'พิชัย' ยันไม่คิดล้วงทุนสำรองแบงก์ชาติ ชี้คุย ธปท.หาแนวทางรับภาษีทรัมป์

'พิชัย' ยันไม่คิดล้วงทุนสำรองแบงก์ชาติ ชี้คุย ธปท.หาแนวทางรับภาษีทรัมป์

"พิชัย" ปัดแนวคิดนำทุนสำรองประเทศมาใช้รับมือนโยบายทรัมป์ หารือผู้ว่า ธปท. ผลกระทบเศรษฐกิจโลก หวังนโยบายคลัง-การเงิน ทำงานร่วมกัน

รายงานข่าว ระบุว่า วันนี้ (16 เม.ย.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีการหารือร่วมกับเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โลก และแลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางการรับมือนโยบายภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ 

นายพิชัย กล่าวว่า นโยบายภาษีของทรัมป์ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินเช่นกัน ดังนั้นประเด็นที่จะหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติวันนี้ คือขออความเห็นท่านว่าทางแบงก์ชาติมองเรื่องนี้อย่างไร และมีแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินต่อไปอย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกันฝั่งกระทรวงการคลังจะมีการบอกเล่าความคืบหน้าว่าภาครัฐมีแนวทางรับมือเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันเป็นทีม

ขณะนี้ รัฐบาลจับตาดูทิศทางการดำเนินนโยบายของต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงไปมา ทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 

ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการเงินของไทยค่อนข้างนิ่ง โดยมีการเก็บเงินสำรองระหว่างประเทศแบบรวมศูนย์ที่ ธปท. อีกทั้งวิธีการบริหารที่ไม่หวือหวา

 

"ประเทศไทยยังไม่มีการขายพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งธปท. ก็คงวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่เบื้องต้นยังไม่มีการขาย แปลว่าเรายังยึดนโยบายและเชื่อมั่นในสหรัฐ"

เมื่อถามว่าจะมีแนวทางนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความคิด เพราะเงินสำรองที่มีอยู่ใช้เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ยืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ ซึ่งเวลารัฐจะทำนโยบายอะไรก็จะดำเนินการผ่านกระบวนการงบประมาณ เช่น การเพิ่มขาดดุลงบประมาณ 

ขณะที่เรื่องค่าเงินบาท ยืนยันว่า ไม่มีแนวทางจะไปแทรกแซงค่าเงินบาท ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

"แต่แน่นอนว่าในฐานะการเป็นภาคการส่งออกค่าเงินบาทอ่อนก็จะช่วยสนับสนุน แต่ผมไม่ได้พูดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น"

นายพิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสถานการณ์ภาษีทรัมป์ก็ทำให้หลายฝ่ายต้องหยุดชะงักชั่วคราว อาทิ ผู้ส่งออก-นำเข้า ที่ชะลอการตัดสินใจและดูท่าที ซึ่งอาจต้องมีมาตรการอะไรเข้าไปช่วยเหลือผู้ส่งออกและคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบตรงนี้

"โดยการหารือในครั้งนี้ไม่ได้มีความกังวลอะไรเป็นพิเศษ เป็นการพูดคุยกันตามปกติ และยังคงจับตาสถานการณ์นโยบายทรัมป์อย่างใกล้ชิด เพราะหลายอย่างยังไม่ตกผลึก"