‘คลัง’ รื้อภาษีหนุนรถไฮบริด ต่ออายุ ‘ดีทรอยต์ออฟเอเชีย’

‘คลัง’ รื้อภาษีหนุนรถไฮบริด ต่ออายุ ‘ดีทรอยต์ออฟเอเชีย’

“คลัง” เปิดแผนภาษีหนุนไทยฮับรถยนต์ภูมิภาค ปรับใหญ่โครงสร้างภาษีรถยนต์มีผลปี 69 ดันเป็นฐานการผลิต ยืดอายุหั่นภาษี EV ลดเพิ่มภาษีไฮบริด ปลั๊กอันไฮบริด

KEY

POINTS

  • คลังปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ครั้งใหญ่ ปี 69 หนุนไทยเป็นฮับผลิตยานยนต์
  • ต่ออายุลดภาษี EV 2% ส่งเสริมไฮบริด/ปลั๊กอินไฮบริด

  • เน้นเก็บภาษีตามการปล่อยคาร์บอนฯ ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า

ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอาเซียน กำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญจากกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก 

ดังนั้นการรักษาความสามารถในการแข่งขันจึงต้องเร่งปรับตัวทั้งด้านเทคโนโลยีและนโยบายสนับสนุนใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องมีมาตรการทางภาษี โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในอาเซียนได้ต่อไป 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ถือว่าเป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล จากเม็ดเงินภาษีที่จัดเก็บได้ปีละประมาณ 5-6 แสนล้านบาท เทียบเท่าตัวเลขงบประมาณในการลงทุน 

สำหรับการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์เคยเป็นรายได้อันดับ 2 ของภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท แต่ปี 2567 การจัดเก็บภาษีรถยนต์ลดลงมาเหลือ 67,362 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ประมาณ 34.25% เนื่องจากนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถ EV มากขึ้น ในขณะที่รถ EV จะจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตที่อัตรา 2%

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มาใช้รถ EV มากขึ้น เม็ดเงินที่จะเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีในภาพรวมมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ภาษีในส่วนของภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น 

“ความสำคัญของภาษีสรรพสามิต คือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีที่ยานยนต์จึงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่จะสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2565 มีมาตรการ EV3.0 และ EV3.5 ที่อุดหนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินการอยู่ตามนโยบายในเรื่องนี้ซึ่งระยะยาวคือต้องดูเรื่องของการลดกลางปล่อยคาร์บอนเป็นสำคัญ” นางสาวกุลยา กล่าว

หนุนรถไฮบริด-ปลั๊กอินไฮบริด

ส่วนนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญเทคโนโลยีไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดนั้น คำนึงถึงการสนับสนุนซัพพลายเชนยานยนต์ของประเทศ  เพราะการมุ่งสู่ยานยนต์อนาคตยังต้องเน้นการเปลี่ยนผ่าน 

ดังนั้นมาตรการที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเดิมใช้เกณฑ์ถังน้ำมันเป็นส่วนกำหนดอัตราภาษี โดยหากมีถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราไม่เกิน 5% แต่หากเกินจะจัดเก็บ 10% แต่เมื่อพิจารณาแล้วไม่สอดคล้องมาตรฐานสากลนัก 

อีกทั้งเป็นการลดศักยภาพรถยนต์ สร้างข้อจำกัดที่ไม่จำเป็น สร้างภาระแก่ประชาชน และอาจทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles (PHEV) ไม่ได้รับความนิยม 

สำหรับการเสนอ ครม.จะไม่จำกัดขนาดถังน้ำมัน ต้องไปดูในเรื่องของระยะทางการวิ่งต่อการชาร์จหากผลิตรถที่ใช้แบตเตอรี่ที่มีศักยภาพการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าให้วิ่งได้ไกลกว่า 80 กม.ต่อการเสียบชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง จะได้อัตราภาษี 5% แต่หากน้อยกว่า 80 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้งอัตราภาษีจะอยู่ที่ 10%

ทั้งนี้ เทคโนโลยีการชาร์จจะให้ระยะทางที่เกินกว่า 80 กม.เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังติดเรื่องขนาดถังน้ำมันที่จะแก้ไขให้ทำให้การจ่ายภาษีลดลงจาก 10% เป็น 5%

ปรับโครงสร้างภาษีใหม่มีผลปี 69

ส่วนความคืบหน้าการปรับครงสร้างภาษียานยนต์เพื่อสนับสนุนการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศไทย ในส่วนนี้มาตรการหลักจะเริ่มปี 2569 และจะปรับขึ้นภาษีทุก 2 ปี คือ ปี 2571 และปี 2573 จากนั้นหลังปี 2573 จะยังไม่ปรับ เพราะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวทุก 2  ปี โดยอัตราภาษีสุดท้ายในปี 2573 จะแตกต่างกันไปในส่วนของรถยนต์แต่ละประเภทที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนที่แตกต่างกัน

ส่วนมาตรการที่สนับสนุนเพิ่มเติมแต่จะไม่ให้กระทบกับโครงสร้างหลัก ทำให้บางตัวของอัตราภาษีนั้นหมดเวลาไม่เท่ากัน โดยอัตราจะสัมพันธ์กัน เช่น รถยนต์ไฟฟ้าประเภท Hybrid Electric Vehicles (HEV) เริ่มปี 2571 และหมดปี 2575 ซึ่งจะวัดการปล่อยคาร์บอนส่วนรถ PHEV จะวัดระยะทางการวิ่งแทน ซึ่งทั้งหมดคือหลักการที่วางไว้สำหรับรถ EV และรถที่เป็นไฮบริด 

สำหรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่ใช้ในประเทศ เริ่มปี 2569 เป็นต้นไป สำหรับรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน มีรายละเอียด ดังนี้ 

1.รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นรถที่ใช้น้ำมันซึ่งถือว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่ารถประเภทอื่น จะถูกจัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ โดยหากรถปล่อยคาร์บอนฯ อยู่ที่อัตราไม่เกิน 100 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตอัตรา 13%

กรณีปล่อยคาร์บอนฯ ในระดับ 101-120 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 22%

กรณีปล่อยคาร์บอนฯ ในระดับ 121-150 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 25%

กรณีปล่อยคาร์บอนฯ ในระดับ 151-200 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 29%

กรณีปล่อยคาร์บอนฯ ในระดับมากกว่า 200 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 37% 

กรณีรถที่มีการปล่อยคาร์บอนฯ ในปริมาณที่สูงมากที่เป็นรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกิน 3,000 ซี.ซี.จะเสียภาษีในอัตรา 50%

2.รถยนต์ประเภท Hybrid Electric Vehicles หากรถปล่อยคาร์บอนฯ อยู่ในอัตราไม่เกิน 100 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตที่อัตรา 6%

กรณีปล่อยคาร์บอนฯ ในระดับ 101-120 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 9% 

กรณีปล่อยคาร์บอนฯ ในระดับ 121-150 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 14%

กรณีปล่อยคาร์บอนฯ ในระดับ 151-200 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 19%

กรณีปล่อยคาร์บอนฯ ในระดับที่มากกว่า 200 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 24%

กรณีรถที่มีการปล่อยคาร์บอนฯ ในปริมาณที่สูงมากที่เป็นรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกิน 3,000 ซี.ซี.จะเสียภาษีในอัตรา 40%

3.รถประเภท Plug-in Hybrid Electric Vehicles หากรถปล่อยคาร์บอนฯ ตั้งแต่ 0-150 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 5% 

กรณีรถปล่อยคาร์บอนฯ ใรระดับ 151-200 กรัม/กม.จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 10%

กรณีรถที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูงที่เป็นรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกิน 3,000 ซี.ซี.จะเสียภาษีในอัตรา 30% โดยเงื่อนไขของรถ ประเภทนี้ที่มีการตัดเงื่อนไขของขนาดถังน้ำมันออกขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

รถยนต์ไฟฟ้าอัตราภาษีเดิม2%

4.รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ซึ่งเป็นรถที่มีการส่งเสริมตามนโยบายการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในปี 2569 ยังใช้อัตราภาษีสรรพสามิตที่ 2% จากเดิมที่ในปี 2569 จะต้องไปใช้ภาษีสรรพสามิตที่อัตรา 10% โดยส่วนนี้เป็นไปตามนโยบายการสนับสนุนรถยนต์ EV ของรัฐบาล 

5.รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เซลเชื้อเพลิง (FCEV) ในอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ใช้ในปี 2569 ปรับลดลงจากเดิม 5% ลงมาเหลือ 1%

“ในปี 2569 จะเห็นว่าอัตราภาษีที่ให้กับรถไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดถือว่าอัตราภาษียังต่ำคือไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับรถสันดาปที่อัตราภาษีไปอยู่ที่ 13% แม้ว่าจะปล่อยคาร์บอนต่ำ แต่ก็สูงกว่า ขณะที่อีวีอัตราภาษีอยู่ที่ 2% เท่านั้น" 

ดังนั้น การเก็บภาษียังเน้นการปล่อยคาร์บอนฯ สู่ชั้นบรรยากาศ คือ รถประเภทที่ปล่อยน้อยกว่าจะให้ภาษีต่ำกว่า ซึ่งโครงสร้างภาษีในอนาคตหลักการจะเน้นแบบนี้ เพื่อให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ จะเห็นการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1ม.ค.2569 ซึ่งได้แจ้งให้ค่ายรถมีการเตรียมตัวก่อน แต่บางส่วนยังมีมาตรการส่งเสริมและอุดหนุนอยู่ก่อนที่จะทยอยหมดอายุลงและเข้าสู่โครงสร้างภาษีจริงในปี 2573 ยกเว้นหากมีการขยายระยะเวลาอุดหนุนต่อไป