมาตรการภาษีสหรัฐทำให้ธุรกิจหยุดชั่วคราว โดยจะพิจารณาให้เงินทุนหมุนเวียนและลดดอกเบี้ย 20% ของอัตราดอกเบี้ยจ่ายแต่ละงวด และให้ธนาคารเปิดแผนกให้คำปรึกษาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การพิจารณามาตรการที่เหมาะสม 

“ได้มอบหมายให้ธนาคารต่างๆ กลับไปพิจารณามาตรการที่เหมาะสม และจะประชุมเตรียมความพร้อม และสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมาตรการบางอย่างทำได้ทันทีหากธนาคารมีความแข็งแกร่ง แต่หากต้องการเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลให้รีบแจ้ง นอกจากนี้จะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และปรับเปลี่ยนมาตรการตามความเหมาะสม” นายพิชัย กล่าว 

หารือ ธปท.หั่นกำไร 5 แบงก์พาณิชย์ 

นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากมาตรการแบงก์รัฐแล้วได้หารือส่วนตัวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ที่มีกำไรสูงในการร่วมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งจะนัดประชุมอีกครั้ง 

“มาตรการการเงินครั้งนี้ให้สถาบันการเงินรัฐยอมหั่นกำไรตัวเองมาใช้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และช่วยสังคม ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีขนาดใหญ่กว่าธนาคารออมสิน เพราะฉะนั้นเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์หั่นกำไรช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้เช่นกัน” 

นายพิชัย กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐต่อไทยจะไม่รุนแรงกว่าประเทศอื่น และหากไทยบริหารจัดการสถานการณ์ได้มีประสิทธิภาพจะได้ประโยชน์ระยะยาว 

รัฐบาลเร่งเดินหน้าแก้หนี้ 

สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 86% ซึ่งลดลงจาก 91% เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แม้จำนวนหนี้ยังไม่ลดลง แต่สัดส่วนลดลงจากการที่ GDP ประเทศขยายตัว ดังนั้น ส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องควบคู่การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง 

สำหรับสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของหนี้ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกหนี้ 5.4 ล้านราย โดยในจำนวนนี้ เป็นลูกหนี้ที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท จำนวนถึง 3 ล้านราย 

นายพิชัย กล่าวว่า หนี้ NPL ของลูกหนี้ในความดูแลของสถาบันการเงินรัฐ คิดเป็นเพียง 10% ของยอด NPL หนี้ครัวเรือนทั้งหมด ดังนี้ 

1.ธนาคารออมสินแก้ไขปัญหาหนี้ NPL กลุ่มลูกหนี้ที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 100,000 บาท แล้ว 500,000 ราย และคาดว่าแก้ไขได้อีก 400,000 บัญชี ภายใน 3 เดือนข้างหน้า  

2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แก้ไขแล้ว 200,000 บัญชี และเตรียมแก้ไขเพิ่มเติมอีก 70,000 บัญชี 

สำหรับการปล่อยสินเชื่อในระบบรวมอาจชะลอตัวลง เพราะสถาบันการเงินอาจยังขาดความเชื่อมั่น แต่สำหรับสถาบันการเงินรัฐพบการขยายตัวของสินเชื่อยังไปได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์