กรมพัฒนาธุรกิจการค้าลงพื้นที่ พบผู้ประกอบการชุมชน 3 กลุ่มธุรกิจ

กรมพัฒน์ นำคณะผู้บริหารพบปะผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ " ESG, Wellness ร้านอาหาร Thai SELECT " ในจ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา เพื่อจัดทำแผนพัฒนาผู้ประกอบการสู่ความยั่งยืน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 21-23 มี.ค.2568 กรมได้นำทีมผู้บริหารและสื่อมวลชน ลงพื้นที่ จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจ ESG ธุรกิจ Wellness และธุรกิจร้านอาหาร Thai SELECT เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจ รับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะด้านต่างๆ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ
สาเหตุที่เลือก 3 กลุ่มธุรกิจข้างต้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่ในการส่งเสริมสนับสนุนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นธุรกิจเป้าหมายที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสามารถจ้างงานคนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในธุรกิจได้ ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ อีกทั้ง เป็นธุรกิจที่ศักยภาพสูงสามารถพัฒนาให้เป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจแรกที่ตรวจเยี่ยม คือ วิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ Silk COCOON Group อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เป็นธุรกิจ ESG จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันมีนายกิติศักดิ์ ขจรภัย รองประธานวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ เป็นผู้นำ ทั้งนี้ วิสาหกิจฯ อยู่ใกล้กับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี จึงได้นำรังไหมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และกลุ่มวิสาหกิจฯ มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบนพื้นที่ 5 ไร่ ในพื้นที่ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เลี้ยงสายพันธุ์เหลืองไพโรจน์สระบุรี ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 30 วัน ต่อ 1 รุ่น
ปัจจุบัน ใช้แรงงานคนในพื้นที่ตำบลตลาดน้อย 30 คน (ผู้สูงอายุ แม่บ้าน นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการหารายได้) โดยเริ่มต้นศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี มาสอนทำพวงกุญแจรังไหม และดอกทิวลิปรังไหม
โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่นำนักออกแบบมาทำการสอนเย็บรังไหมด้วยมือ และออกแบบเป็นของใช้ ของตกแต่ง และเครื่องประดับ โดยนำรังไหมมาผ่าครึ่งขึ้นรูปเป็นโคมไฟรังไหมที่มีความสวยงาม ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ในราคาชิ้นละ 10,000 บาท และได้นำสินค้าไปทดสอบตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 ครั้ง และนำสินค้าไปจัดแสดงในงานเอเปค ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทำให้สามารถขยายสินค้าไปตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ส่วนตลาดในประเทศ ได้นำสินค้าไปจัดแสดง ณ เมืองทองธานี ภายในงานโอทอป
สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ 1. ขยายช่องทางการตลาดในประเทศ เช่น สนามบิน ร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว องค์กรที่จัดประชุม และใช้ของที่ระลึกในการแจกลูกค้า 2. ขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ที่นำสินค้าไปขายในประเทศ และต่างประเทศ 3. ช่องทางการตลาดในต่างประเทศ พาออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ หรือ เจรจาจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศ เพื่อขยายช่องทางการตลาดและจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ
นางอรมน กล่าวว่า ธุรกิจที่ 2 ธุรกิจ Wellness โดยได้พบปะพูดคุยกับ นางสาวชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย และเจ้าของ TUSCAN Senses Spa ตั้งอยู่ภายใน Toscana Valley เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา พบว่า ธุรกิจสปาแอน์เวลเนสของไทยมีการปรับตัวเป็นอย่างมากหลังสถานการณ์การเผยแพร่ระบาดของโรคโควิด-19โดยเน้นตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น และเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ตามเทรนด์การดูแลสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ ชูจดขายด้าน Healthcare & Wellness ที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
ทั้งนี้ TUSCAN Senses Spa กำลังพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นศูนย์กลาง Wellness ที่ให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม เช่น สปา อาหารออแกนิกส์ ดนตรีบำบัด ฟิตเนส โยคะ คลินิกความงามและการชะลอวัย (Anti-Aging) ที่มีการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ TUSCAN Senses Spa และบริษัทในเครือยังมีส่วนช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยการจ้างงานคนในพื้นที่ และอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลทั้ง สมุนไพร พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อองกับบริการสปาและร้านอาหาร รวมทั้งใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้บูรณาการความร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจร่วมกันที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจสปาและเวลเนสของไทยมีศักยภาพได้มาตรฐานและมีโอกาสเติบโตต่อไป เช่น ปี 2566 กรมฯ ได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาให้มีนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าจาก Smart Local ของกรมฯ และ Innovative house ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มานำเสนอผลิตภัณฑ์กับสมาชิกของสมาพันธ์สมาคมสปา 20 สมาคมทั่วประเทศ ช่วยส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน
รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์เชิญชวนสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรม DBD WELLNESS 2024-2025 นอกจากนี้ สมาพันธ์ฯ ยังได้มีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยการลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกร ผู้ปลูกสมุนไพร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้การส่งเสริมธุรกิจสปาและสุขภาพ การสนับสนุนร้านสปาเข้าประกวดต่างๆ การร่วมออกบูธในงานแสดงสินค้า
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่ 3 ธุรกิจร้านอาหาร Thai SELECT โดย ร้านอาหาร ‘เป็นลาว เขาใหญ่’ เป็นร้านอาหารอีสานชื่อดังที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของเขาใหญ่ จุดเด่นของร้าน คือ รสชาติอาหารที่จัดจ้านแบบอีสานแท้ๆ พร้อมวัตถุดิบสดใหม่ เมนูยอดนิยม ได้แก่ ส้มตำปูปลาร้า ไก่ย่างสูตรพิเศษ และลาบหมู นอกจากนี้ การตกแต่งร้านจะเป็นสไตล์บ้านไม้แบบเรียบง่าย รับกับบรรยากาศการรับประทานอาหารแบบบ้าน ๆ ได้เป็นอย่างดี
“หลังจากที่ได้รับฟัง พูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว กรมฯ จะเร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค ความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจแต่ละพื้นที่อย่างครบวงจร โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและประชากรในชุมชน ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า ‘ธุรกิจท้องถิ่น’ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในพื้นที่ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง”นางอรมน กล่าว